วิษณุชี้รัฐบาลใหม่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลง คาดเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังห่วงเรื่องความไม่สงบ ยกตัวอย่างยุคยิ่งลักษณ์ชนะถล่มทลายแต่ก็บริหารประเทศไม่รอด ภาคเอกชนจี้ทุกฝ่ายยอมรับผลเลือกตั้ง หวังเข้ามาช่วยปัญหาปากท้อง-ค่าไฟ นักวิชาการสะกิดให้รีบฟอร์มรัฐบาล 1 เดือน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ถึงผลการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็เปลี่ยนประเทศทั้งนั้น เพราะต้องเปลี่ยนรัฐบาล แม้เป็นรัฐบาลเดิมก็ต้องเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนทีม เปลี่ยนวิธีทำงาน ต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ไม่เช่นนั้นเราไม่เรียกว่าปฏิรูปหรอก เพราะฉะนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นใครหรือแบบไหนก็ตาม เพราะไม่มีใครเอาของเดิมมาทำซ้ำอีก
เมื่อถามว่า ที่ว่าประเทศจะเปลี่ยนแปลง คือเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มี 2 อย่าง คือเศรษฐกิจคงมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่คงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่ยังเป็นห่วงว่าจะเกิดกรณีความไม่สงบเรียบร้อย มีการต่อต้าน การค้าน มีการแบ่งกลุ่มเป็นฝักฝ่าย ถ้ายังอยู่จะฉุดนโยบายและวิธีการในการแก้ปัญหา ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ซึ่งรัฐบาลที่เข้ามาต้องเตรียมรับมือตรงนี้ด้วย เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่เสมอ อย่าลืมว่าสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้ามา เราก็รู้ว่าเข้ามาด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น และคิดว่าจะนำพาประเทศไปได้ แต่แล้วก็ไม่สามารถนําพาไปได้ เพราะว่ามีปัจจัยเรื่องการประท้วง คัดค้าน ต่อต้าน ซึ่งการต่อต้านคัดค้านจะทําให้ฉุดทุกสิ่งทุกอย่างไปได้
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หวังว่าทุกภาคส่วนจะยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลยังเป็นรัฐบาลผสม แต่ควรเร่งจัดตั้งให้แล้วเสร็จตามระยะเวลา เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะยิ่งส่งผลกระทบต่อทั้งความเชื่อมั่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาปัญหาปากท้องของประชาชน และการเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่อยากให้เร่งดำเนินการ นอกจากนี้ อยากให้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า นโยบายแรกที่ประชาชนและนักธุรกิจอยากเห็นการแก้ปัญหาคือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ การแก้ปัญหาส่งออก อิทธิพลและบทบาทของจีนต่างชาติที่กำลังเข้าแย่งพื้นที่ขายในไทย ไม่ว่าจะทุนจีน ทุนตะวันตก หรือการเข้ามาของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิก ที่จะมีผลต่อห่วงโซ่ซัพพลายเชน รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ ต้องเพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนและธุรกิจได้รับรู้ว่ารัฐบาลจะรับมือและทำอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลใหม่เข้าใจ แก้ไขอย่างไรเพื่อให้ไทยหลุดพ้นรั้งท้ายประเทศในอาเซียน
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า พรรคเสียงข้างมากต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือนหลังวันเลือกตั้ง หากปล่อยให้ล่าช้าอาจเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนอันนำมาสู่การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และอาจนำมาสู่โอกาสของการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยอาศัยเสียง ส.ว. การอาศัยการตัดสิทธิ หรืออาศัยการยุบพรรคการเมืองเพื่อดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบเพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเพื่อความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบริหารประเทศ
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี และผู้จัดการทีมชาติไทย ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ หลังเดินทางไปลงคะแนนเลือกตั้งว่า ขอให้สนับสนุนงานด้านกีฬา เชื่อเป็นการเชื่อมโยงความสามัคคี การเห็นต่างทางการเมืองได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้สนับสนุนงานด้านกีฬา เพราะจะเป็นการเชื่อมโยงความสามัคคี ความเห็นต่างทางการเมือง รวมถึงนำมาสู่มิตรภาพต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ
วันเดียวกัน คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลการวิจัยเชิงสำรวจด้วยการเก็บแบบสอบถามออนไลน์ครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร จากกลุ่มตัวอย่างคนวัยทำงานรุ่นใหม่ และผู้บริหารตอนต้น ที่ทำงานในเขต กทม. 404 ตัวอย่าง อายุระหว่าง 21-35 ปี ถึง 5 อันดับความฝันที่คนรุ่นใหม่ฝากไว้ให้กับรัฐบาลชุดใหม่มากที่สุด ได้แก่ 28.75% เร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น, 21.67% เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย, 20.83% ขอให้ได้นายกฯ ที่ดี ทำงานเพื่อประเทศอย่างแท้จริง, 15% เพิ่มรายได้ ขึ้นค่าแรง ลดค่าครองชีพ และ 13.75% ขอให้มีโครงสร้างการเมืองที่ดี ไม่คอร์รัปชัน
และเมื่อถามถึง 8 สิ่งที่อยากให้ทำอย่างเป็นรูปธรรมเร่งด่วนที่สุด ได้แก่ 27.08% สร้างระบบการขนส่งสาธารณะดี รถไม่ติด, 18.75% เพิ่มสวัสดิการต่างๆ, 12.50% ค่าไฟถูกลง, 10.42% สาธารณสุขดีขึ้น, 8.33% ปรับปรุงระบบการศึกษา และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิต, 6.25% แก้ไขปัญหาน้ำท่วม และ 4.17% ทำให้น้ำมันราคาถูกลง/แก้เรื่องฝุ่น PM 2.5.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน