กกต.ตั้งทีมสอบนโยบายพรรค

กกต.สั่งตั้งคณะทำงานฯ   เช็กนโยบายหาเสียง 70 พรรคการเมืองครบ 3 เงื่อนไข ม.57 หรือไม่ แจงไม่เปิดช่องให้ตรวจทำได้จริงหรือไม่ ต้องมีผู้ร้องเรียนว่าเข้าข่ายจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ป.ป.ช.กระตุก กกต. กำชับพรรคการเมืองออกนโยบายช่วงเลือกตั้งเพื่อตัดวงจรทุจริต ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เพื่อไทยร้อง กกต. ถามสาเหตุเอกสารเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ลอนดอนผู้สมัคร 2 พรรคภาพสลับกัน ขณะที่ กกต.กทม.แจงสั่งแก้ได้ทันเวลาแล้ว 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ได้รับทราบกรณี 70 พรรคการเมืองชี้แจงรายละเอียดนโยบายหาเสียงตามมาตรา 57 พระราช​บัญญัติ​ประกอบ​รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มายัง กกต.  ตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ และมีมติให้ตั้งคณะทำงานที่จะประกอบไปด้วยผู้แทนของ กกต.ขึ้นมาตรวจสอบว่ารายละเอียดนโยบายที่ 70 พรรคการเมืองส่งมานั้นครบถ้วนตามเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ 2.ระบุความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ระบุผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หรือไม่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

มีรายงานว่า ที่ประชุม กกต.ยังเห็นว่าในชั้นนี้ มาตรา 57 กำหนดให้ กกต.มีอำนาจเพียงสั่งให้พรรคการเมืองชี้แจงเงื่อนไข 3 ข้อมาให้ครบเท่านั้น หากชี้แจงมาไม่ครบ ก็ให้สั่งปรับ 500,000 บาท และอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการชี้แจงครบตามเงื่อนไข โดยกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ กกต.ที่จะตรวจสอบว่านโยบายที่ชี้แจงมานั้นทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ควรต้องเป็นกรณีมีผู้ร้องเรียนและมีการกล่าวอ้างข้อมูลที่มีน้ำหนัก กกต.จึงจะสืบสวนเอาผิดฐานหลอกลวงเพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ตามมาตรา 73 (5) พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งการหาเสียงว่าสิ่งไหนทำได้-ทำไม่ได้ ว่า ป.ป.ช.ได้เสนอแนะไปยังกกต.แล้ว ซึ่งพยายามทำด่านแรกคือการสกัดเอาคนดีเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนปกครองประเทศ โดยต้องแยกแยะให้ชัดระหว่างผลประโยชน์ตนเอง สาธารณะ และทางราชการ เพราะหากไม่รู้ ก็จะทำให้สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการทำหน้าที่ไม่สุจริตหรือทุจริตในการทำหน้าที่ เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเมื่อพ้นจาก กกต.แล้ว ก็จะอยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของป.ป.ช. ในการลงไปตรวจสอบการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งอาจจะร่วมกระทำความผิดกับทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และเอกชนหรือประชาชน ที่อาจสนับสนุนเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้ให้ สนับสนุนให้กระทำความผิด

"ทาง ป.ป.ช.พยายามจะตัดขาข้างใดข้างหนึ่งเพื่อไม่ให้ครบองค์ประกอบ ก็จะสามารถตัดวงจรทุจริตไปได้ ยอมรับว่าหากทั้งสามฝ่ายไม่ประสานกันก็จะแก้ยาก แม้จะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ตรวจสอบ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำหน้าที่" นายนิวัติไชยกล่าว

นายชุมสาย ศรียาภัย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นร้องต่อ กกต. ระบุว่าพรรคเพื่อไทยออกนโยบายเรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัล อาจมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 73 (5) ว่า  นโยบายพรรคการเมืองคือแบบแผนความคิดที่ใช้เป็นหลักยึดในการตัดสินใจบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่การกระทำใดๆ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาตรา 73 (5) ที่ต้องถูกผูกพันด้วยหลักการแห่งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของพรรคตามบทกฎหมายได้ หากพรรคการเมืองดำเนินนโยบายผิดพลาด บกพร่องพรรคการเมืองย่อมมีความรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชนอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องการกระทำความผิดที่จะมีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง 

"พอเป็นพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายออกมา ยังไม่ทันได้ทำงาน ขาประจำออกมาประสานเสียงยื่นยุบพรรคทันที กกต.ก็ขยันต่อเนื่อง ทำสิ่งที่สังคมกังขาก็หลายเรื่อง เรื่องควรทำไม่ทำ ก็ไปรอวิบากกรรมก็แล้วกัน” นายชุมสาย กล่าว

ที่สำนักงาน กกต. นายเอกภาพ หงสกุล ผู้สมัคร ส.ส.เขตสายไหม กทม. พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนางปวีณา หงสกุล ผู้อำนวยการเลือกตั้งเขตสายไหม พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือขอทราบสาเหตุว่าทำไมเอกสารแจ้งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จึงเกิดการสลับรูปของนายเอกภาพไปอยู่หมายเลข 2 ซึ่งเป็นหมายเลขของผู้สมัครพรรคอนาคตไทย ว่าเกิดจากสาเหตุใด

โดยนายเอกภาพกล่าวว่า เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และยังไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อคะแนนเสียงของตนเองหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่กรุงลอนดอน เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 19 เม.ย. แต่เพิ่งมีนักศึกษาซึ่งเป็นคนที่มีภูมิลำเนาในเขตสายไหมไปพบเห็นความผิดพลาดนี้ ทั้งนี้ พอใจที่ กกต.แก้ไขทันทีที่ทราบเรื่อง แต่ยังเห็นว่า กกต.ควรจะมีวิธีการตรวจสอบที่ละเอียดถี่ถ้วน และระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดในข้อมูลก่อนจัดส่งเอกสารให้กับสถานทูต

ด้านนายสำราญ ตันพานิช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงาน กกต. ในฐานะที่กำกับดูแลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.)  เปิดเผยว่า ความผิดพลาดของรูปภาพรายชื่อผู้สมัครดังกล่าวไม่ได้ผิดในขั้นตอนของเขตเลือกตั้งที่ 11 กทม.เขตสายไหม สำนักงาน กกต.กทม. ซึ่งรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของแบบพิมพ์ ส.ส.4/14 ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นขั้นตอนขอบเขตของสำนักงาน กกต.กลาง และสถานทูตต่างๆ ที่ดูแลรับผิดชอบส่วนงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งหลังจากเกิดข้อผิดพลาด ทางส่วนงานรับผิดชอบได้ดำเนินการแก้ไขและส่งเอกสารที่ถูกต้องไปหน่วยเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ทันต่อเวลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นระหว่างการเตรียมการในขั้นตอนของเขต กทม. กระทรวงการต่างประเทศได้รีบประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เพื่อดำเนินการแก้ไขตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.  โดย กกต.ได้ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นที่ลอนดอนเท่านั้น ขอให้มั่นใจกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องทุกแห่งจะทำงานร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนไทยในต่างประเทศ เพื่อให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบและราบรื่นที่สุด

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ว่า กระทรวงการต่างประเทศมีการประสานงานกับ กกต.อยู่ตลอด ในการจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศ โดยในเรื่องของบัตรเลือกตั้ง กกต.ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดูแลบัตรเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่เกิดปัญหาบัญชีรวบรวมรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขตที่พบว่ารายชื่อผู้สมัครพรรคและหมายเลขไม่ตรงกัน เป็นเรื่องที่ทาง กกต.จะเข้าไปจัดการ ขณะที่การขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับสู่ประเทศไทย เป็นเรื่องที่กระทรวงดูแลด้วยเช่นกัน ไม่มีปัญหา ซึ่งเราเคยมีประสบการณ์จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาแล้ว เชื่อว่าครั้งนี้จะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นมาอีก

วันเดียวกัน นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ร่วมเวทีเสวนา “เลือกตั้ง 66 เตรียมตัวพร้อมหรือยัง” ในหัวข้อความพร้อมของ กทม.ในการจัดการเลือกตั้ง และการเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง โดย ดร.ถวิลวดีกล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นของคนกรุงเทพฯ พบว่า คนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจการเลือกตั้งระดับปานกลาง อยู่ที่ประมาณ 4.8 จาก 10 ซึ่งส่วนใหญ่รู้ว่าจะเลือกใคร และเชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงค่อนข้างเยอะ

ด้านนายชาตรีกล่าวว่า ถ้าประชาชนพบเห็นการกระทำผิด หรือความไม่เป็นกลางในการเลือกตั้งที่บริเวณหน้าหน่วยเลือกตั้ง สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหน่วยเลือกตั้ง ขณะนี้ กทม.มีความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้งอย่างเต็มที่   ส่วนการนับคะแนนจะนับที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วส่งผลการนับคะแนนออนไลน์มาที่ส่วนกลางที่ห้องรัตนโกสินทร์ คาดว่าจะทราบผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค..

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา