สั่งสกัดโควิดระบาดช่วงเปิดเทอม

นายกฯ ติดตามสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่อง ห่วงใยประชาชนทุกกลุ่ม แม้องค์การอนามัยโลกประกาศยุติภาวะฉุกเฉินแล้ว แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบาง กำชับ ศธ.-สธ.ร่วมกันวางแนวปฏิบัติ ป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียนช่วงเปิดเทอม สธ.เร่งรวมยอดฉีด "วัคซีนคู่" คาดอัตราฉีดเพิ่มขึ้นหลังคนตื่นตัว ยังไม่มีผู้ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันจันทร์ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชนต่อกรณีโควิด-19 ที่แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค.66 แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ยังแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังการปฏิบัติตัวและรับวัคซีนป้องกันเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากข้อมูลศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก คือ ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และ ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับการตอบสนองของโควิด-19 ประจำองค์การอนามัยโลก ชี้แจงภายหลังองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค.66 โดยอธิบายไว้ดังนี้

1.ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากโลก (eradication) หรือหมดไปจากท้องถิ่น (elimination)ได้ เพราะโคโรนา 2019 สามารถติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน และจากคนกลับสู่สัตว์ (zoonotic infection) จึงยากมากที่จะกำจัดไวรัสที่แพร่ระบาดในสัตว์และข้ามไปมาในคน 2.องค์การอนามัยโลกยังถือว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น (Endemic) 3.การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ใช่โรคที่ระบาดตามฤดูกาล (Seasonal infectious disease) เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่พบรูปแบบการระบาดในแต่ละช่วงของปี ดังนั้น หากไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เมื่อใด ก็สามารถเกิดการระบาดได้เมื่อนั้นในทุกช่วงของปี 4.ยังไม่มีข้อมูลพอเพียงในขณะนี้ที่จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม หรือความถี่ห่างในการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น แต่ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีการระบาดของโควิด-19

 “นายกรัฐมนตรีห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด-19 ได้ติดตามสั่งการ ประเมิน คาดการณ์สถานการณ์ และปรับการทำงาน ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความห่วงใยประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยและในโลกจะดีขึ้นมากแล้วตามลำดับ แต่รัฐบาลไม่ได้ลดความเข้มข้นของการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด เพื่อความสุขและความมั่นคงของประชาชนไทยทุกคน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เข้ารับวัคซีนเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศ” นายอนุชากล่าว 

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงที่โรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศทยอยเปิดภาคเรียน นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน จึงได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันวางแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงโรคทางเดินหายใจอื่นๆ  เช่นโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นมา มีการพบจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ประกอบกับระยะนี้กำลังใกล้เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของไวรัส  

อีกทั้งปัจจุบันได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และประชาชนกลับมาชีวิตใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติมาก นายกฯ จึงเห็นว่าควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้สถานศึกษา อาทิ ขั้นตอนการคัดกรองก่อนเข้าเรียนหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ การคัดแยกเด็กที่ป่วย การดูแลสิ่งแวดล้อม สถานที่ อุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน ของเล่นและเครื่องเล่นต่างๆ การจัดจุดบริการล้างมือด้วยน้ำ สบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น

 “ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นต้นมา ได้พบว่าในไทยได้มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ดังนั้นควบคู่กับการรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามรอบ ท่านนายกฯ ได้กำชับให้กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันมีคำแนะนำ ข้อปฏิบัติแก่สถานศึกษาทั่วประเทศให้เป็นในแนวทางเดียวกัน เพื่อการดูแลสถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพ” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงผลการ "ฉีดวัคซีนคู่ สู้หน้าฝน" คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่และโควิด ซึ่งคิกออฟไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ช่วงนี้เป็นช่วงก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งประเทศไทยจะพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น สธ.ได้รณรงค์ฉีดวัคซีนคู่ คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ที่กำหนดเป็นวัคซีนประจำปีให้กลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราเข้ามารับวัคซีนมากขึ้น เพราะประชาชนตื่นตัวเรื่องไข้หวัดใหญ่และสายพันธุ์โควิดที่เปลี่ยนแปลง แต่กรมควบคุมโรคกำลังรวบรวมข้อมูลการฉีดอยู่ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่มีรายงานผู้ได้รับผลกระทบหลังจากการรับวัคซีนทั้งสองชนิด

 “ช่วงหลังการฉีดวัคซีนของไทยเริ่มชะลอตัว ไม่เหมือนในช่วงแรกๆ เพราะประชาชนก็คิดว่าตัวเองฉีดวัคซีนเยอะแล้ว แต่ยังขอย้ำว่าวัคซีนโควิดและไข้หวัดใหญ่ เราฉีดปีละ 1 เข็ม จึงอยากให้ประชาชนเข้ามารับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ส่วนเรื่องการเข้าถึงวัคซีน กรมควบคุมโรคได้จัดบริการให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน โดยสามารถมารับวัคซีนได้ที่ รพ.อำเภอทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นพ.ธเรศกล่าว

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ประเทศไทยรายสัปดาห์ ข้อมูลระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-6 พ.ค.66 มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาใน รพ. 1,699 ราย เฉลี่ยวันละ 242 ราย ผู้เสียชีวิต 10 ราย เฉลี่ยวันละ 1 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบสะสม 219 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจสะสม 113 ราย ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 144,951,341 โดส.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง