3 อดีตขุนพลพฤษภา ’35 ห่วงหลังเลือกตั้งเกิดวิกฤตการเมือง "สุริยะใส" เฉ่งวาทกรรมฝ่ายประชาธิปไตย เป็นคำกลวง ส่งลูกลงเลือกตั้งก็บอกเป็นนักประชาธิปไตย ห่วงอารมณ์ของคนแพ้ในบรรยากาศแบบนี้ ด้าน "จตุพร" ชี้ กกต.จงใจบกพร่อง เชื่อมีกระบวนการทำให้ฝ่ายชนะเลือกตั้งกลายเป็นแพ้-ฝ่ายแพ้กลายเป็นชนะ
เมื่อวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566 สภาที่ 3 ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 จัดเวทีสภาที่ 3 Speak วาระประเทศไทย เรื่อง "31 ปี พฤษภา 35 อนาคตประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง #66" ถ่ายทอดสดทาง Facebook Live "สภาที่สาม - The Third Council Speaks" เปิดประเด็นโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ผู้ร่วมอภิปรายร่วม มองประเทศไทยหลัง 31 ปี พฤษภา'35 โดยคนเดือนพฤษภาที่ยังมีลมหายใจแห่งการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ดำเนินรายการโดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
โดยนายอดุลย์กล่าวว่า เป็นห่วงความรุนแรงหลังการเลือกตั้ง ที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ขณะที่การหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เข้มข้นและคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จัดการเลือกตั้งล่วงหน้าได้เละเทะ มั่วซั่ว เป็นที่กังขาของสังคม ซึ่ง กกต.ควรจะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ และอย่าลืมว่าในอดีตมี กกต.ติดคุกมาเเล้ว จึงหวังว่า กกต.ชุดนี้จะไม่เดินตามรอย ส่วนการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะบ้านเมืองจะเดินไปไม่ได้ และไม่เป็นตามครรลองประชาธิปไตย
ด้าน ผศ.ดร.สุริยะใสกล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภาคม 35 ผ่านมาแล้ว 31 ปี แต่รู้สึกเหมือนผ่านมาได้ไม่นาน คล้ายเหตุการณ์ยังคุกรุ่นอยู่ และแม้ไม่มีนักการเมืองที่เป็นเพชรเม็ดงาม แต่ประชาชนก็ตื่นตัวขึ้นมาก เพียงแค่ไม่เป็นเอกภาพเหมือน 31 ปีก่อน พร้อมสรุปบทเรียนว่า การต่อสู้กับเผด็จการแม้ยากลำบากก็จริง แต่การสร้างประชาธิปไตย ดูเหมือนจะยากกว่ามาก เพราะคดเคี้ยวและวกวน อีกทั้งนิยามคำว่าประชาธิปไตยของแต่ละคนนั้นไม่แน่ใจว่าจะมีความหมายตรงกันหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ดี เห็นว่าประชาธิปไตยไม่มีสูตรตายตัว แต่คือพลวัตของการต่อสู้ต่อรองไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การสรุปบทเรียนของฝ่ายประชาชนเองจึงมีสำคัญมาก โดยเชื่อว่าหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่จบ แต่จะสลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะปัญหาต่างๆ ยังไม่สะเด็ดน้ำทั้งมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังห่วงการหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม และการตัดสินใจเลือกของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่จะเลือกว่าจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ หรือเอา 'ทักษิณ' มากกว่าตัดสินใจเลือกที่นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง
การที่คนในสังคมใช้วาทกรรมแบ่งแยกฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตยนั้น การใช้วาทกรรมอย่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษนิยม เป็นคำที่กลวง ไม่ตรงกับหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา เเละย้ายข้างเปลี่ยนขั้วการเมืองก็กลายเป็นนักประชาธิปไตยได้ หรือการส่งลูกลงเลือกตั้ง ก็บอกว่าเป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งง่ายเกินไป สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคืออารมณ์ของคนแพ้ในบรรยากาศแบบนี้ รวมถึงมีแทรกซ้อนอย่างมีการยุบพรรคการเมือง บวกกับอารมณ์ค้างของผู้คนที่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตจำนง จะเป็นการสุมไฟให้การเมืองเกิดความตึงเครียด
“ส่วนตัวไม่เคยเชื่อมั่นนักการเมืองในการสร้างประชาธิปไตย แต่เห็นความสำคัญของการกลับมาสรุปบทเรียนของฝ่ายประชาชนด้วยกันตามที่กล่าวย้ำหลายครั้ง ซึ่งยังไม่สายที่ภาคประชาชนจะพูดคุยกันเพื่อมองระยะยาว รวมถึงมียุทธศาสตร์ในการสร้างประชาธิปไตยร่วมกันได้” นายสุริยะใสกล่าว
นายจตุพรกล่าวว่า องค์กรอิสระหลายองค์กรจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ถือว่าเป็นองค์กรที่ดีและทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ กกต.ชุดแรก ที่ดูแลการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี รวมถึงการมี ส.ว.จากการเลือกตั้ง ก็ทำหน้าที่เหมือนว่าดีในครั้งแรก แต่เมื่อกลุ่มทุนเบื้องหลังนักการเมืองเข้าไปแทรกแซง เนื่องจาก ส.ว.มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระด้วย ยืนยันว่าระบบในรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นดี แต่มนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ ไม่สามารถจะบริหารจัดการให้ไปสู่สิ่งที่ดีได้ ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่าฝ่ายที่เรียกตนเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นจะได้เสียงข้างมาก แต่นักการเมืองจำนวนมากมีชนักติดหลังในองค์กรอิสระ และอาจมีเหตุการณ์ยุบพรรคหลังการเลือกตั้ง ทำให้มีการดูด ส.ส.ได้ ทำให้ฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเผด็จการหรือที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันอาจจะกลายเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งยังไม่นับรวม ส.ว.แต่งตั้งอีกด้วย เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันถูกออกแบบให้มีทางเลือกที่หลากหลายมากสำหรับการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร
นายจตุพรกล่าวถึงการทำงานของ กกต. ที่ผู้คนอาจมองว่าเป็นความบกพร่องในการจัดการเลือกตั้งว่า ส่วนตัวมองว่าเป็นเหมือนการจงใจของ กกต. เอง เนื่องจากไม่ใช่เพิ่งจัดการเลือกตั้ง แต่ กกต.ชุดนี้มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งท้องถิ่นมาแล้ว จึงคิดอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากคำว่าจงใจ รวมทั้ง กกต.ไม่เคยแถลงความคืบหน้าของการทำงาน ขณะที่คำร้องเกี่ยวกับการผิดกฎหมายเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่บางเรื่องไปไกลมากอย่างการยุบพรรค แต่ กกต.ก็ไม่เคยแถลงความคืบหน้า โดยเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะเห็นการยุบพรรคการเมืองและการดูด ส.ส. โดยเมื่อมีการยุบพรรค ซึ่งแม้จะมีพรรคสำรองไว้แล้ว แต่ ส.ส.ส่วนหนึ่งจะไม่ย้ายตามไป แต่อาจย้ายเข้าพรรคฝ่ายเสียงข้างน้อยและกลายเป็นเสียงข้างมากได้นั่นเอง
“ดังนั้นการที่นายวิษณุบอกว่าจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จึงอาจเป็นไปได้ คือหลังการเลือกตั้ง โดยการตัดสินของประชาชนฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันจะเป็นเสียงข้างน้อย แต่เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ก็จะกลายเป็นเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่ายตามที่กลุ่มผู้มีอำนาจคิด ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤตเลือดนองท้องช้างหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่สังเกตได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีที่ลั้นลาหรือสบายใจ ขณะที่ลูกพรรคถอยหนีอยู่หลายจังหวัด และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังเดินอย่างสบายตัว ซึ่งการปฏิบัติตัวของ 2 คนนี้แสดงให้เห็นว่ามีความมั่นใจและควบคุมสถานการณ์ได้ ผลการเลือกตั้งจะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะมีกระบวนการทำให้ฝ่ายชนะเลือกตั้งกลายเป็นแพ้และฝ่ายแพ้กลายเป็นชนะ " นายจตุพรกล่าว
ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่า ส.ว.แต่งตั้งจะหมดวาระวันที่ 11 พฤษภาคมปีหน้า 2567 จะทำให้อำนาจที่อยู่เบื้องหลังเริ่มคลี่คลายลง แต่หลังเลือกตั้งอาจมีเรื่องการยุบพรรคการเมือง แต่เชื่อว่า กกต.ก็จะต้องคิดหนักเช่นกันถ้าจะดำเนินการยุบพรรค เพราะกระแสสังคมมาทางฝั่งประชาธิปไตย ทำให้มีความหวัง และเชื่อว่าวีรชนที่เสียเลือดเนื้อไปเมื่อ 31 ปีที่แล้วไม่สูญเปล่า ประเทศไทยจะไปต่อได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างประชาธิปไตยต้องเชื่อมั่นประชาชน ขณะที่นักการเมืองที่หลายฝ่ายไม่ไว้ใจว่าจะสร้างประชาธิปไตยได้นั้น ต้องตระหนักด้วยว่านักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
“ที่สำคัญคือ จะต้องไม่ไว้ใจกองทัพหรือผู้มีอำนาจที่ก่อการรัฐประหาร และต้องเรียกร้องไปทั้งนักการเมืองและกองทัพ ไม่ให้สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารหรือต้องช่วยกันหยุดเงื่อนการรัฐประหาร และเราอย่าไว้ใจพวกมีอำนาจ ประชาชนต้องตรวจสอบ ต้องมีความโปร่งใส คือสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมา" ผศ.ดร.ปริญญากล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”
ห่วงศก.ครึ่งหลัง68แผ่ว แนะฟื้นความเชื่อมั่นจีน
หอการค้าไทยห่วง ศก.ครึ่งหลังปี 68 แผ่วหนัก จี้ฟื้นความเชื่อมั่นจีน
อิ๊งค์ปัดนิติกรรมอำพราง สวนเรืองไกรข่มขู่ให้จ่าย
"อิ๊งค์" ยันปมหนี้ 4 พันล้านของสามีคนใต้ ไม่มีนิติกรรมอำพราง
ปปช.ตั้งกุนซือไต่สวนชั้น14
กลุ่ม คปท.-กองทัพธรรมบุก ตร.จี้ “บิ๊กต่าย”เร่งรัดให้ รพ.ตำรวจส่งเวชระเบียนการรักษา "ทักษิณ" ให้แพทยสภา
‘จ่าเอ็ม’นอนคุก ล่าตัว‘มือชี้เป้า’ โยงคนจ้างวาน
ศาลอาญาอนุญาตฝากขัง "จ่าเอ็ม" เปิดพฤติการณ์ฆ่าโหด