หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นเม.ย.66 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน หลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นชัด หนุนความเชื่อมั่นพุ่งขึ้นยกแผง พร้อมคงจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3.6% ต่อปี กังวลรัฐบาลใหม่ไร้เสถียรภาพ-จัดตั้งล่าช้า ฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% “แบงก์รัฐ” เด้งรับรัฐบาลชุดใหม่ เตรียมขนมาตรการพักหนี้อุ้มประชาชน แจงไม่เป็นห่วง-กังวล ยันพร้อมดำเนินการเต็มสูบ ถือเป็นหน้าที่ต้องช่วยเหลือสังคม
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2566 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 53.8 มาอยู่ที่ระดับ 55.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน
ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น โดยมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 5-6 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 2-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจาก 5-6 หมื่นล้านบาท ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภดปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 49.4 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 48.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 52.0 จากระดับ 50.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 63.6 จาก 62.5 สะท้อนว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น
“เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่ดัชนีทุกตัว ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจ ทั้งปัจจุบัน อนาคต และภาพรวม ปรับตัวสูงสุดในรอบ 64 เดือน ตั้งแต่ที่เริ่มสำรวจมาในเดือน ม.ค.ปี 61 โดยมีค่าดัชนีสูงกว่าระดับค่ากลาง คือ 50 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตก็ปรับตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ถือเป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นชัดเจน โดยทุกภาคส่วนชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งมียอดคำสั่งซื้อที่ดีขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการบริโภคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ก็ปรับตัวดีขึ้นมากกว่า 50 จุด”
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศหลังการเลือกตั้ง สำหรับสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง คาดการณ์ว่าจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาล มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2566 หากหน้าตารัฐบาลดี ผลออกมาเป็นบวก คนจะเริ่มลงทุน และจะเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจะมีความคึกคักในช่วงไตรมาส 4
“จากปัจจัยทั้งหมด จึงทำให้หอการค้าฯ ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ 3.6% ต่อปี และจะประเมินอีกครั้งหลังเห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่และนโยบายทางเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตอยู่ในกรอบที่ 3-3.5% และมีโอกาสน้อยมากที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% โดยมีเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่า 3% ได้ คือรัฐบาลใหม่ขาดเสถียรภาพ เพราะเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน ทำให้การลงทุนในประเทศล่าช้า นอกจากนี้ยังมีผลต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหวังว่าสถานการณ์นี้จะไม่มีใครทำให้เกิดขึ้น แต่หากว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเร็ว ก็เชื่อว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.5-4% ต่อปีจะมีมากขึ้น” นายธนวรรธน์กล่าว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลชุดใหม่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการพักหนี้ หรือมาตรการใหม่ ๆ ออกมาว่า ธนาคารออมสินในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็พร้อมที่จะดำเนินการตาม ไม่ได้มีความเป็นห่วงหรือเป็นกังวลแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของธนาคารที่ต้องช่วยเหลือสังคม อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดๆ หากมีผลกระทบต่อธนาคาร โดยปกติรัฐบาลก็จะต้องมีการอุดหนุนในส่วนดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นก็ต้องพิจารณารายละเอียดในแต่ละมาตรการอีกครั้ง
นายวิทัยกล่าวว่า ในส่วนของลูกหนี้ธนาคารที่ยังมีปัญหา ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 2-3 แสนราย โดยส่วนใหญ่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และลดลงจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่มีมาตรการช่วยเหลือกว่าล้านราย และจำนวนที่เหลืออยู่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับลูกหนี้ทั้งหมดหลายสิบล้านราย ออมสินจะทำหน้าที่ตามปกติในการช่วยลดต้นทุนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในตลาดที่การแข่งขันไม่สมบูรณ์ คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม อย่างเช่นการร่วมสัญญาลงทุนตั้งบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด กับ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และดำเนินการลดดอกเบี้ยจำนำทะเบียนรถในระบบ จาก 28% เหลือ 16-18%
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ ธ.ก.ส. พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการพักหนี้ของรัฐบาลชุดใหม่ แต่คงต้องมีการหารือพูดคุยกันในรายละเอียดก่อน เนื่องจากธนาคารเองยังไม่ได้เห็นตัวโครงสร้างการชดเชยหรือว่าผลกระทบที่จะมีต่องบดุลของธนาคาร แต่ด้วยความที่ ธ.ก.ส.เป็นธนาคารของรัฐ และลูกค้าหลักคือเกษตรกร ซึ่งเป็นแกนหลักของประเทศ ดังนั้นธนาคารก็พร้อมยินดีที่จะปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว
“ธ.ก.ส.ยินดีที่จะปฏิบัติ แต่คงต้องขอดูในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตัวดีเทลต่างๆ ของนโยบายที่จะออกมา รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธนาคาร เพราะอย่างที่เรียนว่า ธ.ก.ส. ก็เป็นธนาคาร ดังนั้นภายในธนาคารเรามีลูกค้าหลายกลุ่มที่จะต้องดูแล ทั้งลูกค้าเงินฝาก ลูกค้าสินเชื่อ รวมถึงลูกค้าเกษตรกรด้วย” นายฉัตรชัยกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท