กกต.ประกาศผลใน60วันตามกม.

ประธาน กกต.ปลื้มคนใช้สิทธิเลือกตั้ง 75.22% ยอมรับรายงานผลเลือกตั้งล่าช้า ยันประกาศผลรับรองได้ใน 60 วันตามกรอบกฎหมาย ปัดตอบปมคุณสมบัติ “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ชี้เข้ากระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอน ขณะที่ ผบ.ตร.เผยสั่งจับตากลุ่มมือปืนรับจ้าง คาดบางพื้นที่มีการชำระแค้นหัวคะแนนเพราะผลเลือกตั้งไม่เข้าเป้า

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.แถลงข่าวสรุปภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ พร้อมขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ร่วมออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566

นายอิทธิพรกล่าวว่า ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 52,238,594 คน คิดเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ 75.22% ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ กกต.เคยจัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง โดยในปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 74.87% ทั้งนี้ การที่มีผู้มาใช้สิทธิ์สูงถือเป็นตัวเลขที่น่ายินดี สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น

ประธาน กกต.กล่าวว่า ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปี 2562 มีหลายประเด็น ซึ่งได้รับการแก้ไขและไม่เกิดขึ้นอีก ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ แต่การรายงานผลล่าช้าไปมากจากที่ประเมินไว้ว่าจะจบที่ 22.00-23.00 น. เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้เกิดความถูกต้อง เพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลที่แชร์สู่สาธารณะถูกต้องที่สุด ตนขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ร่วมกันจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

นายอิทธิพรเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมในมุมมองของ กกต.ว่า เป็นไปโดยเรียบร้อย แต่จังหวัดนครปฐมที่ต้องปิดประกาศงดการลงคะแนน 1 หน่วย คือหน่วยที่ 10 หมู่ที่ 8 ตำบลบางแขม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เพราะถูกพายุฝนทำให้เต็นท์ล้มเสียหายไม่สามารถดำเนินการลงคะแนนเลือกตั้งได้ ส่วนรายงานการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอื่นๆ พบว่ามีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุราในช่วงที่กฎหมายห้าม 7 ราย ถ่ายรูปบัตรที่เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย ในส่วนของคำร้องเรียนจนถึงเวลา 09.00 น. วันที่ 15 พ.ค. มีทั้งสิ้น 168 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ 18 เรื่อง และเรื่องอื่นๆ เช่น การฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในหลายๆ มาตรา

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2562 คำร้องเรียนมีทั้งหมด 592 เรื่อง ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งพยายามปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงหวังว่าตัวเลขการร้องเรียนจะไม่สูงขึ้นกว่าปี 2562 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งเหตุผลได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 พ.ค.ที่ สถานีอำเภอหรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote 

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงกระบวนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งว่า ตามกฎหมายกำหนดให้ กกต.ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 5 วันนี้จะมีการตรวจสอบความถูกต้อง และจากนั้นจะตรวจสอบว่าผู้ได้รับการเลือกตั้ง มีข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา โดยทั้งหมดต้องใช้เวลาภายในกรอบ 60 วัน ซึ่งการพิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดงนั้นกฎหมายกำหนดว่า ก่อนการประกาศผล กกต. มีอำนาจให้เฉพาะใบส้มหรือระงับสิทธิสมัครชั่วคราว แต่ถ้าหลังการประกาศผลแล้ว การให้ใบแดงคือการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง หรือใบดำคือการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่า กกต.เห็นว่าผู้กระทำผิดนั้นต้องรับโทษอะไรบ้าง แต่ทั้งหมดจะต้องเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณา   

เมื่อถามถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีถูกร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อ จะมีผลต่อการพิจารณาประกอบการรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ หรือต้องใช้ระยะเวลาในการประกาศรับรองผลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนายพิธาเป็นหัวหน้าพรรค มีการเซ็นรับรองให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งด้วย ประธาน กกต.ตอบว่า เมื่อเป็นคำร้องที่ยื่นเข้ามาแล้วก็เสมอหนึ่งว่ากำลังจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา เหมือนกับกระบวนการศาล การจะพูดว่ามีผลหรือไม่มีผลอาจจะไม่เหมาะสมสำหรับคนที่จะเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นที่แน่ๆ ตอนนี้มีคำร้องแล้ว ก็จะต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ หากเป็นไปตามระเบียบกรรมการจะรับคำร้อง และสืบสวนไต่สวนให้ผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งมีขั้นตอนตามลำดับ เมื่อคณะกรรมการสอบสวนดำเนินการแล้วเสร็จ เลขาธิการ กกต.ให้ความเห็น คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนก็จะกลั่นกรองก่อนว่า คำร้องนั้นมีการปฏิบัติตามขั้นตอนหรือไม่ก่อนจะเสนอ กกต. ซึ่งทุกคำร้องก็ปฏิบัติเช่นนี้ ดังนั้นต้องใช้เวลา และถ้าถึงเวลาก็จะประกาศให้ทราบว่าเป็นอย่างไร

ส่วนที่มีการร้องเรียนว่า เขตบางพลัดไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งดูการนับคะแนน แล้วมีการนับคะแนนในห้องลับตา นายอิทธิพรกล่าวว่า ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่เรื่องการนับคะแนน แต่เป็นการนำวัสดุอุปกรณ์มาส่งที่เขตตามขั้นตอนปกติ แต่มีประชาชนจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงต้องจัดระเบียบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และยืนยันว่าไม่ได้มีการนับคะแนนที่เขตบางพลัด เนื่องจากเขตบางพลัดไม่ใช่เขตหลักของการเลือกตั้งที่ 33 จึงต้องนำไปนับที่ศูนย์รวมการนับคะแนนที่เขตบางกอกน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจในเบื้องต้นแล้วว่า เป็นกระบวนการปฏิบัติที่ทำเช่นนี้ทุกหน่วยการเลือกตั้ง 

ด้านนายแสวงกล่าวถึงกรณีการประท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ที่เขตลาดกระบัง เนื่องจากผู้สมัครได้คะแนนใกล้เคียงกันนั้น เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า น่าจะมีลักษณะเช่นนี้อีกจำนวนมาก แต่การจะคัดค้านว่าการนับคะแนนไม่ชอบนั้น ต้องทักท้วงระหว่างที่กรรมการนับคะแนน อ่าน ขาน ขีด ไม่ใช่เห็นว่าเกิน เพราะการเกิน 1 คะแนนไม่ได้มีผลต่อความถูกต้องให้ต้องนับคะแนนใหม่ แต่ต้องมีการคัดค้าน และนำเรื่องมาร้องภายหลังการเลือกตั้ง จึงไม่อยากให้ไปมองแค่ว่าคะแนนมากน้อยเท่าไหร่

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า พอใจภาพรวมการดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่าวันเลือกตั้งไม่ได้รับแจ้งเหตุว่ามีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพิ่มเติม โดยได้รับแจ้งเหตุจาก กกต.ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. คือ 8 เหตุเท่าเดิม ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว 4 เหตุ และอยู่ระหว่างการสืบสวน 4 เหตุ 

เขากล่าวว่า มีการเฝ้าระวังและจับตากลุ่มมือปืนรับจ้างที่อาจจะก่อเหตุหลังเลือกตั้ง โดยมีการประชุมชี้แจงและกำชับไปยังทุกพื้นที่ตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่าอย่าละเลย เพราะบางพื้นที่ผลการเลือกตั้งไม่เข้าเป้า ก็จะเกิดความโกรธแค้นกันระหว่างหัวคะแนนด้วยกัน ตำรวจก็จะเฝ้าระวังป้องปรามไว้

 “กรณีที่พรรคการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ และอาจจะเกิดการเปลี่ยนในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ตรงนี้จะต้องรอดูความชัดเจนและปรับตัวตามสถานการณ์ต่อไป" ผบ.ตร.กล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ