ยอดติดเชื้อรายใหม่ 4,886 ราย เสียชีวิต 43 ราย สัปดาห์นี้ลุยฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส "สธ." รายงานโอไมครอนแพร่เร็ว "ศบค." สั่งตามหานักท่องเที่ยวจากทวีปแอฟริกา 252 รายมาตรวจ RT-PCR กักตัวให้ครบ 14 วัน กทม.พบผู้ประกอบการไร้ SHA แอบขายสุขา 172 แห่ง "กรมวิทย์" ลดค่าตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR เหลือ 1,100 บาท "ภูเก็ต" ตรวจ 130 นักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศเสี่ยง ยังไม่พบใครติดโควิด
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,886 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,715 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,566 ราย ค้นหาเชิงรุก 149 ราย เรือนจำ 165 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,120,758 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,326 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,025,754 ราย อยู่ระหว่างรักษา 74,190 ราย อาการหนัก 1,351 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 340 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 43 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช 5 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 20,814 ราย
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 1 ธ.ค. ได้แก่ กทม. 794 ราย, สงขลา 270 ราย, สุราษฎร์ธานี 240 ราย, นครศรีธรรมราช 204 ราย, ชลบุรี 198 ราย, เชียงใหม่ 171 ราย, สมุทรปราการ 140 ราย, ปัตตานี 119 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 117 ราย, ชุมพร 100 ราย รวมทั้งยังพบคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่ง
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนเมื่อวันที่ 30 พ.ย. มีเพิ่มเติม 566,398 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ทั้งสิ้น 93,536,449 โดส โดยเป้าหมายจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์แห่งการฉีดวัคซีน และหากไปดูตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่งสำหรับประชากรตามสิทธิรักษาพยาบาล ฉีดไปแล้ว 72.22% แต่หากคิดตามประชากรตามทะเบียนราษฎรและประชากรแฝง ฉีดไปแล้ว 67.24% ซึ่งหากไปดูเป็นรายจังหวัด จะพบว่ามี 1 จังหวัดที่ยังฉีดเข็มที่หนึ่งไม่ถึง 50% ของประชากรคือ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ฉีดไปเพียง 45.92%
นอกจากนี้ มีถึง 26 จังหวัดที่ยังฉีดไม่ถึง 60% ของประชากร ได้แก่ ขอนแก่น แพร่ อุบลราชธานี ชัยภูมิ สิงห์บุรี สระแก้ว สตูล ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครนายก ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี ตาก ราชบุรี นครพนม หนองบัวลำภู ลพบุรี ปัตตานี บึงกาฬ สกลนคร และนราธิวาส
"ขอความร่วมมือประชาชนในจังหวัดเหล่านี้ให้เดินทางไปรับการฉีดวัคซีน เพราะถ้าต่ำกว่า 70% จะไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และขณะนี้มีเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอนกำลังเข้ามา อย่างน้อยการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอาการรุนแรงของโรคได้บ้าง" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
หา 252 นทท.ทวีปแอฟริกา
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ขณะที่การเดินทางเข้าราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย. มีทั้งสิ้น 133,061 ราย พบติดเชื้อ 171 ราย หรือ 0.13% โดย 5 ประเทศที่เข้ามามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 14,730 ราย พบติดเชื้อ 21 ราย คิดเป็น 0.14%, เยอรมนี 12,099 ราย ติดเชื้อ 13 ราย คิดเป็น 0.11%, เนเธอร์แลนด์ 8,478 ราย ติดเชื้อ 7 ราย คิดเป็น 0.08%, สหราชอาณาจักร 6,701 ราย ติดเชื้อ 21 ราย คิดเป็น 0.31%, รัสเซีย 5,307 ราย ติดเชื้อ 20 ราย คิดเป็น 0.38%
"จะเห็นว่าแต่ละประเทศที่เข้ามาติดเชื้อไม่ถึง 1% ทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวคุ้มค่าที่จะดำเนินการต่อ เพราะเป็นการนำเงินเข้ามาในประเทศ แต่เมื่อมีสายพันธุ์โอไมครอน เราก็ต้องเข้มงวดมาตรการเหมือนเดิม จากที่จะปรับการตรวจไปเป็น ATK ก็ให้คงการตรวจแบบ RT-PCR เหมือนเดิม เพื่อให้มาตรการเข้มที่สุดในการควบคุมโรค" โฆษก ศบค.กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม อีโอซี กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 1 ธ.ค. มีการรายงานลักษณะของเชื้อกลายพันธุ์โอไมครอน ในเบื้องต้นอาการส่วนใหญ่ยังไม่แตกต่างจากเชื้อที่เคยมีอยู่ มีทั้งอาการปวดเมื่อย แต่ไม่ค่อยเจออาการสูญเสียการรับกลิ่นและรับรส อาการป่วยยังไม่รุนแรง แต่มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว ส่วนความเร็วในการแพร่โรคน่าจะมากและเร็วขึ้น การทวีคูณของผู้ติดเชื้อคาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน รวมถึงความรุนแรงของโรคก็ยังไม่มีหลักฐานข้อมูลยืนยัน จากข้อมูลผู้เชี่ยวชาญบอกว่าวัคซีนยังป้องกันอาการรุนแรงได้
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศไทย จากประเทศเสี่ยงสูง 8 ประเทศนั้น โดยตั้งแต่วันที่ 15-27 พ.ย. มีผู้เดินทางเข้ามาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ 255 คน ออกนอกประเทศไปแล้ว 3 คน คงค้างอยู่ในประเทศ 252 คน ติดตามตัวได้แล้ว 11 คน ขณะนี้ได้มีการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (เอสเอ็มเอส) ตามตัวให้บุคคลเหล่านี้เข้าตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR โดยเร็วที่สุด ไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลของรัฐ และปฏิบัติตามควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด หากสงสัยให้โทรศัพท์สอบถามหมายเลข 1422 ซึ่งหากใครไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ถือว่าละเมิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ให้คุมตัวในที่พักไว้สังเกตการณ์เป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อ สำหรับรูปแบบการกักตัวนั้น จะต้องกักตัวจนครบ 14 วัน และตรวจหาเชื้อ ส่วนกรณีผู้ที่ออกจากสถานกักตัวแล้ว แต่ไม่ครบ 14 วันตามมาตรการลดการกักตัวก่อนหน้านี้ ให้คุมตัวในที่พักให้ครบ 14 วันแล้วตรวจหาเชื้อ ส่วนกรณีเดินทางถึงไทยตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. ทั้งรูปแบบแซนด์บ็อกซ์และกักตัว ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง
"ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไปจะไม่อนุญาตให้คนจาก 8 ประเทศเหล่านี้เดินทางเข้าไทย ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย สำหรับผู้มีสัญชาติไทยที่เดินทางจาก 8 ประเทศ เข้ามาในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 15 -27 พ.ย. แต่ไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายในการกักตัวเองได้ ให้โรงแรมที่กักตัวประสานเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพื่อประสานมายังกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค เพื่อนำเข้ากักตัวต่อในสถานกักกันของสถาบันบำราศนราดูรต่อไป" โฆษก ศบค.กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กทม.ได้ประเมินสถานประกอบการที่จะได้มาตรฐาน SHA พลัสนั้น ได้ตรวจสถานที่ไปทั้งหมด 15,840 แห่ง จำนวนที่ตรวจ 10,161 ครั้ง ซึ่งมี SHA 2,609 แห่ง ไม่มี SHA กว่า 5,000 แห่ง และมีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1,892 แห่ง ไม่มีขายกว่า 6,000 แห่ง และยังมีการรายงานด้วยว่ามีการตักเตือน เพราะมีเหตุเรื่องการดื่มสุรา แต่สถานที่นั้นไม่มี SHA ถึง 172 แห่ง จึงเรียกได้ว่ามาตรฐานตัวเองไม่ถึง แต่แอบขายสุรา นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. มีรายงานว่าได้มีการสั่งปิดไปแล้ว 1 ราย
ค่าตรวจ RT-PCR เหลือ 1.1 พัน
ด้านนายศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนอัตราค่าบำรุงการตรวจวิเคราะห์และให้บริการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 ได้มีมติอนุมัติให้มีการปรับปรุงอัตราค่าตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคโรคติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Real Time RT-PCR โดยปรับลดราคาจากเดิม 1,300 บาท ลดลงเหลือ 1,100 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2564 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวเป็นราคาเฉพาะค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.เป็นต้นมา มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศแอฟริกาเข้ามาในไทยประมาณ 783 ราย ซึ่งตอนนี้พยายามเข้าถึงทั้ง 783 ราย เพื่อไปตรวจเชิงรุกว่าเป็นอย่างไร เราพยายามติดตามตลอด แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งไปตระหนกตกใจ เพราะเจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินการอย่างรวดเร็วร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข
จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบนักท่องเที่ยวต่างชาติเสี่ยงสูง 8 ประเทศจากแอฟริกา ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.64 มีจำนวน 130 คน ได้ติดตามควบคุมโรคในจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่แล็บเดย์ศูนย์ที่สนามบินภูเก็ตยังไม่พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ได้ให้คุมไว้สังเกตอาการ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้คุมไว้สังเกตอาการ
จ.นครศรีธรรมราช นายสุรศักดิ์ วงษ์อำไพวรรณ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสาเภา ปฏิบัติหน้าที่ นายก อบต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มีคำสั่งและประกาศปิดสถานที่ทำงานและให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไปพนักงานจ้างเหมา หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-3 ธ.ค. และจะเปิดทำงานในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ด้วย
มีรายงานว่า ประกาศปิดดังกล่าวมีขึ้นหลังจัดการเลือกตั้ง อบต.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาตรวจพบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 13 คน โดยน่าจะติดมาจากผู้ที่มาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีประชาชนคนอื่นๆ เสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดเพิ่มอีกด้วย จึงขอให้ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ์ตั้งเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก