ส.อ.ท.หวังเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและมีเสถียรภาพ หวั่นช้าฉุดเชื่อมั่นนักลงทุน แนะทีม ศก.ต้องเป็นทีมผสมผสานคนรุ่นใหม่ ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ ทำงานไปทิศทางเดียวกันรับมือภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน จับตานโยบายลดค่าไฟ-เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ “สภาพัฒน์” แนะเร่งแก้ปัญหาการส่งออกและปากท้อง ย้ำต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง ขณะที่นักลงทุนกดปุ่มเทขายกดดันหุ้นไทยร่วง 24 จุด รอดูความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อวันจันทร์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของการเมืองไทยที่พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง ประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้นและต้องการการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงสูงสุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะรวมกับพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด และที่สำคัญต้องมีเสถียรภาพ เพราะหากรัฐบาลไม่มั่นคงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศได้
“รัฐบาลต้องเร่งตั้งให้เร็วที่สุด ยิ่งช้าก็ยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่น และคะแนนเสียงของรัฐบาลต้องมีมากพอเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองง่าย และเราเองก็ไม่อยากเห็นการประท้วงบนถนน หากมีปัญหาจะกระทบการท่องเที่ยวที่จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจในปีนี้อีก" นายเกรียงไกรกล่าว
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า นอกจากนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ควรจะต้องเป็นทีมที่มีประสบการณ์การ แม้ว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลอาจจะไม่มี แต่ก็ต้องดึงคนรุ่นใหม่ๆ มาร่วมคิด และทำงานเป็นทีมไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) และหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ เพราะท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) กับรัสเซียและจีน ไทยต้องอยู่ท่ามกลางมหาอำนาจที่เป็นคู่ค้าหลักอันดับ 1 และ 2 ทั้งคู่ให้ได้ ดังนั้นการเดินเกมระหว่างประเทศจึงต้องเป็นไปด้วยความชาญฉลาด ซึ่ง ส.อ.ท.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกรัฐบาล
"สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ การแก้ไขปัญหาปากท้องชาวบ้านที่ขณะนี้หนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาก ท่ามกลางราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แพง ซึ่งหากมองเบื้องต้นนโยบายที่หาเสียงไว้ของก้าวไกล และเพื่อไทยที่เหมือนกันคือ การดูแลราคาพลังงาน โดยเฉพาะมีเป้าหมายที่จะลดค่าไฟลง จึงเป็นสิ่งที่จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร"
นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้ง 2 พรรคก็มีแนวทางเช่นกัน โดยเพื่อไทยจะขึ้นเป็นอีก 600 บาทต่อวันในปี 2570 ขณะที่ก้าวไกลนั้นขึ้นทันที 450 บาทต่อวันและปรับทุกปี ซึ่งนับเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดและก้าวข้ามการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ดังนั้นคงจะต้องติดตามว่า จะมีมาตรการอะไรมาเยียวยาผลกระทบกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือไม่
“คิดว่าการหาเสียงแบบประชานิยมแจกเงินแบบเก่า ประชาชนมีบทเรียนแล้วว่าทำไม่ได้จริงและไม่มีแหล่งที่มาของเงิน ดังนั้นจากนี้นโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ของพรรคที่เป็นรัฐบาลจะถูกประชาชนติดตามใกล้ชิด ซึ่งต้องทำได้จริงๆ และที่มาของเงินต้องชัดเจนด้วย" นายเกรียงไกร กล่าว
ด้านนายสาครินทร์ ตังคะวชิรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจไฟฟ้า บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ต้องโฟกัสว่าจะทำอย่างไร ให้ค่าไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและอุตสาหกรรมไม่สูงจนเกินไป และให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด โดยการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ภาคการผลิต การลงทุน และประชาชนเดือดร้อน
นายสาครินทร์กล่าวว่า ขอเรียกการตรึงค่าไฟฟ้าว่า "การบริหาร" โดยการพยุงราคาไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่หากตรึงมากจนไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของทั้งรัฐและเอกชน สุดท้ายปัญหาก็จะย้อนกลับมา ชี้ให้เห็นว่าไทยยังคงต้องใช้ค่าเอฟทีเป็นกลไกบริหารจัดการค่าไฟ แต่รัฐบาลต้องดูว่าจะบริหารอย่างไรไม่ให้เดือดร้อน สิ่งที่รัฐบาลจะหนีไม่พ้นคือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ภาคดำเนินธุรกิจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหันไปเน้นพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่มีเสถียร 100% ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
“นโยบายพรรคก้าวไกลที่ระบุว่าจะมีการแก้ไขสัญญากลุ่มโรงไฟฟ้านั้นไม่ผิดอะไร แต่สุดท้ายมองว่าจะมีทั้งสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ ต้องดูรายละเอียดอีกมาก เพราะบางเรื่องที่ลงทุนไปแล้วหากฉีกสัญญาคงยาก อาจทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน” นายสาครินทร์กล่าว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า ขึ้นกับนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาล ปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไขมี 2 เรื่อง คือ 1. ต้องเร่งการส่งออกสินค้า และ 2.ปัญหาปากท้องของประชาชน ราคาพลังงาน ไฟฟ้า ก๊าซ การดูแลราคาพลังงานจะมีมาตรการอย่างไร ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจภายในประเทศไม่มีปัญหา ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับรัฐบาลใหม่ถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังที่เคร่งครัด เพราะเราขาดดุลงบประมาณมานาน หากยังขาดดุลต่อเนื่องในระยะเวลายาวนานจะกระทบกับเรตติงของประเทศได้
“ต้องหาทางฟื้นฟูการส่งออกในปี 2566 คาดว่าหดตัว -1.6% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว นับเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการหาตลาดใหม่ทดแทน การรักษาบรรยากาศการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแนวทางส่งเสริมการลงทุน การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หากรัฐบาลใหม่กำหนดชัดเจน จะช่วยดึงดูดการลงทุนไม่ให้เบนเข็มหนีไปลงทุนประเทศอื่นแทน” นายดนุชากล่าว
นายดนุชากล่าวต่อว่า หลังจากการเลือกตั้งนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย รวมทั้งเร่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งรักษาบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ส่วนการจัดขั้วรัฐบาลนั้นต้องให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่นไม่เกิดปัญหา เพราะมีนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่รอคอยความชัดเจนอยู่
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 15 พ.ค.66 เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน จากแรงขายหุ้นใหญ่ รวมถึงรอดูความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ โดยระหว่างวันลดลงต่ำสุดที่ 1,561.35 จุด ลดลง 24.53 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.57% และดัชนีของวันปิดที่ 1,541.38 จุด ลดลง 19.97 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.28% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 68,382.81 ล้านบาท
สำหรับหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ราคาปิดที่ 48.00 บาท ลดลง 4.50 บาท หรือ 8.57% มูลค่าซื้อขาย 3,642 ล้านบาท บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ราคาปิดที่ 64.75 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือ 2.43% มูลค่าซื้อขาย 2,952 ล้านบาท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) ราคาปิดที่ 211.00 บาท ลดลง 10.00 บาท หรือ 4.52% มูลค่าซื้อขาย 2,880 ล้านบาท และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ราคาปิดที่ 73.25 บาท ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มูลค่าซื้อขาย 2,762 ล้านบาท ขณะที่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) ราคาปิดที่ 1.75 บาท ลดลง 0.14 บาท หรือ 7.41% มูลค่าซื้อขาย 976 ล้านบาท
รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า หลังจากการเลือกตั้งคาดว่านโยบายใหม่จะมีผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมทั้งธุรกิจพลังงาน โดยคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเริ่มการแจกเงินตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก หลังจากนั้นคาดว่าจะลดค่าครองชีพ โดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งอาจจะกระทบบรรยากาศการลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน แต่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานจำกัด และในลำดับต่อไปจะดำเนินการเพื่อลดอำนาจการผูกขาดในบางธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไรและเมื่อใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์