ล้อมคอกพระราม3 ‘กทพ.’เตรียมปรับ สัญญาผู้รับเหมา

การทางพิเศษฯ สั่งเบรกงานผู้รับเหมา 7 วัน เร่งสอบเหตุคานทางด่วนพระราม 3 หล่นทับคนงานเสียชีวิต ล้อมคอกความปลอดภัย เตรียมปรับปรุงสัญญาจ้างผู้รับเหมา เล็งเพิ่มโทษหากมีอุบัติเหตุปรับ 1 ล้านบาท ประกันสังคมชดเชย 1.2 ล้านผู้เสียชีวิต

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงกรณีคานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) จากการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 2  หล่นในขณะติดตั้งว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ตัวแทนบริษัทรับเหมาโครงการดังกล่าวหยุดปฏิบัติงาน 7 วัน เพื่อเร่งตรวจสอบรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ กทพ.ยังประสานให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เข้าพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดเพื่อพิจารณาโทษตามกฎหมายต่อไป รวมถึงยังได้กำชับให้บริษัทผู้รับจ้างต้องดูแลเยียวยาผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ กทพ.จะดำเนินการยกเครื่องระบบความปลอดภัย เป็นการปรับปรุงแก้ไขเชิงมาตรการและแนวทางป้องกัน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในทุกโครงการก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรสัญจรไปมา ทั้งโครงการในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกผู้รับจ้าง การปรับปรุงสัญญาจ้างให้เน้นมาตรฐานการปฏิบัติของผู้รับจ้างที่เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน รวมถึงบทลงโทษที่สูงขึ้น อาทิ กรณีเกิดอุบัติเหตุอาจมีการปรับ 1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความรัดกุมรอบคอบในการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ดี กทพ.ต้องขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บ รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

สำหรับบริษัทรับเหมาโครงการที่รับผิดชอบในพื้นที่โครงการ คือ กิจการร่วมค้าซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท China Harbour Engineering Company Limited, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง โดยเป็นผู้รับเหมาส่วนของสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร วงเงินโครงการ 6,440 ล้านบาท

ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เข้าตรวจสอบพื้นที่้เกิดเหตุ เบื้องต้นพบว่าเกิดจากสลิงเครนยึดตัวคานหลุด จนทำให้คานหล่นลงมาพร้อมกับคนงานทั้ง 2 รายที่ยืนอยู่บนคาน ขณะนี้กำลังเตรียมเรียกบริษัทผู้รับเหมาและการทางพิเศษฯ มาพูดคุยเพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งการทางพิเศษฯ ได้สั่งระงับการก่อสร้างไว้ 7 วัน โดยต้องตรวจสอบว่าบริษัทผู้รับเหมาและการทางพิเศษฯ ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานอย่างครบถ้วนหรือไม่ และอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของคนงานหรือเกิดจากอุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่อง

ขณะที่ผู้เสียชีวิตในฐานะที่เป็นผู้ประกันตน จะมีเงินชดเชยจำนวน 1,213,669 บาท โดยสำนักงานประกันสังคมจะดูแลเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตตามระเบียบของประกันสังคมต่อไป ส่วนพนักงานสอบสวน สน.ท่าข้ามยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ใด ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนที่รถยนต์ได้รับความเสียหาย ได้ติดต่อบริษัทประกันภัยเข้ามาลงบันทึกประจำวัน พร้อมเตรียมเจรจาชดใช้ค่าเสียหายจากบริษัทผู้รับเหมาแล้ว 4 ราย จากทั้งหมด 5 ราย ส่วนอีกรายยางแตกไม่ติดใจเอาความ

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปตรวจสอบพยานหลักฐานในเบื้องต้นในเรื่องมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน และจะมีหนังสือเชิญให้นายจ้างมาพบในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคมนี้ เพื่อสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และตรวจสอบว่านายจ้างมีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตรายจากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ.2564 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ.2564 หรือไม่ หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการประกันสังคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 7 และ 10 ตรวจสอบ พบว่าผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายวรวุฒิ พานนนท์ อายุ 54 ปี เป็นผู้ประกันตน ซึ่งเบื้องต้นทายาทจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน เป็นค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,092,000 และเงินบำเหน็จชราภาพ 71,669.27 รวมทั้งสิ้น 1,213,669.27 บาท

ในส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 1 ราย คือ นายพลากร วงษ์นอก มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านแล้ว ซึ่งหากพบว่าเป็นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับจากกองทุนเงินทดแทน โดยจะได้รับค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวร้อยละ 70 ของค่าจ้าง รวมถึงค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง