"ชวน" จ่อหารือ "จุรินทร์" ประเมินผลเลือกตั้งหลังแพ้ยับเยิน ยันไม่ถือเป็นบทเรียน แต่เป็นประสบการณ์ แฉที่ จ.ตรังมีการใช้เงินซื้อเสียงด้วย “สาธิต” รับสภาพ ปชป.แพ้ยับ เหตุปัจจัยภายใน-ภายนอก แนะเร่งรวมไพร่พลที่ยังไม่ตายมากอบกู้พรรค พร้อมหนุน “มาร์ค” คัมแบ็ก ลุ้น “อภิสิทธิ์-ชัยวุฒิ” หวนรั้ง หน.-เลขาฯ ฟื้นฟูพรรค เตรียมประชุม กก.บริหารพรรคหลัง กกต.รับรองผลเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีผลการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้ยับเยินว่า หากมีเวลาต้องคุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. เพื่อประเมินผลเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่ถามว่าได้บทเรียนอะไรนั้น ตนมองว่าพรรคมีประสบการณ์มา 77 ปี ไม่ใช่บทเรียน แต่คือประสบการณ์ที่ผู้บริหารพรรคชุดใหม่ต้องพิจารณาว่าที่ผ่านมามีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาต่อไป และต้องเรียนรู้ทุกครั้ง
นายชวนกล่าวว่า การเลือกตั้งรอบนี้เราก็ต้องยอมรับ และดูโดยภาพรวมแล้ว เสียงของพรรคลดลงมากว่าที่เขาคาดหมายเยอะ ตนพยายามตระเวนช่วยหาเสียงไปให้ได้ 77 จังหวัด เพื่อหวังว่าจะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้ามามาก เพราะดูจากผลสำรวจของนิด้าโพลแล้ว คาดว่าเราจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน แต่พอไปได้สักระยะหนึ่งประมาณ 40-50 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ได้ขอร้องให้ตนกลับไปช่วยในภาคใต้ ต่อมานายจุรินทร์ก็โทร.มาให้ตนลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกจังหวัดก็ขอให้ไปช่วย
"โดยนายบัญญัติได้บอกว่าสถานการณ์มันเปลี่ยน มีการใช้ระบบเงินรุนแรงมาก จึงขอให้ผมรีบกลับมา เพราะผมเป็นคนต่อต้านการซื้อเสียง คำที่ว่า 'ชาวตรังใครอย่ามุ่งหวังซื้อด้วยเงินตรา' ต้องเอามาใช้ใหม่ ในการรณรงค์การซื้อเสียง โดยนายจุรินทร์ก็คุยกับผมว่ามีระบบการยิงแล้ว แต่ก็เสียดายบัญชีรายชื่อเราได้ต่ำกว่าโพลที่คาดไว้ คือได้เพียง 3 คน"
เมื่อถามว่า ผลคะแนนของพรรคออกมาเป็นอย่างนี้ เป็นเพราะประชาชนอยากเปลี่ยนเอาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็น ส.ส.หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า คิดว่าส่วนหนึ่งเขาเบื่อของเก่าแน่นอน และอีกส่วนหนึ่งคือความรู้สึกกับรัฐบาล เวลาเราไปหาเสียงก็จะได้ยิน แต่เราไม่วิจารณ์ใครเขา เพราะปชป.ก็เป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาล แต่ถ้าพูดความจริงผลงานของนายจุรินทร์ที่ทำเรื่องการเกษตร การประกันรายได้ สามารถทำให้เกษตรกรชาวนาชาวไร่ปาล์ม ข้าวโพดมีรายได้ที่แน่นอน ชาวบ้านได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองโกงไปแบบโครงการรับจำนำ ตนคิดว่าโครงการของเราเป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้ แต่ชาวบ้านจะเห็นหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับ
เมื่อถามว่า ในการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ควรจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ นายชวนกล่าวว่า การเมืองเป็นของคนทุกรุ่น เราไม่มาเลือกว่ารุ่นเก่า รุ่นใหม่ รุ่นกลาง แต่ละรุ่นเขาก็มีศักยภาพของเขา คนรุ่นเก่าเขาก็มีอดีตที่จะช่วยพรรค คนรุ่นใหม่ก็จะมีความคิด เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ปัจจุบันก็เอามาเชื่อมต่อกัน พรรคประชาธิปัตย์จึงมีอดีต ปัจจุบัน และมีอนาคต
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุขในฐานะรักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งที่ ปชป.ได้คะแนนมาน้อยกว่าที่คิดว่า ต้องยอมรับเสียงของประชาชนที่กำหนดทิศทางประเทศ แต่ในส่วนของ ปชป. คงต้องไปนั่งพูดคุยกันว่าจะเดินหน้าทำให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นที่เชื่อใจของประชาชนได้อย่างไรต่อไป ทั้งหมดต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่าจะกำหนดทิศทาง เป้าหมาย จุดยืนทางการเมืองอย่างไร เพราะต้องมีการถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีหลายกลุ่มที่เป็นทั้งกลุ่มสวิงโหวต กลุ่มที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราต้องสื่อสารให้เข้าถึงเขา ทั้งหมดเป็นมิติการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเดินต่อไป
เมื่อถามว่า ผลการเลือกตั้งของพรรคปชป.ที่ออกมาเช่นนี้ เป็นเพราะปัญหาการจัดการภายในหรือเพราะกระแสภายนอก นายสาธิตกล่าวว่า ทั้งหมดมาจากทุกปัจจัย รวมถึงประชาชนรู้สึกว่าถูกกดมานานจนทำให้อยากเปลี่ยนแปลง และถ้าย้อนกลับไปได้ ไม่ควรให้ประชาชนรู้สึกแบบนั้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้มีความยากในการเข้าถึงกลุ่มคนที่เลือกรับข้อมูลเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เราจึงต้องนำเรื่องนี้มาคิดและปรับแนวทางการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาดูข้อมูลของเรา เป็นโจทย์สำคัญในการทำพรรคการเมืองใหม่
“เวลาแพ้สงครามก็ต้องไปรวบรวมไพร่พลที่ยังไม่ตายหรือได้รับบาดเจ็บเอาไปรักษา และต้องรวบรวมยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด แล้วมาตั้งหลัก จากนั้นค่อยๆ ฟื้นขึ้นมา การทำการเมืองนั้นมีทั้งคนอยู่ข้างหน้าและข้างหลัง โดยคนที่อยู่ข้างหลังทำหน้าที่เป็นคลังสมองที่อาจไม่ต้องมีบทบาท แต่ทั้งหมดร่วมกันทำในเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ที่จริงเราอาจทำตรงนี้อยู่แล้ว แต่ประชาชนไม่เห็น หลังจากนี้ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นสถาบันการเมืองแล้วทำประโยชน์ให้ประชาชน” นายสาธิตกล่าว
เมื่อถามว่า คนที่จะเข้ามากอบกู้พรรคปชป.ด้วยการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค จะต้องเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันภายในพรรค และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนซึ่งเคยอยู่ ปชป.แล้วย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นๆ ควรกลับมาร่วมกันทำให้ ปชป.กลับมาเป็นสถาบันทางการเมืองที่ทันสมัยและยึดหลักการอุดมการณ์
เมื่อถามว่า หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งหมดหรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า หลักการของประเทศไม่ใช่แค่ต้องมีคนรุ่นใหม่อย่างเดียว คนทุกรุ่นมีความสำคัญเหมือนกันหมด เพียงแต่เราจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่เป็นคนรุ่นเก่ามาอยู่เบื้องหลัง เป็นคลังสมอง มีประสบการณ์ ส่วนคนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดแหลมคมก็ออกมามีบทบาท แต่ถ้าปล่อยให้คนส่วนนี้ทำอย่างเดียวอาจเกิดข้อผิดพลาด ดังนั้น การทำงานต้องผสานคนทุกรุ่นแล้วนำคนเหล่านี้ไปสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่มีความชัดเจน
เมื่อถามว่า จะต้องจัดประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคเร็วแค่ไหน นายสาธิตกล่าวว่า ข้อบังคับพรรคกำหนดไว้ภายใน 60 วัน แต่ส่วนตัวอยากให้จัดเร็วที่สุด ต้องไปคุยกันในพรรคอีกครั้ง
ส่วนตัวคิดว่านายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหัวหน้าพรรค และตอนนี้ในพรรคไม่มีอำนาจเก่า มีแต่อำนาจเริ่มต้นนับหนึ่งที่ทำให้พรรคไปสู่การได้รับการยอมรับจากประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วาระการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.ของนายจุรินทร์ หมดวาระลงในวันที่ 15 พ.ค.2566 ครบ 4 ปีพอดีกับการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อรับผิดชอบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พ.ค.66 โดยตามระเบียบข้อบังคับพรรค ปชป. ต้องมีการเรียกประชุมเพื่อคัดเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่ประกาศว่าหากเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิมคือ 52 ที่นั่ง จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งเคยระบุกับสื่อขณะที่ไปร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงที่ใต้สะพานพระราม 8 ว่าหากเลิกเล่นการเมืองแล้วก็จะไปทำธุรกิจและเล่นหุ้น ทำให้ต้องหาบุคคลที่มีความพร้อมในการทำหน้าที่หัวหน้าคนใหม่และเลขาธิการพรรคคนใหม่
โดยขณะนี้ใน กก.บห.ชุดรักษาการบางส่วน และอดีต ส.ส. รวมถึงสมาชิกพรรค มีการคุยในกลุ่มไลน์และจับกลุ่มคุยกันนั้น มีชื่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคที่เว้นวรรคการเมืองไป 4 ปี ด้วยจุดยืนที่ชัดเจน และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีต ส.ส.ตาก ที่เลือกตั้งครั้งนี้ขอเว้นวรรคทางการเมืองถูกเอ่ยถึงในมวลหมู่สมาชิกพรรค ปชป. ว่ามีความเหมาะสมที่จะมาฟื้นฟูวิกฤตศรัทธาพรรคที่ตกต่ำที่สุดสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งที่พรรคได้รับเลือก ส.ส.มาแค่ 25 เก้าอี้จาก ส.ส. 2 ระบบ โดยเหมาะสมในการเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคเพื่อกอบกู้พรรค หรือรีแบรนดิ้งพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองต่อไป
ด้าน น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผอ.พรรคปชป. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการจัดประชุมใหญ่วิสามัยประจำปีเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค ปชป.ชุดใหม่ รวมถึงหัวหน้าพรรคคนใหม่และการวางตัวเลขาธิการพรรคคนใหม่ว่า จากการหารือเบื้องต้นกับผู้บริหารพรรครักษาการ ได้ข้อสรุปแล้วว่าพรรคจะรอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. )ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยจัดประชุมวิสามัญประจำปีเพื่อคัดเลือกคณะ กก.บห.พรรคชุดใหม่
"โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคคลมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ตามระเบียบข้อบังคับพรรค ระบุให้ต้องมีการแข่งขันเบื้องต้นโดยการทำไพรมารีโหวตก่อนเป็นขั้นตอนแรก ครั้งที่แล้วตอนที่เลือกนายจุรินทร์มาเป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากเวลากระชั้นชิด กก.บห.ขณะนั้นได้มีมติให้ยกเว้นเว้นข้อบังคับบางข้อคือไม่ต้องทำไพรมารีโหวต แต่กำหนดให้ต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็นหัวหน้าพรรคแทน เพื่อความรวดเร็วขึ้น เพราะต้องรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งด้วย ครั้งนี้ก็เช่นกัน ต้องมีการหารืออีกครั้งว่าจะยกเว้นการทำไพรมารีโหวตในชั้นแรกหรือไม่ เฉพาะในกรณีการเลือกหาผู้ที่มาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่" ผอ.พรรค ปชป. กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
'เจ๊มนพร' ยันไม่มีใครอยากให้ยุบสภา
'มนพร' ยัน รัฐบาล - สส. ไม่มีใครอยากยุบสภา ย้ำนายกฯ ไม่ทิ้งสภา พร้อมแจงกระทู้