เชือด‘พิธา’หลังเลือกตั้ง ขู่ปลุกม็อบเหนือจรดใต้

"เรืองไกร" บุก กกต.ยื่นเอกสารเชือด "พิธา" เพิ่มเติม "ศรีสุวรรณ" จ่อจัดอีกดอก "พิธาคิโอ" พูดไม่จริงเรื่องผู้จัดการมรดก "ปิยบุตร" ฮึ่ม! นิติสงคราม ขู่ปลุกม็อบเหนือจรดใต้ ขอ 10 ล้านเสียงมาปิดปาก 2 นักร้อง ขณะที่ กกต.ไม่เร่งวินิจฉัย ส่อไม่ทันก่อนเลือกตั้ง

เมื่อวันที่​ 11 พฤษภาคม 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ   เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. ในกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล

โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า ได้นำข้อบังคับของพรรคก้าวไกลมายื่นเพิ่มเติม และจับประเด็นว่านายพิธาจะพ้นจากสมาชิกและหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการแก้ไขลงในราชกิจจานุเบกษา ปี 2563 ซึ่งข้อบังคับพรรคในข้อ 12, 21, 37 ซึ่งในข้อ 12 ระบุว่าสมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ดังนั้นเมื่อระบุเช่นนี้ มาตรา 98 (3) ก็จะทำให้พ้นสมาชิกหรือไม่ และกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหัวหน้าพรรค ก็จะต้องขาดจากความเป็นหัวหน้าพรรคโดยสิ้นสุดเฉพาะตัว รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลข้อที่ 36

นายเรืองไกรเผยว่า ได้ตั้งข้อสังเกตให้ กกต.ตรวจสอบในกรณีที่ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายว่าจะมีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. รวมถึงเป็นสมาชิกพรรคและหัวหน้าพรรคไม่ได้  ซึ่งผลที่ตามมาในการสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3-7 เม.ย.ที่ผ่านมา นายพิธาได้เซ็นรับรองการสมัคร ส.ส.เกือบ 400 เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นจึงขอให้ กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ขอให้กกต.ดำเนินกฎหมายต่อไป

เมื่อถามว่า ถ้านายพิธามีความผิดจริง และได้ไปเซ็นรับรองการสมัคร ส.ส. ของพรรค ถ้าเป็นเช่นนี้ การสมัครนั้นจะเป็นโมฆะใช่หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ก็ให้ กกต.ตรวจสอบว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องถอดสมการว่าการเป็นหัวหน้าพรรคพ้นไปหรือยัง เพราะในข้อบังคับเป็นหน้าที่ของนายทะเบียน แล้วนายพิธาก็ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าเรื่องนี้รู้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้พรรคเคยมาปรึกษาตน แต่ไม่ได้ยกประเด็นนี้มาปรึกษา แต่ถึงอย่างไรตนก็ได้ให้ความรู้เรื่องกฎหมายไป ตนไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์ว่า การถือหุ้นของนายพิธาจะไม่ซ้ำรอยกับนายธนาธร เนื่องจากการถือหุ้นของนายธนาธรเป็นสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ ส่วนไอทีวี เป็นสื่อโทรทัศน์ มีความแตกต่างกัน ส่วนกรณีที่ไอทีวีถูกคำสั่งปิดไปแล้วเมื่อปี 2550 จะถือว่ายังเป็นหุ้นสื่อหรือไม่นั้น  ในเมื่อไม่ยื่นการปิดบริษัท และยังมีการประชุมของผู้ถือหุ้นอยู่ และบริษัทก็ยังไปลงทุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน  จะอ้างว่าปิดไปแล้วก็คงไม่ใช่ มองว่าเรื่องนี้จะต้องถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะว่าเป็นเผือกร้อน และบอกว่า กกต.ก็จะไม่วินิจฉัยเอง

เชือดเรื่องผู้จัดการมรดก

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เอกสารที่จะมายื่นต่อ กกต.มีความแตกต่างจากนายเรืองไกร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 1559 พร้อมยกตัวอย่างว่าตนเองก็เคยเป็นผู้ตามมรดกของบิดา เวลาไปทำนิติกรรมใดๆ เอกสารใดๆ ที่ปรากฏในชื่อของบิดาซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ตนในฐานะเป็นผู้ติดตามมรดก ถ้าไม่ระบุว่าจะมอบมรดกให้กับใคร หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่จะแปลงชื่อนั้นเป็นของตนเองซึ่งเป็นลูกทันที นั่นหมายความว่าตนเองก็สามารถนำทรัพย์สินไปทำนิติกรรมใดๆ ก็ได้ ดังนั้นเอกสารที่ปรากฏในชื่อของนายพิธา ไม่ได้มีวงเล็บว่า ในฐานะผู้ติดตามมรดก ซึ่งหมายความว่านายพิธาก็สามารถดำเนินการใดๆ กับหุ้นนี้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารหรือคำสั่งของศาลในเรื่องของการตั้งผู้ติดตามมรดก ดังนั้นคำพูดที่นายพิธาอธิบายมานั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ได้

เพจเฟซบุ๊กนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้มีทีมงานโพสต์รูปพร้อมเนื้อหาในเรื่อง  “การเมืองแห่งความหวังจะชนะความกลัว! โดยระบุว่า เมื่อมีกระแสสูง บรรดานักร้องเรียนจึงพากันขยันทำงาน เป็นมุกเดิมที่ 4 ปีที่แล้วก็ทำ ตอนนี้ก็จะทำซ้ำอีก เปิดไพ่ประเภทตัดสิทธิ ยุบพรรค หรือให้เราพ้นจากตำแหน่ง ทำแบบนี้มาเกือบ 20 ปี ขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นใครมาแรง นี่คือนิติสงคราม ทำลายเราโดยใช้กฎหมาย ดังนั้น วิธีการต่อสู้ของเราคือต้องยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อ สู้ต่อ ไม่กลัวไม่เกรงไม่ถอย เพราะถ้าหยุด ถ้าหงอ ถ้าหมอบ แสดงว่าอาวุธของพวกเขาใช้สำเร็จ แต่ถ้าพวกเขาทำแล้วเราไม่ตาย เรากลับมามีชีวิตใหม่ แถมไปไกลกว่าเดิม มีคนสนับสนุนมากกว่าเดิม แบบนี้เรียกกระสุนด้าน

 “ไม่ต้องกังวล จะร้องอีกกี่คดี จะฉายหนังม้วนเก่าอีกกี่รอบ เราต้องสู้ด้วยพลังของประชาชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล มีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ให้มันรู้ไป ว่าถ้าเล่นพิเรนทร์แบบเดิม คุณจะเห็นพลังอันไพศาลของมวลชนพรรคก้าวไกลทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจดใต้ เจอของจริงแน่นอน”

 “อย่าไปท้อถอย อย่าตระหนกตกใจ ขอให้เอาความหวังชนะความกลัว เลือก ส.ส.ก้าวไกลเข้าไปให้มากที่สุด ให้คะแนนทั่วประเทศมากกว่า 10 ล้านเสียง สิ่งนี้จะเป็นเกราะคุ้มกันจากบรรดานักร้องและจากนิติสงคราม" นายปิยบุตรกล่าว

หลังเลือกตั้งค่อยสอย

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายพิธาว่า ยังไม่ได้ดูข้อเท็จจริงทั้งหลาย แต่ก็เป็นกำลังใจให้ และแน่นอนว่าทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม และเราก็มีความเป็นห่วงพรรคการเมืองบางพรรคที่เสนอชื่อแคนดิเดตมาเพียงชื่อเดียว

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนนายพิธาถือหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี ว่ายังไม่เห็นคำร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติ มีขั้นตอนตามกฎหมาย มีอยู่ 3 ช่วงคือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง, ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง โดยก่อนการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ​ (พ.ร.ป.)​ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 61 ถ้า กกต.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ ให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วัน แต่หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศผล ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ก็จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้ง​ แต่ก็ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้นก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส.ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการหลังการประกาศผล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งได้กำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้ ทั้งให้ ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่า ทำไม กกต.ไม่ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังการเลือกตั้งจะมีผลกระทบมากกว่า นายแสวงกล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงานก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้ กกต.พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา

ศาลยกคำร้องภูมิใจไทย

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก กรณีพรรคภูมิใจไทย โจทก์ ยื่นฟ้องนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จำเลย ต่อศาลแพ่งเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย ในคดีหมายเลขดำที่ พ.2376/2566 โดยกล่าวหาว่าจำเลยกระทำการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายแก่เสรีภาพ เสียหายต่อทรัพย์สิน เสียหายแก่สิทธิในชื่อเสียงหรือเกียรติคุณหรือทางเจริญของโจทก์  เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายและตัดทอนคะแนนนิยมในการหาเสียง โดยชอบด้วยกฎหมาย และยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณาเป็นกรณีฉุกเฉิน ห้ามมิให้จําเลยเข้าใกล้บริเวณสถานที่หาเสียงปราศรัยของโจทก์ และห้ามมิให้จำเลยกล่าว แถลงข่าว หรือพูด แสดงความคิดเห็นถึงโจทก์ และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโจทก์ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ในลักษณะทํานองเดียวกับที่ถูกฟ้อง และไม่ว่าจะแสดงออกทางภาพ  เสียง คลิป ข้อความ ป้ายโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อโซเชียลใดๆ หรือขึ้นเวทีต่างๆ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะพ้นวันเลือกตั้ง

ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25 บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำการใดๆ ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ยังรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและเดินทางเพื่อเข้าฟังการปราศรัยที่จัดขึ้นเป็นสาธารณะได้ การจะสั่งห้ามจําเลยมิให้กระทำการใดในอนาคตที่ยังไม่แน่นอนว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยเกินสมควร กรณียังไม่สมควรที่จะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ยกคำร้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง