กกต.พิมพ์โลโก้พรรค4สี

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง กกต.กระหืดกระหอบแจงยิบเปลี่ยนโลโก้พรรคเป็นภาพ 4 สีหมดแล้ว ยันไม่มีการเลือกปฏิบัติ พร้อมติวเข้มอบรมเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมประจำหน่วย เตือนหนักห้ามถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว ขณะที่ ม.รามฯ คนทะลักกว่า 5 หมื่น รอจับปากกาใช้สิทธิ์ล่วงหน้า 7 พ.ค.

เมื่อวันพุธ นายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะที่กำกับดูแลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวชี้แจงกรณีโลโก้บางพรรคการเมืองซีดจาง ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือรายชื่อพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง​ ณ​ ที่เลือกตั้ง ว่าในช่วงการรับสมัครช่วงแรก 3-7 เม.ย. และในช่วงการตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจนถึงวันที่ 14 เม.ย. ทุกเขตทั่วประเทศต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ  ตามระเบียบนั้นต้องปิดประกาศเป็นภาพ 4 สี แต่การติดที่ปรากฏตามข่าวเป็นการติดชั่วคราวระหว่างการจัดทำภาพ 4 สี ซึ่งล่าสุดได้ติดใหม่ตามระเบียบครบทุกเขตแล้ว

"การใช้ระยะเวลาในการพิมพ์ ต้องใช้ระยะเวลา 4-5 วันในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการเว้นระยะห่าง ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือประชาชนทั่วไปควรได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทาง สำนักงาน กกต.กทม.ประสานกับ กกต.ว่า ถ้าเป็นไปได้ให้ปรินต์ภาพสีที่พอทำได้ หรือหากเครื่องมือไม่เอื้ออำนวย อาจเป็นภาพขาว-ดำมาปิดประกาศไว้เป็นการชั่วคราวก่อน โดยบางพรรคโลโก้ก็จาง ไม่ได้เป็นพรรคเดียวหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือเป็นการเลือกปฏิบัติ" นายสำราญระบุ

นายสำราญระบุด้วยว่า ที่โลโก้จาง เพราะพื้นฐานสีโลโก้อาจค่าสีอ่อน โทนแตกต่างกัน ทำให้ปรินต์ขาว-ดำออกมาก็ออกจางๆ ซึ่งเป็นทุกพรรค หากโลโก้มีพื้นฐานค่าสีอ่อน อีกทั้งหากติดแล้วโดนแดดโดนลมหรือโดนฝน ก็อาจทำให้ภาพซีดจางได้ ทันทีที่ได้แบบพิมพ์ 4 สี ให้ กกต.เขตไปเปลี่ยนครบ 100% ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา และช่วงนี้อาจมีฟ้าฝนนอกฤดูกาล อาจจะมีผ้ายางไปปิดคลุมอีกชั้นหนึ่งไม่ให้เปียก

 “และเช่นเดียวกัน กกต.กทม.ได้เปลี่ยนรูปภาพผู้สมัคร นายวัชระ เพชรทอง ในเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในลิงก์เว็บ กกต.แล้ว หลังเจ้าตัวร้องภาพไม่ชัดและซีดจาง ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ พร้อมขออภัยทุกท่านในสิ่งที่เกิดขึ้น ย้ำที่จะแก้ไขให้เท่าเทียมเที่ยงธรรมตามกฎหมายให้เกิดความเสมอภาค” นายสำราญระบุ 

วันเดียวกัน นายสำราญระบุถึงการจัดอบรมวิทยากรเขตเลือกตั้งเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป 14 พ.ค. และเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค.ว่า​ เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสำเร็จและเรียบร้อย ซึ่งในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งจะประกอบไปด้วยกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 9 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 2 คน โดยวิทยากรจะไปถ่ายทอดความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งแก่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย​

นายสำราญระบุว่า โดยในการจัดการเลือกตั้งกลางนี้ จะนำข้อเน้นย้ำจาก กกต. และบทเรียนจากการจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นำมาถ่ายทอดแก่วิทยากรที่จะเผยแพร่ไปยัง กปน. เพื่อที่จะลดข้อผิดพลาดให้ลดน้อยลง โดยทุกกระบวนการขั้นตอนในการจัดการเลือกตั้ง ยืนยันความพร้อม 100% และเชื่อมั่นว่าในวันลงคะแนนเลือกตั้งจะเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้

 “อีกทั้งวันนี้ยังมีการจัดหน่วยเลือกตั้งสาธิตเพื่อให้ความรู้ และ ผอ.พตส. ได้กล่าวถึงความห่วงใยต่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่อาจจะกระทำผิดกฎหมายในคูหาเลือกตั้ง จึงได้มีการติดป้ายข้อห้ามกระทำไว้ในคูหา เช่น การห้ามถ่ายรูปบัตรที่กาลงคะแนนไปแล้ว ซึ่งหากมีการดำเนินการก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยลับ ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือกรณีการฉีกทำลายบัตร เป็นความผิดตามกฎหมายเช่นกัน สิ่งที่เรากังวลไม่ให้ท่านผิดหลงหรือเผอเรอไปกระทำผิด ในเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น นอกจากจะมีเจ้าพนักงานที่จะขอย้ำเตือนแล้ว ยังมีกระดาษข้อความคำเตือนไว้ในคูหาเลือกตั้งด้วย" นายสำราญระบุ

ทั้งนี้ หน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครจะมี 6,327 หน่วย ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตมี 50 หน่วย และนอกเขต 1,620 หน่วย และจะมีบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากต่างจังหวัดที่คน กทม.ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ์ไว้กลับมารวมส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครหลังวันที่ 7 พ.ค.​

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกต.​ได้ชี้แจงกรณีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรหัสเขตเลือกตั้งที่กรอกบนซองใส่บัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร โดยในการส่งจดหมายโดยปกติ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะมีรหัสไปรษณีย์เพื่อสะดวกในการคัดแยกในการนำส่งจดหมายไปทั่วประเทศ ซึ่งมี 928 อำเภอ หรือกว่า 7,000 ตำบล และมีจุดส่งไปรษณีย์อำเภอหลาย​พันจุด

 สำหรับเขตเลือกตั้งนั้น มีทั้งสิ้น 400 เขต จึงมีจุดส่ง 400 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกัน​ในกรณีการลงคะแนนล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง​ เมื่อผู้มาใช้สิทธิรับบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ และทำเครื่องหมายลงคะแนนแล้ว ต้องนำบัตรทั้งสองใบใส่ในซอง ก่อนให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบว่าใส่บัตรเลือกตั้งครบทั้งสองใบหรือไม่

เมื่อกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งตรวจสอบความเรียบร้อยแล้ว จะลงชื่อกำกับตรงรอยต่อปิดผนึกซอง โดยซองดังกล่าวจะต้องมีการจ่าหน้าซอง โดยเขียนชื่อจังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้ง ตามที่ผู้มาใช้สิทธิมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

อีกทั้งกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในบางประเทศได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ชุดนั้น อาจมีสาเหตุมาจากบ้านที่อยู่นั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 คน มีสิทธิเลือกตั้งอยู่คนละจังหวัดและคนละเขตเลือกตั้ง​ ได้แจ้งที่อยู่ในการส่งบัตรเลือกตั้งเป็นบ้านเลขที่เดียวกัน และในการจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังบ้านเลขที่​เจ้าหน้าที่สถานทูตจะจัดส่งตามที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งไว้เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 และลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขตเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนขอใช้สิทธิระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-9 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ภายหลังการปิดรับลงทะเบียน ข้อมูลจากสำนักงาน กกต.ระบุว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนทั้งสิ้น 2,350,969 ราย จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 52,287,045 คน 

โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขตมากที่สุดกว่า 8 แสนคน มีหน่วยเลือกตั้งกลางล่วงหน้านอกเขตทั้งหมด 74 หน่วย และพบว่าหน่วยเลือกตั้งกลางที่มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิมากสุดเป็นลำดับที่ 1 คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หัวหมาก) รวม 5.2 หมื่นคน 2.รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน รวมกว่า  4 หมื่นคน 3.อาคารและเต็นท์บริเวณสำนักงานเขตห้วยขวาง รวม 2.8 หมื่นคน 4. สำนักงานเขตบางเขน รวม 2.6 หมื่นคน

5.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง รวม  2.53 หมื่นคน  6.สำนักงานเขตลาดกระบัง รวม 2.52 หมื่นคน 7.สำนักงานเขตบางนา รวม  2.4 หมื่นคน 8.บริเวณอาคารลานจอดรถ ชั้น G เซ็นทรัลพระราม 2 รวม 2.3 หมื่นคน 9.ลานจอดรถวัดธาตุทอง พระอารามหลวง รวม 2.28 หมื่นคน และ 10.มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม รวม 2.22 หมื่นคน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ยื่นลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ จะต้องไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยจะไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566 ได้อีก หากไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันดังกล่าวได้ จะต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการถูกจำกัดสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ด้านนายณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 หมายเลข 3 จังหวัดหนองบัวลำภู พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรส่งภาพถ่ายเอกสาร ส.ส.4/1 (นร) ซึ่งทาง กกต.ใส่ข้อมูลชื่อพรรคผิดพลาด จากพรรคไทยสร้างไทย เป็นไทยสร้างชาติ ทั้งนี้ เบื้องต้นฝ่ายกฎหมายได้ตรวจสอบแล้วเป็นเอกสารของ กกต.ฝ่ายบริหารเลือกตั้ง โดยจะทำหนังสือสอบถามถึงความผิดพลาดนี้ .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก