โค้งสุดท้ายแห่ร้อง‘กกต.’อื้อ

"กกต." จัดกิจกรรม "Big Day ไทยโหวตคนไทยพร้อมใช้สิทธิ" รณรงค์ ปชช.ใช้สิทธิเลือกตั้ง 14 พ.ค. กว่า 80% หวังบัตรเสียไม่เกิน 2% "อิทธิพร" กำชับ จนท.อย่าให้ผิดพลาดซ้ำรอยเลือกตั้งล่วงหน้า พร้อมสู้ทุกคดีหากโดนฟ้อง มั่นใจทำงานสุจริต ส่งเรื่องปลัดกทม.สอบปม รทสช.ยิงเลเซอร์สะพานพระราม 8 "นักร้อง" ดาหน้ายื่น กกต.สอบหลายประเด็น "สนธิญา" จี้ฟันโพลชี้นำ

ที่ลานคนเมือง​ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร​ วันที่ 9 พ.ค. เวลา 08.00 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมกิจกรรม Big Day "ไทยโหวตคนไทยพร้อมใช้สิทธิ" เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 เพื่อเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566

นายอิทธิพรให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดกิจกรรมดังกล่าว ถึงการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ตามที่ตั้งเป้าไว้ 80% ขึ้นไปว่า  เป็นตัวเลขที่เราตั้งใจ และจะประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุดในทุกระดับ วันนี้เป็นการเปิดตัวอย่างจริงจังอีกครั้ง หวังว่าประชาชนจะพร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิ ขอให้ดูกฎกติกาให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเสีย โดยตั้งเป้าว่าไม่อยากให้บัตรเสียเกิน 2% ซึ่งจะพยายามทำทุกวิถีทาง สร้างความมั่นใจ สร้างความเข้าใจให้ทุกคนได้ทราบก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง

นายอิทธิพรกล่าวว่า ในส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดปัญหาหลายเรื่องนั้น จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ใช้สิทธิไปแล้ว นั่นคือเป้าหมายหลักของเรา ไม่อยากให้ทำงานผิดพลาด แต่หากพบข้อผิดพลาดประเด็นใด จะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก และต้องแก้ไขโดยทันที ซึ่งข้อผิดพลาดที่ได้รับรายงานมาจะกำชับสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ว่าจุดไหนที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก

"เราไม่รู้สึกตกเป็นเป้าและถูกถล่ม แต่อีกทางรู้สึกดีใจว่าการทำงานของเรามีคนช่วยตรวจสอบ ทั้งการทำงานของ กกต. และการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ถ้าไม่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนโดยสื่อมวลชน การทำงานของ กกต.อาจไม่ 100% ซึ่งปัญหาการใส่รหัสหน้าซองผิดและการที่ไม่ได้จ่าหน้าซองเลยนั้นมีน้อยมาก เพราะคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ 2.2 ล้านคน มีข้อผิดพลาดแต่ไม่เยอะ โดยพบว่ามีการกรอกเขตเลือกตั้งผิด ไม่ใช่กรอกรหัสไปรษณีย์ แต่เมื่อมีการหย่อนบัตรลงไปในหีบเลือกตั้งแล้ว หลัง 17.00 น. ก็จะมีการตรวจสอบแต่ละหน้าซองว่าถูกต้องหรือไม่ และจะแก้ไขแล้วส่งไปในจุดหมายที่ควรจะเป็น" ประธาน กกต.กล่าว

ถามว่า มีคนจะไปฟ้องเอาผิด กกต. ตามมาตรา 157 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า เป็นแค่กระแสและความคิดของคนที่เห็นว่าการทำงานของ กกต.เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ กกต.ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นพนักงาน ถ้าเห็นว่าการทำงานของ กกต.บกพร่อง และต้องได้รับการพิจารณา ก็ เป็นสิทธิ์ที่จะฟ้องได้กับผู้ที่มีอำนาจตัดสิน การทำหน้าที่ของ กกต.ไม่มีปัญหา

"ทุกครั้งที่มีการฟ้องร้อง ก็ต้องพร้อมสู้คดี ที่สู้เพราะเราปฏิบัติงานโดยสุจริต ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งตอนนี้ไม่มีปัจจัยที่ต้องเป็นห่วงว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ และการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม เสียงลงคะแนนเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น" นายอิทธิพรกล่าว

คุมเข้มเลือกตั้ง 14 พ.ค.

เมื่อถามกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยิงเลเซอร์หาเสียงบริเวณเสาบนสะพานพระราม 8 นั้น นายอิทธิพรกล่าวว่า ขณะนี้ปลัด กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่กำลังดำเนินการตรวจสอบแล้วว่ามีการขออนุญาตใช้พื้นที่หาเสียงหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วการใช้พื้นที่ราชการต้องขออนุญาตก่อน และเจ้าของสถานที่จะเป็นผู้พิจารณา หากตรวจสอบพบว่ามีความผิด ก็จะผิดเรื่องการวางป้ายหาเสียงที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและจะดำเนินคดีต่อไป

"การจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือเหมาะสมหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าพรรคการเมืองนั้นน่าจะเข้าใจเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะก่อนเปิดรับสมัครเลือกตั้งได้ชี้แจงกับพรรคการเมืองและผู้สมัครแล้ว โดยกรณีดังกล่าวเจ้าของพื้นที่คือ กทม. หากอนุญาตก็ต้องอนุญาตทั้งหมด เพื่อรักษาความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม การหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ขอให้ทุกท่านยึดมั่นในการหาเสียงอย่างถูกต้อง" ประธาน กกต.กล่าว

ส่วนนายแสวง กล่าวถึงปัญหาการจ่าหน้าซองผิดพลาดว่า สำนักงาน กกต. ได้แจ้งไปยัง ผอ.เขตเลือกตั้งทั่วประเทศว่าก่อนมอบบัตรให้กับไปรษณีย์ ให้ตรวจหน้าซองก่อน เพราะพบข้อผิดพลาด และเมื่อประสานไปทางไปรษณีย์ก่อนรับให้ตรวจนับว่าหน้าซองมีการกรอกตัวเลขหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วจนถึงวันนี้ ไม่พบว่าไม่มีการจ่าหน้าซอง มีแต่การกรอกเขตผิด ก็ต้องมีกรรมการวินิจฉัย

มีรายงานด้วยว่า นายแสวงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เรื่องกำชับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ระบุว่า ในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยภาพรวมของการจัดการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ปรากฏข้อมูลตามสื่อต่างๆ พบความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางหลายแห่ง ดังนั้นเพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 14 พ.ค. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอให้ดำเนินการในการอบรมคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ให้เน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และแนวทางที่ กกต.กำหนด คู่มือปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่พนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด หากมีเหตุการณ์ใดให้บันทึกลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง ส.ส.5/6 

หนังสือยังระบุว่า การดำเนินงานในวันเลือกตั้ง ก่อนเปิดการลงคะแนนให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของป้ายปิดประกาศ และเมื่อเสร็จสิ้นการนับคะแนน ให้ดำเนินการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการโดยเร็ว 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งและผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และแนวทางที่ กกต.กำหนด โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยการจัดการเลือกตั้งด้วยความเข้มแข็งและรับผิดชอบ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งและผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ในกรณีเกิดเหตุจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นในวันเลือกตั้ง และมีผลกระทบต่อการออกเสียงลงคะแนนหรือการนับคะแนน ให้รายงานเหตุดังกล่าวต่อสำนักงาน กกต.โดยเร็ว 

จากนั้น เวลา 14.30 น. นายแสวง แถลงข่าวความร่วมมือการเฝ้าระวังระบบการเลือกตั้งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี,  สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

นายแสวงกล่าวว่า กกต.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับระบบเลือกตั้ง โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยงและรักษาความมั่นคงปลอดภัยทั้งไซเบอร์ ป้องกันการโจมตีกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กกต. เช่น แอปพลิเคชัน “smart vote” แอป “ตาสับปะรด” เว็บไซต์สำนักงาน กกต. และเว็บไซต์ กกต.จังหวัด ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตามตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กกต.ในและจังหวัดต่างเร่งรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.อย่างคึกคัก

แห่ยื่นร้อง กกต.สอบอื้อ

วันเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้พิจารณา 2 เรื่องคือ กรณีการทำโพลในช่วงที่ผ่านมาของสำนักโพลหลายแห่ง พบว่าไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ นำไปสู่การชี้นำ โดยเฉพาะการรับฟังความเห็น การแสดงความเห็นผ่านระบบออนไลน์ มีการแทรกแซง นำเสนอโดยมีต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือไม่ และกรณีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา มีการเปิดเผยคลิปหลุด และเปิดเผยข้อมูลหลายๆ กรณีที่มีต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยว ชี้นำ แทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศไทย จึงขอให้ กกต.พิจารณาวินิจฉัย หรือเชิญนายสมชายมาให้ข้อมูล

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมาที่ กกต. ยื่นคำร้องชี้เบาะแสให้ กกต.ตรวจสอบ ไต่สวน สอบสวน กรณีมีผู้ทำบัตรส่วนลดพรรคสีส้มแจกจ่ายให้กับลูกค้าที่ใช้บริการซื้อขายสินค้า โดยการจัดทำรหัสโค้ดเป็นส่วนลดให้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการช่วยหาเสียงให้กับพรรค อาจเข้าข่ายการให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ซึ่งผลประโยชน์อื่นใดที่อาจคำนวณเป็นเงินได้ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้

ขณะที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติและอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กรณีลงนามเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกะเหรี่ยง บ้านบางกลอย โดยให้กลุ่มชาติพันธุ์บ้านบางกลอยสามารถกลับไปทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนได้ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน และบ้านโป่งลึก  จึงอยากให้ กกต.สั่งยุติและยกเลิกความเห็นดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงที่มีการเลือกตั้งมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรค

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย เขต 1 จ.แพร่ และนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรืออดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง”  เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กกต. พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้ กกต.ยกเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้า และแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นคำร้องต่อประธาน กกต. ใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ 1.ข้อมูลผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนเท่าไหร่ เดินทางมาใช้สิทธิจริงเป็นจำนวนเท่าไหร่ 2.ถ้าดูตามระเบียบของ กกต. จะต้องประกาศเรื่องการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในนอกเขต และจะต้องประกาศว่าจะมีการนับคะแนนที่ใดไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. และ 3.ทั้งประเทศมีหน่วยเลือกตั้งเกือบแสนหน่วยตามที่ กกต.ได้ประกาศ แต่ไม่มีรายละเอียดที่ลงไว้ในเว็บไซต์ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดที่ไม่ได้ลงข้อมูลดังกล่าว ทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าหน่วยเลือกตั้งของตนเองอยู่ที่ไหน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง