หมื่นล้านอุ้มค่าไฟ ชงกกต.อนุมัติใช้งบกลาง บิ๊กตู่ขออย่าโยงการเมือง

“ประยุทธ์” วอนอย่าดึงการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าเป็นประเด็นการเมือง ครม.เคาะแล้วมาตรการอุ้มค่าไฟแพง เตรียมชงให้ กกต.ไฟเขียวใช้งบรวม 11,112 ล้านบาท แบ่งเป็นต่ออายุลดค่า Ft ขั้นบันไดที่ใช้มาตั้งแต่ต้นปีไปอีก 4 เดือน ใช้เงิน 7,602 ล้านบาท ส่วนมาตรการด่วนให้ส่วนลด 150 บาทบิลรอบเดือน พ.ค.แก่ผู้ใช้ไม่เกิน 500 หน่วย  ได้ประโยชน์รวม  41.76 ล้านราย "สุพัฒนพงษ์" แจงไทยสำรองพลังงานแท้จริงแค่ 30% อย่ามั่วนับรวมพลังงานทดแทนที่ไม่เสถียรภาพ กฟผ.รับเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วที่แบกต้นทุนให้ ปชช.

เมื่อวันอังคารที่ 25 เม.ย.2566 ยังคงมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง โดยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นมาตรการที่รัฐบาลก็มีภาระหน้าที่ต้องดูแลประชาชนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีอะไรที่ต้องทำใหม่ ก็ต้องขออนุญาตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนให้ กกต.พิจารณา ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต. ขอร้องอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมืองเลยได้ไหม มันไม่มีอะไร

เมื่อถามว่าจะพิจารณาเรื่องค่าน้ำประปาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็จะมีผลตามมาหมด ประปาก็กำลังพิจารณาของเขาอยู่ มันไม่ใช่หน่วยงานเดียวกันทั้งหมด เข้าใจไหม มันไม่ใช่รัฐบาลหรือนายกฯ สั่งแล้วมันจะไปได้เลย มันสั่งไม่ได้แบบนั้น ต้องไปดูว่ารายละเอียดเขาว่าอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ เพราะมันมีกฎกติกากฎระเบียบว่าอย่างไร รัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลเพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ก็ต้องถาม กกต.ให้ชัดเจน

“ถ้ามองการเมืองกับการบริหารบางอย่างต้องแยกกันคิด ต้องแยกกันดู ไม่ใช่ว่าผมเป็นรัฐบาล ผมเป็นนายกฯ แล้วจะเอาตรงนี้มาเป็นผลประโยชน์กับผม ผมไม่ทำ คนละบทบาท วันนี้อย่าถามเรื่องการเมือง เพราะวันนี้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ครม.ได้คุยกันเป็นชั่วโมง ก็เข้าใจกันดีในขั้นต้น และเห็นชอบในการที่จะอนุมัติเพิ่มเติมให้ 150 บาทต่อ 500 หน่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งวันนี้ค่าเฉลี่ยทั้งสองฝ่าย ทั้งด้านอุตสาหกรรมและประชาชนก็เท่ากัน ซึ่งเราก็ดูแลหมด การดูแลคนส่วนใหญ่มันลำบากเหมือนกัน แต่ละประเภทมีคนจำนวนเท่าไหร่ๆ ก็มุ่งเป้าตรงนี้ว่าจะแก้ปัญหาให้เขาอย่างไร ซึ่งจะใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท โดยไม่ได้คิดของเดิมที่ใช้จ่ายไปแล้วกว่าแสนล้านบาท และถ้าใช้ต่อไปอีก ทั้งหมดน่าจะประมาณกว่าหมื่นล้านบาท

“ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เราพยายามทำให้ดีที่สุด มีการพูดถึงสิ่งที่เราอนุมัติไป 2 งวดทำให้เกิดภาระ ซึ่งจริงๆ แล้วยังไม่ได้สร้างเลย เป็นการอนุมัติไว้เฉยๆ และที่บอกว่าเกินไป 50-60% ไม่ใช่ตัวเลขนั้นหรอก ฉะนั้นต้องเข้าใจกัน อย่าไปหาเสียงทำให้เกิดความตื่นตระหนก หรือไม่เข้าใจ หรือทำให้การบริหารมันทำไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า วันนี้ผ่าน ครม.แล้วก็ต้องนำส่งให้ กกต.พิจารณา และขอยืนยันรัฐบาลจะให้ความเป็นธรรมทุกภาคส่วน โดยต้องเป็นไปตามกฎหมายกติกาที่มีอยู่ทุกประการ สิ่งใดที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นปัญหาทางกฎหมาย ได้ให้กระทรวงพลังงานส่งสัญญาต่างๆ ไปให้กรมอัยการได้พิจารณาดูแล้วว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เพราะหลายสัญญาทำมานานพอสมควร

เมื่อถามย้ำว่า ระยะเวลาในการดูแลประมาณกี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หน้าร้อนเดือนหนึ่ง เพราะอากาศร้อนคนก็มีโอกาสใช้พลังงานสูงขึ้นกว่าปกติ โดยเขาชี้มาแล้วว่าเป็นการเพิ่มการใช้พลังงานมากขึ้น 2-3 เท่ากว่าปกติ

‘สุพัฒนพงษ์’ ย้อน ‘กรณ์’

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ท้วงติงกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีมติปรับลดค่า Ft เดือน พ.ค.- ส.ค. จาก 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย ซึ่งลดลงแค่ 2 สตางค์น้อยเกินไป ควรยกเลิกคิดค่าเอฟที 3 เดือนว่า Ft 3 เดือนคือ ต้นทุนของประเทศ ก็ต้องดูว่าใครจะรับผิดชอบไป ลดค่าเอฟที 0.93 สตางค์เป็นเงินจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง แต่ถ้าให้กันทั้งหมดก็จะใช้งบประมาณจำนวนมาก เกิดเป็นปัญหาวินัยการเงินการคลัง ผู้เสนอไม่ให้มี Ft เลย ก็ต้องถามคำถามว่าแล้วส่วนนี้ใครจะรับผิดชอบไป เพราะ Ft คือต้นทุนเชื้อเพลิง ไม่ใช่ค่าพร้อมจ่าย

เมื่อถามว่า น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดโรงไฟฟ้าจึงผลิตเกินความต้องการใช้จริงกว่า 50% นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เกิดจากการคำนวณคลาดเคลื่อน วิธีการคำนวณไม่ได้ใช้ในสากล ผิดตรรกะ วิธีการคำนวณที่ถูกหลักวิชาการ ตัวเลขกำลังการผลิตที่เรียกว่าพึ่งพาได้ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ได้สูงขนาดที่จะทำให้กำลังสำรองการผลิตสูงถึง 50-60% แต่ต่ำกว่านั้นเหลือเพียง 30% ณ สิ้นปี 2565 และสิ้นปี 2566 จะมีกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าๆ ที่ปลดระวางไปบางส่วนก็จะหายไปอีก แนวโน้มก็จะต่ำกว่า 30% และต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะจะปลดระวางโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2568

เมื่อถามว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศนโยบายว่าหากพรรค รทสช.ได้เป็นรัฐบาล ค่าไฟฟ้าจะมีการกำหนดราคาให้ผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกรยูนิตละ 3.90 บาท นายสุพัฒนพงษ์ ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรค รทสช. กล่าวว่า นโยบายคือค่า Ft เป็นศูนย์ ซึ่งปัจจุบันในส่วนของผู้เปราะบางค่า Ft ก็เกือบจะเป็นศูนย์ หรือประมาณ 1 สตางค์ ถ้าจะช่วยกลุ่มเปราะบางอีก 1 สตางค์ ก็น่าจะทำได้ อยู่ในวิสัยที่จะทำได้อยู่แล้ว

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงมติ ครม.ว่าครม.รับทราบรายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยในช่วงฤดูร้อนปี 2566 และเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งจะได้นำเสนอ กกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด

แจงมาตรการอุ้มค่าไฟ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือประกอบด้วย 1.มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันไดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566  (4 เดือน) โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน ม.ค.- เม.ย. คือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือนให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และ 2.ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรค่า Ft เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2.มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของ กฟน., กฟภ., กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในรอบบิลเดือน พ.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ เพื่อลดภาระของประชาชนซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน  500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาทจากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงการยุบสภา ครม.จึงจะเสนอให้ กกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด

นายนริศ ขำนุรักษ์ รมช.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลการประปาฯ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าการประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีแผนจะเพิ่มค่าน้ำประปา ว่าไม่ได้มีการประสานจะเสนอขอปรับเพิ่มอัตราค่าน้ำประปาตามข่าว และน่าจะไม่มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรัฐบาลนี้ เพราะยังไม่เหมาะสม เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าครองชีพ

รายงานข่าวในการประชุม ครม.แจ้งว่า ในการประชุมเรื่องค่าไฟฟ้า มีช่วงหนึ่งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ ได้แสดงความคิดเห็นเชิงตำหนิไปยัง กฟผ.และ กกพ.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องค่าไฟโดยตรง ว่าทำไมไม่ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ เกี่ยวกับรายละเอียดของการคิดค่าไฟ เพราะมองว่าเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง การประชาสัมพันธ์ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาไม่มีการตั้งงบประมาณประชาสัมพันธ์ไว้หรืออย่างไร โดยหลังนายชัยวุฒิแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มีใครแสดงความคิดเห็นประเด็นนี้เพิ่มเติมแต่อย่างใด

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้แจงประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงว่า ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50-60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ ซึ่งไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้า แต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง

กฟผ.โอดแบกฟางเส้นสุดท้าย

นายกุลิศยังกล่าวถึงการปรับลดค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ว่า จากการประมาณการตัวเลขสถานะทางการเงินของ กฟผ. ขณะนี้น่าจะแบกภาระได้เท่านี้ คืองวดสุดท้ายจะอยู่ที่งวดแรกของปี 2568 คืองวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 เพราะหากรับภาระยาวกว่านี้ จะมีผลต่อการกู้เงินและเครดิต กฟผ. เพราะ กฟผ.มีภาระต่างๆ จึงอยากให้เห็นใจ กฟผ.ในการแบกรับภาระตรงนี้ เราก็พยายามลุ้นว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนจะดีขึ้น และกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่ลดลงจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเพิ่มกำลังการผลิต จะทดแทนการนำเข้าได้ โดยหวังว่าช่วงปลายปีราคานำเข้าจะถูกลง และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มตอนนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อยู่ระหว่าง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปีนี้ ร่วมถึงหวังว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะดีขึ้น ส่วนกรณีที่ภาคการเมืองเอาเรื่องของค่าไฟไปหาเสียง โดยจะยกเลิกค่า Ft ในระยะสั้น ฯลฯ ไม่ขอไม่วิจารณ์

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า สภาพคล่องของ กฟผ.นั้น เมื่อต้องแบกค่า Ft รวม 1.5 แสนล้านบาท สิ่งที่ทำได้คือการเจรจากับคู่สัญญา อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึง 2 การไฟฟ้าจัดจำหน่ายที่ กฟผ.ต้องรับเงิน รวมถึงการกู้เงินทั้ง 2 ก้อนรวม 1.1 แสนล้านบาทของ กฟผ. ถือเป็นการกู้เงินระยะสั้น และเบิกได้ตามวงเงินเป็นการกู้โดยการใช้งานที่ต้องจ่ายเงินต้นและคืนภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง กฟผ.ต้องทำกระแสเงินสดที่บริหารอย่างเต็มที่

“การกู้เงินรวม 1.1 แสนล้านบาท เป็นการกู้ระยะสั้น หากไม่ได้เงินค่า Ft ที่ค้างรับ จะทำให้การจัดอันดับเครดิตที่เคยดีมาตลอดของเรามีปัญหา ซึ่งการแบกรับค่า Ft ให้ประชาชนตอนนี้เหมือนอูฐแบกฟางจนเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถเพิ่มภาระได้อีกจากวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทเดิม 6 งวด ต้องทยอยคืนงวดละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ก็ขยายเป็น 7 งวด ซึ่งจะครบ 4 เดือนแรกของปี 2568 ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลต้องหาเงินมาอุ้ม”นายบุญญนิตย์กล่าว

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อมทีมกฎหมาย เดินทางมายื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นตัวการทำค่าไฟฟ้าแพง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157  โดยศาลได้รับคำร้องไว้พร้อมนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในขั้นตรวจคำฟ้อง ในวันที่ 8 พ.ค.2566

ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชน ทั้งสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), เครือข่ายไฟฟ้า ประปา และยาเพื่อชาติเพื่อชาติและประชาชน (คฟปย.),  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE), เครือข่ายสลัม 4 ภาค และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้มายื่นหนังสือและแถลงการณ์ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงยกเลิกสัญญาทาสให้เอกชนผูกขาดผลิตไฟฟ้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

30วันเลือกนายกปทุม

"พิเชษฐ์" แจ้งสภา 143 สส.สังกัดพรรคประชาชนแล้ว ด้าน "ณัฐวุฒิ" เผยใช้อักษรย่อ "ปชน."