ทักษิณกลับนอนคุก บิ๊กตู่ปัดดีลลับขึ้นกับกระบวนยุติธรรม/พิธาเต้นถือหุ้นสื่อ

“ทักษิณ” สู้ไปกราบไปรอบใหม่ ประกาศขอกลับมาเลี้ยงหลานภายในเดือน ก.ค.ก่อนวันเกิด อ้างผูกพัน “ครอบครัว-แผ่นดินเกิด-เจ้านาย”  ประยุทธ์ลั่นไม่มีดีลลับ ย้ำให้ขึ้นกับกระบวนยุติธรรม “วิษณุ” ชี้กลับมาก็ต้องนอนคุกก่อน เพราะแนวคิดขังที่ไหนก็ได้ยังเป็นแค่นโยบายของ “สมศักดิ์”   “ทิพานัน” อ่วม! พีระพันธุ์-รทสช.รุมสวดยับยิงเลเซอร์หาเสียง “ธนกร” ปูดเตรียมออกแคมเปญชิงคะแนนทิ้งท้าย “พิธา” ไม่สนเรืองไกรร้องถือหุ้นสื่อ อ้างเป็นกองมรดก แผนเตะสกัดก้าวไกล

เมื่อวันอังคารที่ 9 พฤษภาคม 2566  มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)   ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ”

ต่อมานายทักษิณทวีตข้อความอีกครั้งว่า “ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่  ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงทวีตของนายทักษิณว่า ไม่ได้อ่าน ช่วงนี้ไม่ได้อ่าน และเมื่อถามว่าในทางปฏิบัติแล้วถ้านายทักษิณกลับมาในช่วงเป็นรัฐบาลรักษาการ จะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ก็ต้องดูว่าเขากลับมาด้วยเหตุผลอะไร ก็ต้องว่าไปตามนั้น

ถามย้ำว่า นายทักษิณประกาศจะเดินทางกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ก็สุดแล้วแต่ท่าน ก็สุดแล้วแต่กระบวนการยุติธรรม” ถามต่อว่าในช่วงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ อาจถูกมองเจตนาเป็นอย่างอื่น พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า “ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ผมไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับศาล”

เมื่อถามว่า ไม่ได้มีสัญญาณส่งตรงมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ในการขอกลับมาในลักษณะดีลกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์สวนว่า “เขาส่งมาทางไหน มาทางอากาศเหรอ ผมไม่ได้รับคลื่นตรงนี้กลับมา”

เมื่อถามว่า นายทักษิณมั่นใจและมีสัญญาณอะไรว่าจะได้กลับมาได้ในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำอีกว่า

“ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม” และเมื่อถามย้ำว่ามองเจตนาอย่างไรบ้างที่นายทักษิณเคลื่อนไหวประกาศในช่วงการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์  หรือแค่ปลุกกระแสในช่วงก่อนเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เดินออกจากโพเดียมการให้สัมภาษณ์ พร้อมส่งยิ้มและกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ถามเองก็ตอบเอง”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เท่าที่จำได้ คดีของนายทักษิณมีอยู่ 3 ประเภทคือ คดีที่ศาลตัดสินแล้วและนายทักษิณไม่ได้มารับโทษ คดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน และคดีที่ศาลตัดสินแล้วว่านายทักษิณไม่มีความผิด จึงต้องดูว่าคดีของนายทักษิณเข้าข่ายประเภทใด แล้วต้องดำเนินการไปตามคดีประเภทนั้นๆ

เมื่อถามว่า คดีที่ศาลตัดสินให้จำคุก นายทักษิณสามารถยื่นขอประกันตัวได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องติดคุกเหมือนกับที่ไปฟังคำพิพากษา จากนั้นต้องเข้าสู่การควบคุมตัวของทางราชการ อย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่แล้วเคยให้ข่าวว่ามีแนวคิดที่ให้ควบคุมตัวนักโทษที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่เรือนจำ โดยประกาศให้เสมือนเป็นเรือนจำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่นโยบาย ยังไม่มีการดำเนินการอะไร ผู้ต้องโทษจึงต้องเข้าสู่สถานควบคุมของทางราชการ ควบคุมตัวที่บ้านไม่ได้

ถามว่า เมื่อนายทักษิณกลับเข้าประเทศแล้ว จะมีกระบวนการทางกฎหมายใดที่เอื้อต่อนายทักษิณหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ มาถามอะไรตน ขอให้ไปถามทนายความของนายทักษิณ

วิษณุเผย 2 แนวทางอภัยโทษ

เมื่อถามว่า หลักเกณฑ์ของกระทรวงยุติธรรมระบุไว้ว่าหากจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องรับโทษ 1 ใน 3 ก่อน นายวิษณุกล่าวว่า มีอยู่ 2 อย่าง คือการขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล ซึ่งสามารถยื่นขอได้ตั้งแต่วันแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจ และความประสงค์ของผู้ยื่นขอ ส่วนจะได้หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยการขอพระราชทานอภัยโทษที่จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา จะต้องมีการรับโทษก่อน แล้วต้องรับโทษมาไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือเป็นจำนวน 1 ใน 3 ถ้าในกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นส่วนตัว

     นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ระบุว่า ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ แต่อย่างที่บอก ท่านคงมั่นใจพรรคเพื่อไทยจะได้ และนำพาท่านมาอย่างนั้น หรือตามที่ท่านคิด ซึ่งก็ไม่รู้ แต่ขอให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสินใจว่าต้องการแบบใด แต่ในฐานะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คงต้องทำงานรับใช้ประชาชน และตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ก็เห็นผลงานอยู่ว่าทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ได้ทำเพื่อครอบครัวหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งแน่นอน

นายสุชาติกล่าวอีกครั้งว่า ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งเป็นคนไทย กลับประเทศไทยได้อยู่แล้ว แต่กลับมาแล้วก็ต้องว่ากัน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกฎหมายไทย ย้ำว่าต้องไม่ก้าวล่วงไปพูดถึง เพราะนายทักษิณเป็นอดีตนายกฯ อายุเยอะแล้ว ก็ว่ากันไป ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นเอง

“คิดแทนเขาไม่ได้ เป็นเรื่องของครอบครัวเขาไม่เกี่ยวกับผม และพรรค รทสช. ซึ่งท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ผมไม่ขอวิจารณ์” นายสุชาติกล่าวตอบข้อถามเรื่องการประกาศดังกล่าวหวังผลทางการเมืองหรือไม่

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวเช่นกันว่าเป็นเรื่องของท่าน ซึ่งไม่มีอะไร ท่านก็บ่นอยากกลับมา 17-18 ครั้งแล้ว ตามที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชนระบุ จะพูดอีก 20 ครั้งก็ไม่เป็นไร เราไม่ก้าวล่วง ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะวันนี้คนไทยตัดสินใจแล้ว แต่อยากให้พลังเงียบแสดงพลังความรักชาติออกมาช่วย พล.อ.ประยุทธ์ในวันนี้

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า เพิ่งมีคนส่งมาให้ดู แต่ยังไม่ได้อ่าน ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ทางกฎหมายอยู่แล้ว หากทำตามกฎหมายทำได้หมด ไม่มีใครไปห้ามปราม

เมื่อถามว่า การประกาศกลับบ้านครั้งนี้ เพื่อเรียกคะแนนให้พรรค พท.ในโค้งสุดท้ายหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ถามตนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องคนละพรรค ต้องไปถามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ มีความเห็นไม่ได้ทั้งนั้นกับเรื่องคนอื่น 

ถามย้ำว่า จะดึงกระแสกลับจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้หรือไม่ นายอนุทินระบุว่า ไม่ได้มองเลย เพราะ สุดท้ายแล้วก็ยุ่งอยู่กับพรรค ไม่ยุ่งอะไรกับคนอื่นเลยแม้แต่น้อย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า การทวีตข้อความนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค เข้าใจความรู้สึกของคนที่จากบ้านไปเกือบ 20 ปี ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของท่าน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค พท.แต่อย่างใด

วันเดียวกัน ยังคงมีประเด็นการยิงเลเซอร์แสงสีข้อความหาเสียงที่เสาสะพานพระราม 8 ของพรรค รทสช. ที่ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค รทสช. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดกติกาการเลือกตั้งหรือไม่ และใครอนุญาต โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงว่า กทม.ได้อนุญาตให้ใช้สถานที่หาเสียงได้ใน 16 พื้นที่ ซึ่ง น.ส.ทิพานันได้ทำหนังสือขอใช้สถานที่บริเวณลานริมแม่น้ำใต้สะพานพระราม 8 ในวันที่ 8-12 พ.ค. เวลา 20.00-02.00 น. ซึ่ง กทม.เข้าใจว่ามาหาเสียงปราศรัย เพราะจดหมายไม่ได้เขียนว่าจะใช้เสาสะพาน โดยในหนังสือมีภาพสถานที่ประกอบ เขียนลูกศรและฉายไฟ แต่ กทม.ก็จินตนาการคิดไม่ถึงว่าจะฉายบนเสาสะพาน ซึ่งหากรู้ว่าเป็นการฉายขึ้นบนเชิงสะพานก็จะไม่อนุญาต เพราะเป็นการยิงเลเซอร์ขึ้นบนนอกพื้นที่ที่ กทม.อนุญาต

‘พีระพันธุ์’ อัดน้องอ้นใช้อะไรคิด

“กทม.ก็ต้องอภัย คงไม่ได้เป็นความผิดอะไร เป็นความคลาดเคลื่อนด้านการสื่อสาร ยืนยัน กทม.เป็นกลาง ไม่ได้ลำเอียงให้พรรคไหนใดๆ กรณีนี้เป็นบทเรียนของ กทม.ในการอนุญาต ให้ดูให้ละเอียดกว่านี้ ซึ่งก็มีหลายพรรคขอใช้พื้นที่เข้ามาใช้สถานที่ ก็ต้องตรวจสอบให้ละเอียดกว่านี้” นายชัชชาติกล่าว

ขณะที่ช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ได้เรียก น.ส.ทิพานันเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์อยู่ด้วย โดยนายพีระพันธุ์ได้ตำหนิ น.ส.ทิพานันว่า “คุณทำอะไรไม่ปรึกษาผมเลย เรื่องใหญ่ขนาดนี้ คุณทำไปได้อย่างไร คุณใช้อะไรคิด”

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า ต้องไปดูกฎหมายว่าอย่างไร ซึ่งได้ชี้แจงกันอยู่ เห็นว่ามีการขออนุญาตอะไรไป แต่พรรคไม่ได้ทราบเรื่องนี้มาก่อน คงเป็นความหวังดีของคนทำ และได้คุยกับ น.ส.ทิพานันแล้ว

มีรายงานว่า หลังเกิดประเด็นดังกล่าว น.ส.ทิพานัน ซึ่งมาเข้าร่วมการประชุม ครม. ในฐานะรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ตามปกติ แต่ไม่ได้เข้าร่วมวงในห้องรับรองที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดคุยกับแกนนำหลังประชุม เพียงแต่ยืนอยู่นอกห้อง และไม่ได้มายืนด้านหลัง พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงแถลงข่าวเหมือนเช่นทุกครั้ง

ขณะที่พรรค รทสช.ได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าวว่า พรรคไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการดังกล่าว และได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.ทิพานันได้ขออนุญาตต่อปลัด กทม.ด้วยจดหมายส่วนตัว โดยไม่ได้หารือหรือแจ้งให้พรรคทราบ หรือขออนุญาตผู้บริหารพรรคแต่อย่างใด เมื่อพรรคทราบข้อเท็จจริงแล้วก็ได้ตำหนิ และทำหนังสือตักเตือนพร้อมทั้งสั่งการไปยัง น.ส.ทิพานันให้หยุดดำเนินการดังกล่าวโดยทันที ทั้งนี้ พรรครู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องขออภัยอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. ยืนยันว่า พรรคไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยพรรคได้กำชับผู้สมัคร ส.ส.ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์หาเสียงอย่างเหมาะสม ระมัดระวัง และกำชับให้กระทำตามกฎหมาย และกติกาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ที่ผ่านมาหากพบว่าการประชาสัมพันธ์ที่เข้าข่ายไม่เหมาะสม พรรคจะแจ้งเตือนและให้แก้ไขปรับปรุงทันที

ด้านความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคต่างๆ นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยว่า ผลการเลือกตั้งมันออกมาหรือยัง ก็ยัง แล้วมีการคุยกันแล้วหรือยัง ก็ยัง แล้วมันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ก็ยังไม่รู้ มันควรเป็นในสิ่งที่ควรจะเป็น เป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้น

เมื่อถามว่า แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่พูดตรงนี้ เพราะยังไม่ได้คุย ไม่ได้พูดกัน ก็พยายามทำในสิ่งที่ดีและถูกต้อง และการเลือกตั้งขอให้ทำให้บ้านเมืองปลอดภัย ให้สงบเรียบร้อย อย่าทะเลาะกัน อย่าตีกันมากนัก เพราะประชาชนเป็นผู้ที่รอรับประโยชน์จากรัฐบาล และ ครม.ไม่ว่าใครจะเป็นก็ตาม ทำให้มันมั่นคง ทำทุกอย่างให้ยั่งยืนก็แล้วกัน

รทสช.จ่อออกแคมเปญใหม่

ด้านนายธนกร กล่าวถึงหมัดเด็ดในช่วง 5 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งว่า  พรรค รทสช.จะมีแคมเปญออกมาอีก 1 ชิ้น ซึ่งทีมยุทธศาสตร์ของพรรคได้ดำเนินการแล้ว โดยยุทธศาสตร์ที่ออกมาล่าสุด ประชาชนจะคิดได้ว่าบ้านเมืองเราเกิดอะไรขึ้นบ้างทั้งก่อนและหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์มา 7-8 ปีมีอะไรดีขึ้นบ้าง และอะไรที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไปต่อ ถ้าประชาชนได้ดูแคมเปญล่าสุด ก็จะเข้าใจว่าวันนี้เราจำเป็นจะต้องแสดงพลังออกมาช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ เพื่องานที่ทำอยู่แล้วดีอยู่แล้ว

“ถ้าเป็นไปตามผลโพล ผมคิดว่ามันอันตรายกับประเทศ เพราะพรรคการเมืองบางพรรคมีแนวคิดสุดโต่ง อาจมีการปรับโครงสร้างเปลี่ยนแปลงประเทศมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงไม่ยอม และอาจทำให้ประเทศเข้าสู่วงจรอุบาทว์” นายธนกรกล่าว

เมื่อถามว่าแคมเปญที่ออกมาจะสู้กับวาทะมีลุงไม่มีเราได้หรือไม่ นายธนกรกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยต้องมีลุงตู่ในเวลาที่เหลืออยู่ 2 ปีนี้ ประเทศไทยต้องไปต่อ พูดง่ายๆ คือมีเราก็ไม่มีนายเหมือนกัน

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ รองหัวหน้าพรรค รทสช. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ในภาคอีสาน พบว่ากระแสของพรรค รทสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ดีขึ้นต่อเนื่อง พี่น้องประชาชนในพื้นที่ถามถึงลุงตู่ ร้องเพลงลุงตู่อยู่ไหน จนติดหูไปแล้ว เพราะประชาชนได้เห็นผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ในการบริหารบ้านเมืองที่ผ่านมา

ด้านนายอนุทิน กล่าวถึงการปราศรัยใหญ่ในวันที่ 12 พ.ค. ที่โชว์ดีซี พระราม 9 ว่าเวลาพรรคไปปราศรัยที่ไหน เราไม่พูดถึงพรรคอื่นในทางที่ไม่ดี ไม่วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายของพรรคอื่น เพราะเราให้เกียรติกัน ทุกพรรคต้องทำนโยบายขึ้นมา ก็ต้องมั่นใจว่าได้ก่อเกิดประโยชน์กับประชาชน ดังนั้นการที่ไปปราศรัย  ภท.ก็จะเน้นในเรื่องที่เราอยากจะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ

ถามว่า จะเน้นทีเด็ดอะไร นายอนุทินกล่าวว่า เลข 7 ทีเด็ดอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงกับกลุ่มแท็กซี่ว่าหาเสียงมากว่า 60 วัน จะไม่ให้กระทรวงดีๆ กับพรรคอื่น นายอนุทินหัวเราะแล้วถอนหายใจก่อนตอบว่า 60 วัน คงเทียบกับทำงาน 4 ปีไม่หรอก ซึ่งคำพูดดังกล่าวเห็นทัวร์ไปลงเยอะพอสมควร ดังนั้นการออกมาให้ความเห็นต่างๆ ในช่วงนี้ก็ควรต้องระวัง แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นเรื่องของนายเศรษฐาและพรรค พท. ไม่ใช่ปัญหาของตน และไม่กล้าบอกว่าใครผิดใครถูก แต่ละคนก็ต้องมีสไตล์การทำงานของตัวเอง แต่ต้องไม่ก้าวก่าย ไม่ให้ร้ายป้ายสีกัน

นายอนุทินยังกล่าวว่า ในวันที่ 14 พ.ค. จะไปรอผลเลือกตั้งที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อขอบคุณประชาชนในเขตเลือกตั้งต่างๆ และให้กำลังใจผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ส่วนจะได้ตามเป้าหรือไม่ได้ ก็เป็นคนแบบนี้อยู่แล้ว ถ้ามีบทบาทก็ทำงาน ถ้าไม่มีบทบาทก็ไปทำอีกบทบาทหนึ่ง

เมื่อถามว่า หากคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาวันที่ 14 พ.ค. จะทำให้เห็นทิศทางจับขั้วของพรรค ภท.หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งก่อนเห็นตัวเลข 3-4 ทุ่ม โทรศัพท์ก็เริ่มดังกันแล้ว แต่ท่าทีชัดเจนคงยังไม่มี ต้องรอตัวเลขอย่างเป็นทางการของ กกต. และอยู่ที่การรับรองของ กกต. ซึ่งบอกมาแล้วว่าไม่เกิน 60 วัน ครั้งก่อนก็เกือบ 60 วัน

 “การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยมันมีไม่ได้อยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่วันเลือกประธานสภา ซึ่ง ส.ว.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าใครตั้งตำแหน่งประธานสภาฯ ได้ก็เป็นแนวโน้มจะไปทางกลุ่มก้อนนั้นแล้ว”นายอนุทินกล่าว

เตรียมร้อง ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี

นายประเสริฐกล่าวว่า พรรค พท.เตรียมจัดปราศรัยใหญ่โค้งสุดท้าย ภายใต้ชื่องานว่า “เลือกเพื่อไทยแลนด์สไลด์ ประเทศไทยเปลี่ยนทันที” ในวันที่ 12 พ.ค. ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี  ซึ่งผู้ที่จะมาร่วมปราศรัยภายในงานได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ที่จะปราศรัยในประเด็นอนาคตของประเทศไทยภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย และนายเศรษฐา ที่จะปราศรัยถึงทางออกที่จะหลุดพ้นจากความมืดมน รวมทั้งแกนนำพรรค โดยงานจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป  และในวันที่ 13 พ.ค. พรรคจะปล่อยรถคาราวานรณรงค์การเลือกตั้งในโค้งสุดท้ายในพื้นที่ กทม. 5 จุด ตั้งแต่เวลา 09.29-16.00 น.

ขณะเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า ได้ตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าเชื่อว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. และแคนดิเดตนายกฯ ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น จึงต้องการให้ กกต.ตรวจสอบ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

“ขอให้ กกต.รีบตรวจสอบยืนยันข้อมูลจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยด่วน ว่านายพิธาถือหุ้นจำนวนดังกล่าวมาตั้งแต่เมื่อใด หากถือก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 จะเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมาก่อนหรือไม่ การเป็น ส.ส.ที่ผ่านมาจะชอบหรือไม่ และเมื่อย้อนไปตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ที่แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.62 นายพิธาแจ้งเงินลงทุนไว้ 45 รายการ แต่ไม่พบลงทุนในหุ้นบริษัท ไอทีวีฯ แต่อย่างใด โดยในวันที่ 10 พ.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. จะไปยื่นหนังสือที่ กกต.ด้วยตนเอง” นายเรืองไกรกล่าว

นายพิธาทวีตข้อความชี้แจงเรื่องนี้ว่า    ไม่มีความกังวล เพราะไม่ใช่หุ้นของตนเอง เป็นของกองมรดก และมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ป.ป.ช.ไปนานแล้ว

นายพิธาระบุว่า ทีมกฎหมายพร้อมชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการทลายทุนผูกขาดในประเทศนี้ 

“ขณะนี้พรรคก้าวไกลมาแรงที่สุดย่อมเป็นธรรมดาที่จะถูกสกัด แต่ขอให้ผู้สมัคร ทีมงาน หัวคะแนนธรรมชาติ และประชาชนผู้สนับสนุนทุกคนอย่าหวั่นไหว อย่าเสียสมาธิกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ขอให้ทุกคนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีอะไรจะมาขัดขวางก้าวไกลเราได้อีกแล้ว” นายพิธาระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี