สกนช.แย้มข่าวดี "ดีเซล" ส่อลดราคา หลัง "เฟด" เตรียมปรับดอกเบี้ยต้น พ.ค. น้ำมันโลกลงต่อเนื่อง ส่งผลกองทุนฯ ฟื้นตัวติดลบน้อยลง มท.การันตียังไม่ขึ้นค่าน้ำประปา กกพ.ชี้ช่องบิลค่าไฟแพงผิดปกติร้องเรียนได้
เมื่อวันที่ 26 เมษายน นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า กองทุนฯ อยู่ระหว่างติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 2 พ.ค.2566 ซึ่งหลายสำนักคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ต่อปี ส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาดีเซลมีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกัน สกนช.ยังจะนำปัจจัยกำลังการผลิตของสมาชิกประเทศผู้ผลิตน้ำมันโลก (โอเปกพลัส) ที่ประกาศลดกำลังการผลิตในเดือน พ.ค.นี้ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนขยายตัว มาเป็นปัจจัยที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะนำมาประกอบการพิจารณาแนวทางดูแลราคาขายปลีกดีเซลในประเทศ ที่จะมีการประชุมวันที่ 3 พ.ค.2566
“กองทุนมีสภาพคล่องดีขึ้น หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มคลี่คลาย และมีการเปิดประเทศ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและเบนซินในประเทศมีการปรับลดลงไปในระดับหนึ่ง และมีโอกาสที่จะลดลงได้อีก เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นหลัก” นายวิศักดิ์ ระบุ
โดยผลการดำเนินงานของกองทุนช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565-มี.ค.2566) อยู่ในเกณฑ์ดี เห็นได้จากฐานะเงินกองทุนติดลบน้อยลงจากช่วงที่เคยติดลบสูงสุดเมื่อเดือนพ.ย.2565 ที่ 130,671 ล้านบาท เหลือติดลบ 85,586 ล้านบาท ณ วันที่ 23 เม.ย.2566 แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 38,749 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 46,837 ล้านบาท
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวว่า ความคืบหน้าการกู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องของกองทุนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยบรรจุเป็นหนี้สาธารณะ 110,000 ล้านบาท ปัจจุบัน สกนช.ทำการกู้ยืมไปแล้ว 30,000 ล้านบาท เมื่อเดือน พ.ย.2565 และเดือนเม.ย.กู้อีก วงเงิน 20,000 ล้านบาท ขณะนี้เงินเริ่มเข้ามาแล้ว และในเดือน พ.ค.เตรียมกู้อีก 20,000 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่พรรคการเมืองเสนอปรับลดราคาดีเซล โดยเฉพาะบางพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายลดดีเซลลงเหลือ 28 บาทต่อลิตรนั้น ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าดำเนินการด้วยวิธีใด ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นการถอดภาษีฯ และยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบต่อรายได้กองทุนฯ ที่ยังคงมีภาระหนี้ ที่ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นหลักด้วย
ทั้งนี้ สกนช.ได้ทำแบบจำลองนโยบายด้านพลังงานของพรรคการเมืองต่อการปรับราคาดีเซล 3 แนวทางคือ 1.ไม่ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีและการอุดหนุนต่างๆ ส่งผลให้ราคาน้ำมันกลับไปสู่ราคาปกติที่สะท้อนต้นทุนจริง สกนช.อาจใช้แนวทางการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เข้ามาอุดหนุนแทน จากปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีดีเซลประมาณ 5 บาท/ลิตร และเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในส่วนของดีเซล 5.74 บาท/ลิตร 2.การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตดีเซลแบบขั้นบันได และ 3.ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเหมือนเดิม เพื่อคงราคาขายปลีกดีเซลไว้ในระดับปัจจุบัน 32.94 บาท/ลิตร
“ถ้าได้คนเก่ากลับเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็จะทราบดีอยู่แล้วว่าบทบาทของกองทุนฯ เป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร ได้แค่ไหน แต่ถ้าได้คนใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ก็จะต้องมาหารือและทำความเข้าใจบทบาทกันใหม่อีกครั้ง ว่ากองทุนฯ มีกลไกตามบทบาทและหน้าที่ทำได้แค่ไหน ภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562” นายพรชัยกล่าว
วันเดียวกัน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่ให้บริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านน้ำประปา ในพื้นที่ 74 จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และระบบประปาที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) เปิดเผยว่า กระแสข่าวการเตรียมขอปรับขึ้นค่าน้ำประปาเนื่องจากต้นทุนการผลิตน้ำประปาที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ กปภ.ยังไม่มีการเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการปรับขึ้นค่าน้ำประปา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นจะต้องมีการปรับขึ้นค่าน้ำประปา คงต้องพิจารณาในเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ กปภ.มุ่งมั่นดำเนินงานทั้งการขยายเขตให้บริการน้ำประปารองรับความต้องการใช้น้ำในส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ของประชาชน สอดคล้องกับนโยบาย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนให้ความสำคัญในการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียเพื่อให้มีปริมาณน้ำกลับคืนมาให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ชี้แจงว่า จากกรณีมีผู้ใช้ไฟฟ้าเผยแพร่ข้อมูลความเดือดร้อนปัญหาค่าไฟฟ้าแพงทางสื่อโซเชียล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.) ทั้ง 13 เขตพื้นที่สำนักงาน กกพ. ประจำเขต ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน ใคร่ขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบปัญหาการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้อง หรือคิดค่าไฟฟ้าแพงเกินกว่าอัตราที่ กกพ.กำหนด สามารถยื่นร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทางอีเมล [email protected] และเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. : https://www.erc.or.th/th/contact หรือติดต่อได้ที่สำนักงานคณะกรรมการประจำเขตทั้ง 13 เขต ในเวลาทำการ (วันจันทร์-วันศุกร์) เวลา 08.30-17.00 น. โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ
ดักคอล้วงภาษีอุ้มค่าไฟ ‘ดีอี’เร่งกาสิโนขึ้นบนดิน
"ภูมิธรรม" ขำข่าวปรับ ครม.เขี่ย รทสช. บอกอย่าฟังคนปล่อยข่าว
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง