เฮลั่น! กกพ.เคาะค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.66 ปรับลด 7 สตางค์ ขณะที่รัฐบาลนั่งไม่ติดกางแผนระยาว PDP 2018 เดินตามแนว "บิ๊กตู่" จัดการปัญหา ด้าน กกต.ชะเง้อคอรอ ครม.ยื่นขอเงินช่วยค่าไฟฟ้าชาวบ้าน
เมื่อวันจันทร์ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ.มีมติปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บจากประชาชนงวดใหม่สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.66 ลง 7 สตางค์ต่อหน่วย จากมติเดิม 4.77 บาท/หน่วย เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดดังกล่าวที่ 91.19 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งการอนุมัติดังกล่าวไม่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เนื่องจากสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่าเอฟทีไม่เปลี่ยนไปจากการพิจารณาก่อนหน้านี้ที่ กกพ.ได้เปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นไปแล้ว
“ทั้งนี้ถือเป็นการลดลง 2 สตางค์/หน่วย จากงวดปัจจุบันที่มีการประกาศใช้สำหรับกลุ่มบ้านพักอาศัย ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ที่อยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอ ซึ่งขั้นตอนต่อไป กกพ.จะทำหนังสือแจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้าเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และจะทันงวดบิลเดือน พ.ค.66 แน่นอน” นายคมกฤชระบุ
นายคมกฤชระบุด้วยว่า ส่วนค่าไฟงวดถัดไปในเดือนก.ย.-ธ.ค.66 จะลดลงได้อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.จะเป็นไปตามเป้าหมายช่วงปลายปีนี้อยู่ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงที่เป็นช่วงฤดูมรสุม ประกอบกับปลายปีจะเป็นฤดูหนาวที่ปกติต่างประเทศจะมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงสูง จึงมีความเป็นห่วงว่าปริมาณก๊าซจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเดือน ก.ค.จะอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน
นายคมกฤชกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนั้น แม้ปัจจุบันราคาค่าไฟจะเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันยอดการติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชนยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากปี 2566 มีประชาชนลงทะเบียนครบถ้วนตามคุณสมบัติ 1,020 ราย ติดตั้งรวม 5,493 กิโลวัตต์ ถ้าคิดเป็นหน่วยพบว่ายังมียอดใช้ไม่ค่อยเยอะ จึงยังไม่มีผลต่อราคาค่าไฟในปัจจุบัน แต่ยินดีหากประชาชนใช้โซลาร์เป็นทางเลือก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดและเป็นประโยชน์ต่อภาคครัวเรือน
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้เสนอเงื่อนไขขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้า วงเงินประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อน จากเดิม 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน แบ่งเป็น 7 งวด คาดว่าจะครบกำหนดชำระประมาณเดือน ส.ค.68 ทำให้เงินที่ กฟผ.ควรจะได้จากการคืนหนี้ก้อนแรกหายไปประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท จากเดิมประมาณ 22,000 ล้านบาท เหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท และมีภาระดอกเบี้ยงวดละประมาณ 750 ล้านบาท
“นอกจากนี้ กฟผ.ยังได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าเอฟที รวมเป็นวงเงินกว่า 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงวดแรก 25,000 ล้านบาท และทำการกู้เพิ่มตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 85,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ขณะที่ล่าสุด กฟผ.ได้เสนอที่จะยืดหนี้ ส่งผลให้เงินที่นำมาชำระหนี้คืนค่าเอฟทีนั้นลดลง แต่ กฟผ.ยังได้ขอวงเงินในการกู้เพิ่มอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้ในช่วงนี้" นายประเสริฐศักดิ์ระบุ
วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากดำเนินการตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (ปี 2563) ตามที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้วางแผนไว้ จะส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2570 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28 ในปี 2569 เหลือร้อยละ 14 ในปี 2580 สะท้อนถึงการวางแผนระยะยาวในการลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อค่าไฟระยะยาว
นายอนุชาระบุว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2564-ปัจจุบัน ได้เกิดวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก ส่งผลให้ค่าไฟในส่วนของค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นสะท้อนในค่า Ft ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล
“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจมาโดยตลอด เช่น การตรึงค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน) ทั้งนี้ ขอยืนยันแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเรื่องค่าไฟฟ้าในขั้นตอนต่อไป” นายอนุชากล่าว
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.จะขออนุญาต กกต.เพื่อขอใช้งบประมาณไปช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนนั้น ว่าตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในช่วงที่อายุสภาสิ้นสุดลงให้ดำเนินการอะไรได้บ้าง กกต.ได้ออกระเบียบว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐไว้
“ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือจากคณะรัฐมนตรีเสนอมา แต่หากเสนอเรื่องมา กกต.จะต้องพิจารณา ส่วนจะได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเข้าเกณฑ์ที่ กกต.จะพิจารณาหรือไม่ โดยเรื่องที่จะเข้าเกณฑ์พิจารณานั้นต้องดูเหตุผลว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเหตุใดรัฐบาลต้องขอใช้งบในช่วงการหาเสียง จะเป็นการใช้งบเอื้อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองนั้น กกต.จะไปตอบแทนเรื่องแบบนี้ไม่ได้” นายแสวงระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
ทักษิณจ่อพบอันวาร์ในไทย
"ทักษิณ" ยันเตรียมพบ "อันวาร์" กำลังรอคอนเฟิร์ม
แฉ10โกงทำประเทศจน เอกชนสมคบกับจนท.รัฐ
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแฉ 10 กรณีทุจริตแห่งปี 2567 ที่ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน" หลายเรื่องราวยังไม่จบ
สมัครอบจ.คึกคักพท.เกทับปชน.
เปิดรับสมัครนายกและสมาชิก อบจ.วันแรกทั่วไทยสุดคึกคัก
รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง สื่อทำเนียบฯตั้งฉายา‘แพทองโพย’อิ๊งค์มองมุมดีส่งเสริมกัน
สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายาปี 67 “รัฐบาล(พ่อ)เลี้ยง” นายกฯ "แพทองโพย" วาทะแห่งปี
‘แม้ว-หนู’จูบปากตีกอล์ฟ ‘แก้วสรร’ให้ลุ้นกลางปี68
ชื่นมื่น! “ทักษิณ” ควง "อนุทิน” ตีกอล์ฟ สยบรอยร้าวรัฐบาล