พท.ซัด‘กกต.’ พิมพ์บัตรเกิน กว่า7ล้านใบ!

เพื่อไทยปูด กกต.พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 7.3 ล้านใบ แนะประชาชนข้อร้องเรียนพบเห็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตการเลือกตั้ง ผอ.กกต.โคราช เผยกำลังสอบคลิปแจกเงิน 100 บาทพร้อมโบรชัวร์ผู้สมัคร ส.ส. "วิรัช" โวยพลังประชารัฐถูกจัดฉาก

เมื่อวันที่​ 28 เมษายน 2566​ ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค พท. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคและ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง ส.ส.พรรค พท.ร่วมแถลงข่าวแต่งตั้งกลุ่มงานกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย

 โดยนายชูศักดิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. พรรค พท.ตระหนักดีว่าเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงได้ตั้งศูนย์ป้องกันการทุจริตเลือกตั้งพรรค พท.ขึ้น โดยมี 3 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1.ป้องกัน ปราบปราม ไม่ให้การเลือกตั้งส่อไปในทางทุจริต ให้ประโยชน์ แจกเงินซื้อเสียง ฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของ กกต. 2.การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ 3.การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ เป็นไปโดยถูกต้อง วางตนเป็นกลางหรือไม่ วางตนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ โดยเฉพาะเข้าข้างเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้อำนาจในขณะนี้

ด้านนายประเสริฐกล่าวว่า กระบวนการดำเนินการการเลือกตั้งในขณะนี้ กกต.ต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องรอบคอบ แต่ที่ผ่านมาปรากฏว่ายังพบความบกพร่องผิดพลาดอยู่หลายประการ เช่น การส่งข้อมูลสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเกิดความผิดพลาด การสลับรูปผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค พท.และพรรคการเมืองอื่น หรือการวางกรอบภาพผู้สมัครของพรรค พท.และการจัดหน้าผิด ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้น พรรค พท.จึงส่งหนังสือถึง กกต.ในวันนี้ เพื่อสอบถามการเตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้า และขอให้พรรคการเมืองเข้าไปสังเกตการณ์การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้ง การจัดส่งบัตรเลือกตั้ง การเก็บรักษาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า การเก็บรักษาบัตรปกติ และขอทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า ยังมีข้อสังเกตว่ามีการพิมพ์บัตรเลือกตั้งจำนวนที่สูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในปี 2566 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ที่ 52,287,045 คน แต่จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ และมีการพิมพ์เพิ่มสำรองอีก 5% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มอีก 2.6 ล้านใบ รวมพิมพ์บัตรเลือกตั้งเพิ่มเติมทั้งสิ้น 7.3 ล้านใบ บัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้ใช้ จะต้องมีการตรวจนับว่าครบตามจำนวนที่กำหนดมาหรือไม่ด้วย และหากประชาชนมีข้อร้องเรียนพบเห็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตการเลือกตั้ง

วันเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ระพีพงษ์ จิรพัฒนาลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปภาพการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กล่าวหาว่ามีการแจกเงินซื้อเสียงกันในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 7 นครราชสีมา โดยมีการจ่ายเงินเป็นค่าอะไรยังไม่ทราบ พร้อมกับมีใบแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองหนึ่งนั้น ขณะนี้ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูล และได้ส่งชุดเคลื่อนที่เร็วออกไปตรวจสอบแล้ว พร้อมกับประสานงานไปยังตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาให้ร่วมตรวจสอบด้วย ซึ่งต้องขอเวลาในการตรวจสอบ และต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย

"ขณะนี้ กกต.กำลังดำเนินการอยู่ โดยในชั้นนี้ก็ต้องถือว่าผู้สมัคร ส.ส.ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และทราบว่าทางผู้สมัคร ส.ส.ได้เข้าแจ้งความว่าถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัย กกต.ก็จะเรียกผู้สมัคร ส.ส.มาสอบถามหรือให้ข้อมูลด้วย จากนั้นก็จะวินิจฉัย และดำเนินการตามระเบียบอย่างตรงไปตรงมา" พ.ต.ท.ระพีพงษ์กล่าว

ขณะที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า ได้แจ้งกับผู้สมัคร ส.ส.ให้ดำเนินการแจ้งความแล้ว ก่อนที่จะมีคลิปเผยแพร่ออกมา 1 วัน เพราะทราบว่ามีการจัดฉากในการถ่ายคลิป มีการจัดฉากในการเรียกคนมา มีการปิดหน้าปิดตา และมีการนําโบรชัวร์มาเหน็บคู่กับเงิน 100 บาท ถือเป็นการสร้างฉากชัดเจน และต้องการให้คนถ่ายรูปเพื่อให้เห็นเงินอย่างชัดเจน อีกทั้งมีการส่งคลิปไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากการแจ้งความ ตนได้ให้ผู้สมัครไปที่ กกต.เพื่อให้ทาง กกต.พิจารณา ทาง กกต.แจ้งว่ามีเรื่องนี้อยู่แล้ว เราเพียงแต่ไปให้การกับ กกต. อย่างไรก็ตาม จากนี้ต้องรอทาง กกต.ว่าจะพิจารณาอย่างไร 

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ​(กกต.)​ ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ในการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและการป้องกันปราบปรามการทุจริต โดยมีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์​ รวมจำนวน 2,113 คน ประกอบด้วย ผู้ตรวจการเลือกตั้ง จำนวน 423 คน ชุดเคลื่อนที่เร็ว 400 ชุด ประจำ 400 เขตเลือกตั้ง จำนวน 1,239 คน ผู้บริหารกลุ่มภารกิจสืบสวน ไต่สวน วินิจฉัย และดำเนินคดีในศาลและชุดปฏิบัติการข่าว (ส่วนกลาง) 11 ชุด ชุดละ 3 คน จำนวน 66 คน ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จำนวน 77 คน รองผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร จำนวน 77 คน และชุดปฏิบัติการข่าว (ส่วนจังหวัด) 77 ชุด ชุดละ 3 คน จำนวน 231 คน

นายอิทธิพรกล่าวว่า ประชาชนเป็นหัวใจหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หากเราจะเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง มีมาตรการและบทบัญญัติบางอย่างที่จะทำให้ประชาชนมีความกล้าในการเข้ามาทำงาน ช่วยในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ขอให้แกนนำ 5 ประสานต้านทุจริต ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ามีปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้ 

1.การชี้เบาะแสการกระทำ ความผิด ว่ามีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินรางวัล กฎหมายกำหนดว่าถ้ามีผู้ให้เบาะแสที่นำไปสู่การดำเนินการ ในขั้นสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ก็มีสิทธิ์จะได้รับเงินรางวัลตามบัญชีแนบท้ายระเบียบ กกต.

ประการที่ 2 ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่เป็นพลเมืองดีแล้ว สามารถที่จะมาขอให้เราคุ้มครองพยานได้ เพราะอาจหวาดระแวงเกรงกลัวอิทธิพลในพื้นที่ ตอนนี้กฎหมายติดอาวุธให้ กกต. สามารถจัดระบบคุ้มครองพยาน ที่ผ่านมาเราก็ให้การคุ้มครองบุคคลที่ให้ข้อมูลเป็นพยานไปแล้ว ประมาณ 30 กว่าคน

ประการที่ 3 คือ ถ้าหากผิดไปแล้วแต่กลับใจ กกต.อาจจะกันไว้เป็นพยานคดีเลือกตั้ง ซึ่งเราทราบดีว่าหาพยานบุคคลได้ยาก จึงเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีส่วนกระทำความผิด แต่กลับใจ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่สำคัญ ที่นำไปสู่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ กกต.อาจจะพิจารณาการกันบุคคลนั้นไว้เป็นพยานได้ หมายความว่าไม่ต้องรับความผิดในคดีที่ได้กระทำ โดยที่ผ่านมามี 70 คน

นอกจากนี้ ขอย้ำว่ายังมีเรื่องบทบาทและหน้าที่ ข้อมูลข่าวสารที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตาม กฎหมายการเลือกตั้ง มีความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของชุดเคลื่อนที่เร็ว พร้อมกันนี้ได้แนะนำว่าหากต้องการข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง รวดเร็วมาก มีหลายช่องทาง อาทิ บริการสายด่วน 1444.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง