กกต.ได้รับหนังสือ ครม. ขอไฟเขียวอุ้มค่าไฟแล้ว จ่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม ย้ำเร่งไม่ได้ต้องเป็นไปตามคิว กกร.ชี้สินค้าส่อขยับรอบ 2 หลังต้นทุนค่าไฟพุ่งแรง หวั่นภัยแล้งซ้ำเติม เล็งร่อนหนังสือถึงนายกฯ รับมือ “พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ เม.ย.66 เพิ่ม 2.67% ชะลอตัวต่อเดือนที่ 4 ต่ำสุดรอบ 16 เดือน
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบกลางจำนวน 10,464 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือลดภาระค่าไฟฟ้ารอบเดือนในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนว่า ขณะนี้สำนักเลขาธิการ ครม.ได้ส่งหนังสือกลับมายังสำนักงาน กกต.เรียบร้อยแล้วในช่วงบ่ายวันที่ 3 พ.ค. เบื้องต้นสำนักงานจะต้องตรวจสอบว่า ครม.ได้มีการทำตามเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ ทั้งตรวจสอบและวิเคราะห์เนื้อหาเหตุผล ความจำเป็น เพื่อประกอบความเห็นนำเสนอให้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณา
โดยสำนักงาน กกต.จะต้องนำไปบรรจุในระเบียบวาระการประชุม กกต. ซึ่งเป็นไปตามลำดับในวาระการประชุม ไม่มีการเร่งหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ส่วนจะพิจารณาในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่นั้น ไม่ทราบ ต้องไปดูลำดับเรื่องพิจารณาที่อยู่ในวาระการประชุม กกต.ก่อนหน้ามีมากน้อยแค่ไหน ส่วนจะอนุมัติตามที่ ครม.เสนอหรือไม่ หรืออนุมัติวันไหน ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กกต. ไม่สามารถให้คำตอบแทน กกต.ได้
ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย ส.อ.ท., สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ณ เดือน พ.ค. ยังคงการคาดการณ์เดิมว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.0-3.5% ตัวเลขการส่งออกติดลบที่ 1.0-0.0% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7-3.2% ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 มีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคน ทำให้จีดีพีช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะเดียวกันภาวะต้นทุนยังอยู่ในระดับสูง และอาจปรับตัวลงช้า ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังทรงตัวในระดับสูง และมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทย ที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า ผลกระทบจากราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ ต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่อาจซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยด่วนที่สุด เพื่อขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว
“ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเฉลี่ยประมาณ 5-10% ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ที่ปรับอยู่ที่ระดับ 4.70 บาทต่อหน่วย ส่งผลต่อราคาสินค้าบางประเภทที่ปรับขึ้นบ้างแล้ว อยากฝากเรื่องถึงกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามราคาสินค้าให้อยู่ระดับเหมาะสม ซึ่งที่กระทรวงพาณิชย์สามารถดูแลได้แน่นอนคือสินค้าควบคุม แต่สินค้าที่ควบคุมไม่ได้ อยากขอร้องให้ปรับราคาอย่างเหมาะสมต่อต้นทุนผู้ประกอบธุรกิจ และคำนึงถึงรายจ่ายของประชาชนด้วย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันสูงขึ้น มีการปรับราคาสินค้าแล้ว 1 ครั้ง และขณะนี้จะมีการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 2 จากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต" นายเกรียงไกรระบุ
ที่กระทรวงพาณิชย์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.2566 เท่ากับ 107.96 เทียบกับ มี.ค.2566 เพิ่มขึ้น 0.19% เทียบกับเดือนเม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 2.67% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับจากธ.ค.2564 ที่อยู่ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.17% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าในหมวดอาหารที่ราคาชะลอตัว และฐานราคาในเดือนเม.ย.2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 3.58% ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนเม.ย.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 1.66% เมื่อเทียบกับเม.ย.2565 รวม 4 เดือนเพิ่มขึ้น 2.09%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน พ.ค.2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ไม่น่าจะถึง 2% อาจจะเห็น 1% กว่าๆ เพราะฐานราคาเดือนพ.ค.2565 ค่อนข้างสูง ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมามาก ราคาสินค้าและบริการเริ่มทรงตัว และบางรายการชะลอตัวและลดลง และค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.2566 ปรับลดลงเหลือหน่วยละ 4.70 บาท ซึ่งมีส่วนช่วยให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ไม่น่าจะสูงขึ้น และอาจจะทำสถิติต่ำสุดอีก แต่ต้องจับตาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เช่น ก๊าซหุงต้มที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ ปัญหาภัยแล้งกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ที่ระหว่าง 1.7–2.7% ค่ากลาง 2.2% โดยประเมินว่าเงินเฟ้อนับจากเดือน พ.ค.2566 เป็นต้นไป จะเริ่มลดลง และชะลอตัวลงต่อเนื่องถึงปลายปี ทำให้เงินเฟ้อลดลงกลับมาสู่กรอบเป้าหมาย แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค.ก็จะมีการทบทวนตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท