ร่ายยิบกฎเข้มวันเลือกตั้ง

เปิดกฎเหล็ก 5 ข้อ กกต. ห้ามทำในวันเลือกตั้ง ซื้อขาย แจก จ่ายสุรา พนันขันต่อผลเลือกตั้ง ยันขนคน มีทั้งโทษจำคุกและปรับ ส่วนผลโพลห้ามเผยแพร่เริ่มนับ 7 พ.ค. จนถึงปิดหีบลงคะแนน ด้าน ศลต.ตร.เปิด 5 ข้อควรระวังในคูหาเลือกตั้งเช่นกัน

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 14 พฤษภาคม และวันเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ดังนี้

1.ห้ามผู้ใดขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยบทบัญญัตินี้ใช้บังคับกับวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าด้วย

2.ห้ามผู้ใดเล่นหรือจัดให้เล่นการพนันขันต่อเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้เล่น 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้จัดให้มีการเล่น

3.ห้ามผู้ใดเปิดเผย หรือเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนการเลือกตั้ง ในระหว่าง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงเวลาปิดการลงคะแนนการเลือกตั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 17.00 น.) มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ห้ามมิให้ผู้สมัครผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปยังที่เลือกตั้ง หรือนำกลับไปจากที่เลือกตั้ง หรือจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปหรือกลับเพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารยานพาหนะหรือค่าจ้าง ซึ่งต้องเสียตามปกติ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง เพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่การที่หน่วยงานของรัฐจัดยานพาหนะเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

5.ห้ามผู้ใดดำเนินการหรือยินยอมให้มีการย้ายบุคคลใดเข้ามาในทะเบียนบ้านของตนเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ส่วนความผิดเกี่ยวกับการลงคะแนน คือ 1.ห้ามผู้ใดกระทำการเพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิได้ หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ หน่วยเลือกตั้ง หรือไม่ให้ไปถึง ณ ที่เลือกตั้งภายในเวลาที่จะออกเสียงลงคะแนน มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

2.ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเลือกตั้งไว้แล้ว หรือแสดงบัตรเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนไว้แล้วให้ผู้อื่นทราบ ว่าได้ลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนน มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ขณะที่ความผิดเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง ส.ส. มีดังนี้

3.ห้ามไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง หรือจงใจทำเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตไว้ที่บัตรเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

4.ผู้ใดจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุด หรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังกล่าวถึงเรื่องร้องเรียนในการเลือกตั้งว่า ขณะนี้มีร้องเรียนมาทั้งหมด 87 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการซื้อเสียง หลอกลวง และการกล่าวหาผู้สมัคร ยอมรับว่าได้มีการตรวจสอบในบางเรื่องแล้วไม่มีมูลข้อเท็จจริง จึงปัดตกข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่ปัดตกส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. ร่วมในภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ในด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ทำหน้าที่โฆษก ศลต.ตร. ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้า ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ให้ระมัดระวังการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 5 ข้อ ดังนี้

1.นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

2.ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองลงคะแนนแล้ว ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

4.จงใจทำบัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือจงใจทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

และ 5.นําบัตรที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้เลือกหรือไม่เลือกผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

โฆษก ศลต.ตร.กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศลต.ตร. ขอเชิญชวนให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามวันและเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุ่มเสี่ยง หรือมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ห้ามจำหน่าย จ่าย แจก หรือจัดเลี้ยงสุราทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ถึง 18.00 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2666

อย่างไรก็ตาม หากท่านพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง  สามารถแจ้งตำรวจได้ที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง หรือ โทร.191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสายด่วน กกต. 1444.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง