‘พิธา-เพื่อไทย’อ่วม 2นักร้องบี้ปมงานศพพ่อ พปชร.ตามขยี้เงินดิจิทัล!

2 นักร้องลุยขยี้ปม “พิธา”   บิดเบือนข้อมูลมางานศพพ่อช่วงรัฐประหาร 49 “ศรีสุวรรณ” ขอ กกต.เชือดข้อหาหลอกลวง โทษหนักตัดสิทธิการเมือง 20 ปี “เรืองไกร” จี้สอบโดยเร็ว  “สนธิญา” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลยุบ พท.ชูแจกเงินดิจิทัล

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ดำเนินการไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.66 ประเด็นเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมางานศพพ่อในช่วงของการทำรัฐประหารเมื่อปี 49

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ได้นำหลักฐานเป็นคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ผ่านรายการของนายสรยุทธ และคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ผ่านรายการของนางสุริวิภา กุลตังวัฒนา เมื่อปี 52 มาเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ได้แก่ 1.อ้างว่าตัวเองเป็นข้าราชการ อยู่ในคณะทำงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกัน ให้สัมภาษณ์กับนางสุริวิภา กลับระบุว่าเป็นนักศึกษาอยู่ในกรุงบอสตัน 2.เคยถูกควบคุมตัวที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ไม่สามารถกลับไปทันงานศพของพ่อได้ แต่ให้สัมภาษณ์กับนางสุริวิภาว่า อยู่ที่ดอนเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแค่ 4-5 ชม. และกลับไปร่วมงานศพของพ่อทัน และ 3.ในช่วงนั้นถูกระงับบัญชี 2-3 เดือน จนไม่สามารถหาเงินมาทำบุญศพพ่อได้ แต่ในรายการของนางสุริวิภาไม่ได้พูดถึง

นายศรีสุวรรณระบุอีกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตผู้แทนการค้าไทยสมัยรัฐบาลนายทักษิณ   ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีการควบคุมตัว  เพียงแต่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบตามปกติ และปล่อยกลับบ้านทุกคน ฉะนั้น การให้สัมภาษณ์ของนายพิธา ในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. เห็นว่านายพิธาพยายามแต่งเรื่องขึ้นมาหรือไม่ เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจ สร้างความสงสาร และใส่ร้ายไปทางฝ่ายความมั่นคงหรือทหาร ว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ ทำให้เกิดคะแนนนิยมของพรรคตนเอง

นายศรีสุวรรณกล่าวด้วยว่า เรื่องนี้เป็นข้อห้ามอย่างชัดเจนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73 (5) ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงโดยวิธีการหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจในคะแนนนิยมของตนเองหรือพรรคการเมืองที่ผิดไป

“เรื่องนี้นายพิธาได้กระทำเอง และพรรคก้าวไกลได้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทหาร โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ ดังนั้น คำพูดของนายพิธา ต้องการสื่อให้เห็นว่าตนเองออกมาต่อต้านกองทัพอย่างชัดเจน จึงหยิบยกประเด็นการทำรัฐประหารเมื่อปี 49 ในช่วงที่มางานศพของพ่อ มองว่าเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จึงนำเรื่องมาร้องให้ กกต.ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย ว่าเข้าข่ายความผิดตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ถ้า กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายความผิด จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และถูกตัดสิทธิทางการเมืองอย่างน้อย 20 ปี” นายศรีสุวรรณย้ำ

วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมายื่นหลักฐานต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบกรณีเดียวกัน โดยนายเรืองไกร​เปิดเผยว่า จำเป็นต้องมายื่นร้องเรียน เพราะกรณีดังกล่าวเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และต้องการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะเกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองที่หาเสียง ซึ่งได้ยื่นให้ตรวจสอบทั้งสิ้น 4 ประเด็น ประเด็นแรก เรื่องที่นายพิธา อ้างว่านายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ความจริงแล้วขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของนายทักษิณ

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง นายพิธาบอกว่าคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.49 ขณะที่นายพิธา ได้โชว์ภาพกระดานงานศพ กำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.49 โดยมีเจ้าภาพเป็นภรรยาและบุตร ประเด็นที่สาม นายพิธาบอกว่าตนทำงานเป็นข้าราชการการเมือง ช่วยงานนายสมคิดในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ แต่นายพิธา ชี้แจงว่า ขณะนั้นตนเรียนหนังสือที่บอสตัน ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน และประเด็นที่สี่ นายพิธาบอกว่า ตนเองถูกอายัดเงินในบัญชี 2-3 เดือน และไม่สามารถนำเงินมาจัดงานศพคุณพ่อได้  แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการควบคุมบัญชีต้องผ่านคำสั่งของ คมช. ซึ่งขณะนั้นตนทำงานอยู่ที่ สตง. ไม่เคยเห็นรายชื่อของนายพิธาเข้าข่ายโครงการที่จะต้องตรวจสอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาแบบนี้ไม่ได้เป็นการสกัดกระแสของพรรคก้าวไกลที่กำลังนำอยู่ขณะนี้ใช่หรือไม่ นายเรืองไกรปฏิเสธว่า ไม่ได้ห่วงเรื่องกระแส ถ้านายพิธาไม่ได้พูดกับนายสรยุทธวันนั้นก็ไม่เกิดประเด็น แต่พอเห็นที่นายพิธามาแก้ต่างด้วยภาพในโทรศัพท์มือถือและอ้างข่าว ตนจึงนำข่าวมายันกลับว่าสิ่งที่พูด ข้อเท็จจริง อะไรใช่หรือไม่ใช่ กกต.คงเรียกมาสอบ ซึ่งหลักฐานเอกสารตนไม่ได้แต่งเติมข้อความที่เป็นเท็จแต่อย่างใด ว่ากันไปตามระบบ ใครทำผิดทำพลาดอะไรต้องยอมรับกติกา

เมื่อวันศุกร์ ที่ที่ทำการพรรค พปชร. นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจกรรมและการปราศรัยหาเสียง กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายจะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนที่ไทยเป็นเงิน 560,000 ล้านบาทว่า ตอนนี้หลายฝ่ายได้ไปยื่นหนังสือต่อ กกต.เพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยแล้ว เนื่องจากมีประเด็นทางข้อกฎหมายอีกหลายข้อ สอดคล้องกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยืนยันเลยว่าเงินดิจิทัลภาคประชาชนยังอยู่ในช่วงทดลองศึกษา โดยไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบ

รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า นโยบายแจกเงินดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หวังใช้เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงมากกว่า เหมือนแนวประชานิยมสุดโต่ง แจกเงิน หวังมัดใจคนไทยเพื่อออกไปเทคะแนนให้กับพรรคตัวเอง แต่เชื่อว่าจะเกิดผลเสียตามมาในอนาคตแน่นอน เพราะเริ่มต้นก็สอนให้ประชาชนเคยชินแบมือขอจากรัฐ แทนที่จะสอนให้ประชาชนสามารถจับปลาได้ด้วยตัวเอง

“กกต.ต้องเร่งรับเรื่องร้องเรียน เพราะเงินดิจิทัลที่พรรคเพื่อไทยจะแจกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 6 มาตรา 9 และมีโทษตามมาตรา 35 หรือไม่ โดย กกต.ต้องเร่งรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวโดยด่วน และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป” นายวิรัชระบุ

ส่วน​ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  นายสนธิญา สวัสดี เดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายอาจณรงค์ พุ่มงาม ผอ.ส่วนตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกลาง สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาและมีความเห็นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (2) (3) หรือไม่

โดยนายสนธิญากล่าวว่า การประกาศนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทย 55 ล้าน โดยระบุใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ตนเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล และเกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว และไม่เชื่อมั่นการทำงานของ กกต. เพราะกกต.ไม่ได้ออกมาเปิดเผยว่านโยบายเหล่านี้ของพรรคการเมือง มีการจัดทำเรื่องความคุ้มค่า ความเสี่ยง ที่มาของงบเป็นอย่างไร ขณะที่พรรคการเมืองเอง เมื่อประกาศนโยบายแล้วก็ไม่มีการให้รายละเอียดเรื่องนี้ต่อประชาชนอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักในการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ก. (2) จึงควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

นายสนธิญาระบุว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะไปเข้าลักษณะตามมาตรา 21 มาตรา 22 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  ที่กำหนดให้กรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ควบคุม ดูแลรับผิดชอบการดำเนินกิจกรรมและการดำเนินนโยบายของพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เมื่อกรรมการบริหารพรรคไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จะถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 ของกฎหมายเดียวกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง