วันนี้ไปเลือกตั้ง! กกต.ยันพร้อม100%เตือนเข้าคูหาอย่าทำผิดเข้าห้องขังแทน

กรุงเทพฯ ๐ กกต.เตือน เลือกตั้งห้ามใส่เสื้อที่มีหมายเลขสอดคล้องกับหมายเลขของผู้สมัคร เพราะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง รัฐบาลเชิญชวนไปใช้สิทธิตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. จัดเลี้ยงสุราทุกชนิดระวังคุก 6 เดือน ขณะที่ ผบ.ตร.และ ผอ.ศลต.ตร.กำชับตำรวจทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง  แจ้งได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 หรือสายด่วน กกต. 1444 ย้่ำซื้อ-ขายเสียงคุก 10 ปี

     เมื่อวันที่​ 13 พฤษภาคม 2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การส่งมอบและตรวจรับวัสดุอุปกรณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสระแก้ว เพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 14 พ.ค. โดยมีนายภูมิวัชร์ อุดมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว, นายเอกภพ โสภณ นายอำเภอเมืองสระแก้ว, นายสมใจ พุทธเสนา นายอำเภอเขาฉกรรจ์ พร้อมด้วยนายปิติฉัตร  ธนนวนนท์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสระแก้ว หัวหน้าส่วนงานราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตการณ์ที่หอประชุมที่ว่าการอําเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว

     นายอิทธิพรกล่าวว่า ตั้งใจมาดูความพร้อมการเตรียมงานของ กปน. ซึ่งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จะมีการแจกอุปกรณ์และบัตรเลือกตั้ง สิ่งที่เห็นคือ กปน.มีความพร้อม และหลายคนก็เคยเป็น กปน.ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ยอมรับว่า กปน.ทำหน้าที่ไม่ครบขั้นตอนจึงได้กำชับ 

     นายอิทธิพรยังกล่าวถึงคลิปการจับกุมบุคคลพร้อมเงินซื้อเสียงที่จังหวัดบึงกาฬว่า พยานหลักฐานเบื้องต้นมีครบ   ทางตำรวจดำเนินการแล้ว ส่วนกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับเรื่องเพราะเป็นความปรากฏ จึงไม่ต้องมีผู้มาร้อง ถือว่าเข้าสู่กระบวนการของ กกต.แล้ว แต่จะถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ ต้องดูก่อนว่าเป็นความผิดส่วนบุคคลหรือเกี่ยวข้องกับพรรคหรือไม่ ถ้าเป็นที่ตัวผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำผิด ก็ต้องพิจารณาลงโทษเฉพาะตัวก่อน เรื่องการยุบพรรคไม่ใช่เรื่องง่าย

     วันเดียวกันนี้ ผู้แทนองค์การจัดการเลือกตั้งต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และองค์การระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง การตรวจรับวัสดุอุปกรณ์สำหรับเลือกตั้ง ของเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 54 หน่วย จากนั้นเวลา 09.30 น. ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การรับวัสดุอุปกรณ์ ณ อาคารสำนักงานเขตยานนาวา เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

     นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง  ในฐานะที่กำกับดูแลการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจกับชาวกรุงเทพฯ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ามีข้อผิดพลาดน้อยมาก ซองที่เป็นประเด็นนั้นพบ 1-2 แห่ง แต่ก็มีการตรวจสอบแก้ไขก่อนส่งให้ไปรษณีย์เรียบร้อย ส่วนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้    ก็มั่นใจว่าทั้ง 33 เขตเลือกตั้งนั้นมีความพร้อม 100% เลยก็ว่าได้ โดยทุกเขตเลือกตั้งในวันนี้จะมีการตรวจรับอุปกรณ์การเลือกตั้ง ตรวจหีบ ตรวจแบบพิมพ์บัตรต่างๆ อุปกรณ์ทุกชนิดที่ต้องใช้ในวันที่ 14 พ.ค. โดยหลังตรวจรับเสร็จก็จะถูกนำไปเก็บยังที่ปลอดภัย ก่อนที่เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งจะมาเบิกในตอนเช้าของวันที่ 14 พ.ค.

ต้องพร้อม 100% 

     นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ประสานงานฮอตไลน์ในแต่ละกลุ่มเขต เพื่อคอยให้คำแนะนำ แก้ไขปัญหาที่อาจจะเจอได้  ซึ่งได้เน้นย้ำว่าต้องพร้อม 100% 

     “เราได้เน้นย้ำกับกรรมการที่มาตรวจรับอุปกรณ์วันนี้ว่าให้ตรวจทานให้ละเอียด เช่น นับจำนวนบัตรเลือกตั้ง   บางเล่มที่จำนวนไม่ครบหรือเกิน ต้องนับให้ครบ โดยให้ใช้เล่มที่สมบูรณ์ก่อน   รวมถึงตรวจรายละเอียดภายในบัตร   ตรวจปากกาที่เตรียมไว้สำหรับให้ประชาชนลงคะแนน โดยเฉพาะที่มีข้อครหาว่าปากกาที่ใช้เขียน ผ่านไปไม่นานหมึกก็จะจาง หรือปากกาล่องหนนั้น    ขอยืนยันว่าไม่มีปากกาล่องหนแน่นอน   และขอย้ำเตือนประชาชนที่มาใช้สิทธิในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ให้ตรวจสอบข้อมูลหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ล่วงหน้า และที่สำคัญอย่าเผลอถ่ายบัตรหรือโชว์บัตรที่ลงคะแนนแล้ว” นายสำราญกล่าว 

     นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.  ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง รวมถึงเสื้อที่ระบุเบอร์หนึ่งเบอร์ใด เพราะเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนได้ ส่วนกรณีมีรอยสักเป็นโลโก้พรรค หรือสวมเสื้อพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้ว ก็ต้องดูพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิ เพราะกฎหมายห้ามหาเสียงในวันเลือกตั้ง อีกทั้งเมื่อลงคะแนนเลือกตั้งแล้วก็ไม่ควรบอกให้ผู้อื่นรับรู้ รวมทั้งก็ควรหลีกเลี่ยงการโพสต์ลงโซเชียล เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงและลับ

     นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ร่วมกันขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง พิจารณาเลือกคนดีที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นผู้แทนของประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร และบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า เกิดการพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน

     นายอนุชาย้ำถึงการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ขอให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ศึกษาข้อมูลรายละเอียดรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.ประจำปี 2566 ให้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อนออกไปใช้สิทธิเข้าคูหาลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อให้การใช้สิทธิเลือกตั้งถูกต้องตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของ กกต. ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจนทำให้ผิดกฎหมาย หรือบัตรเสีย และทำให้ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองที่ประชาชนตั้งใจมาใช้สิทธิลงคะแนนให้เข้าไปเป็นผู้แทนฯ  ของตนเองในสภาต้องเสียคะแนนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งห้ามขาย  จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.2566 ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค.2566 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 147 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ดูให้ดีๆ เลือกตั้งบัตร 2 ใบ

     สำหรับการเลือกตั้ง มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ 1) สำหรับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) เลือกคนที่รัก และ 2) ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) เลือกพรรคที่ชอบ ทั้งนี้ การทำเครื่องหมายกากบาท (x) ลงบนบัตรเลือกตั้ง ข้อพิจารณาว่าแบบไหนที่เป็นบัตรดีและแบบไหนเป็นบัตรเสีย คือ เครื่องหมายกากบาท (x) ที่ทำให้เป็น “บัตรดี” ต้องดูออกว่าเป็นเครื่องหมายกากบาท (x) และกาเครื่องหมายเดียวในบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ห้ามใส่ข้อความหรือเครื่องหมายแบบอื่น หากทำเครื่องหมายที่ทำให้เป็นบัตรเสีย หรือเขียนข้อความใดๆ ลงไปในบัตรเลือกตั้ง ถือว่าเป็นบัตรเสีย ดังนั้น อย่าลืมศึกษารายละเอียดก่อนออกไปใช้สิทธิเพื่อให้การลงคะแนนเลือก ส.ส.ที่รัก และเลือกพรรคที่ชอบ ตรงตามที่ตนเองตั้งใจไว้

     “รัฐบาลมีความห่วงใยการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจต่อประชาชนในด้านการเดินทาง พร้อมขอให้ประชาชนเดินทางด้วยความระมัดระวัง มีสติ อย่าประมาท โดยเฉพาะผู้ขับขี่ยานพาหนะ ให้งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหมั่นล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19” นายอนุชากล่าว

     ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลและติดตามรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th หรือ Add Friends เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ LINE Official Account : ECT Thailand และแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือหากมีข้อสงสัย ก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1444 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

     ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.)  เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน สั่งการให้ ศลต.ตร.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง  มีความเข้าใจในกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และเพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ซื้อ-ขายเสียงคุก 10 ปี

     โฆษก ศลต.ตร.กล่าวว่า ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการกระทำที่ต้องงดเว้น ห้ามกระทำ ตามกฎหมายเลือกตั้ง “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561” ที่ประชาชนพึงหลีกเลี่ยง ซึ่งมักพบการกระทำความผิด ดังนี้

     1.การซื้อสิทธิขายเสียง การกระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือ “การซื้อขายเสียง” เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อเสียงมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ส่วนผู้ขายเสียง เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000- 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

     2.การพนันขันต่อผลการเลือกตั้ง โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี ปรับ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

     3.การจัดยานพาหนะขนคนไปเลือกตั้ง หากทำเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

     4.การกระทำใด เป็นการขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ มีความผิด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปี

     5.การรื้อ ย้าย ปลด ทำลาย หรือเก็บป้ายหาเสียง ต้องทำโดยเจ้าของ หรือผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น ผู้อื่นจะกระทำไม่ได้ ฝ่าฝืนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

     ขณะที่ ศลต.ตร.เน้นย้ำสิ่งที่ห้ามทำ หลังเวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง

     1.ห้ามจำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราในเขตเลือกตั้ง ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สิ่งห้ามทำเมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง

     2.ห้ามมิให้มีการโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส.ทุกรูปแบบ รวมถึงให้งดเว้นการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์โลโก้พรรคการเมือง หมายเลขพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร (โดยเฉพาะเมื่อเข้าคูหา หรือบริเวณใกล้เคียงหน่วยเลือกตั้ง) และให้งดเว้นการโพสต์ข้อความ อัปโหลดภาพ หรือคลิปที่มีเนื้อหาลักษณะหาเสียงเลือกตั้ง ลงบนโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     ขณะเดียวกัน ข้อกฎหมายที่เน้นย้ำ ห้ามทำเมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง

     1.นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

     2.ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองลงคะแนนแล้ว ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     3.จงใจทำบัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือจงใจทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

     4.นําบัตรที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้เลือกหรือไม่เลือกผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

     5.สวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่มีโลโก้ สัญลักษณ์ หมายเลขของพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

     พล.ต.ท.นิธิธรกล่าวย้ำว่า โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง ผบ.ตร.ได้กำชับตำรวจทั่วประเทศ ให้มีมาตรการสืบสวนหาข่าว ป้องกัน ปราบปรามห้ามมิให้มีการ ซื้อเสียง-ขายเสียงเด็ดขาด ซึ่งทั้งผู้ซื้อเสียงและขายเสียง มีโทษทางอาญาทั้งจำคุก ปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 20 ปี โดยเฉพาะในคืนวันนี้ หรือที่เรียกว่าคืนหมาหอน ตำรวจเพิ่มความเข้มการสืบสวน ป้องกัน จับกุม และตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถจับกุมจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดฐานซื้อเสียงได้แล้ว 3 ราย ที่ จ.บึงกาฬ จับกุมได้พร้อมของกลางโพยรายชื่อและเงินสด อีกราย จ.พระนครศรีอยุธยา จับได้พร้อมของกลางเงินสด และอีกรายที่ จ.พิจิตร จับกุมได้พร้อมของกลางเงินสดเช่นกัน อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

30วันเลือกนายกปทุม

"พิเชษฐ์" แจ้งสภา 143 สส.สังกัดพรรคประชาชนแล้ว ด้าน "ณัฐวุฒิ" เผยใช้อักษรย่อ "ปชน."

เคาะ‘กริพเพน’ แทนขับไล่F16 ออปชันจัดเต็ม

ทอ.เคาะเลือก "JAS 39 Gripen   E/F"  บินขับไล่โจมตีฝูงใหม่ หลัง “สวีเดน” จัดเต็มทั้งให้ลิขสิทธิ์ลิงก์-จรวดนำวิถีตัวเก่ง-offset policy ถึงแม้สหรัฐเสนอ Link 16 ฟรีให้ไทย