ขู่คุก10ปีทำผิด‘เลือกตั้ง’ กกต.ขึงขังผู้สมัครถือหุ้น

รู้ไว้ก่อนเดินเข้าคูหา เปิด 6 ข้อกฎหมายป้องกันการทำผิด กม.เลือกตั้ง หากจงใจโทษหนักจำคุกถึง 10 ปี ด้าน กกต.แจงส่งชื่อ 130 ส.ส. ตรวจสอบคุณสมบัติตามขั้นตอน ก.ม. ชี้ถือหุ้นสื่อเข้าข่ายต้องห้าม ถูกถอนสิทธิ์แน่

เมื่อ​วันที่​ 24 เมษายน 2566 พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร./โฆษกศูนย์รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) เปิดเผยว่า ศลต.ตร.ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและป้องกันการทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 และเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 จึงสั่งการให้ ศลต.ตร.ประชาสัมพันธ์ข้อกฎหมายที่สำคัญ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตลอดจนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าใจถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะต้องใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งนี้ ซึ่งข้อกฎหมายที่สำคัญๆ มีดังนี้

1.การนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง : มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

2.การนำเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว : มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.การเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน : มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

4.จงใจกระทำด้วยประการใดๆ ให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ : มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

5.กรณีเผา ฉีก ทำลาย ทำให้เสียหาย : มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.กรณีปลดป้ายหาเสียงไป : มีความผิดฐานลักทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้มอบนโยบายให้ส่วนงานต่างๆ ของสำนักงาน กกต.   ดำเนินการและปฏิบัติภารกิจจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย สำนักงาน กกต.ได้ดำเนินการปฏิบัติบัติภารกิจเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกกต. ดังนี้

1.แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ซึ่งมีอำนาจในการสืบสวนและไต่สวนการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. รวม 128 คณะ

 2.แต่งตั้งชุดปฏิบัติการข่าว เพื่อแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์สำหรับการสืบสวนและ​ไต่สวนชุดปฏิบัติการข่าว ส่วนกลางและจังหวัด รวม 88 ชุด​

3.การ​แต่งตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต เผชิญเหตุ จับกุม คุมขัง ผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติแต่งตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 400 ชุด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด

4.จัดตั้งศูนย์ประสานงานการสืบสวนและไต่สวน เพื่อรับแจ้งเหตุหรือเบาะแสทุจริต และเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างส่วนกลางและจังหวัด ชุดปฏิบัติการข่าว และชุดเคลื่อนที่เร็ว ทั้งนี้ประชาชนยังสามารถแจ้งเหตุผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2141-8579, 0-2141-8858 และ 0-2141-8860

5.รับแจ้งเหตุหรือเบาะแสทุจริตผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรด เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเหตุการกระทำความผิดซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android                     

ทั้งนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.​ กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า กกต.จะถอนสิทธิ์ผู้รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. 130 คนว่า เวลาที่ กกต.พิจาณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 นั้น จะมี 26 หน่วยงานที่มาสนับสนุนการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามด้วย โดยเมื่อรับสมัครเข้ามาแล้ว กกต.จะส่งแต่ละเรื่องให้แต่ละหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุน กกต.ในการตรวจสอบ อย่างกรณีที่เป็นข่าวนั้น เป็นเรื่องการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 42 (3) จึงส่งเรื่องให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบ และทำบัญชีส่งกลับมายัง กกต. โดยจะตรวจสอบหลักทรัพย์ทุกประเภทที่ผู้สมัครคนนั้นๆ ถืออยู่ ไม่ใช่เฉพาะหลักทรัพย์ด้านสื่อสารมวลชนเท่านั้น 

"130 คนที่เห็นนั้น หากไม่เข้าลักษณะต้องห้าม ก็ไม่ต้องมาประกาศไม่เป็นผู้รับสมัครของ กกต.เขต ซึ่งผู้อำนวยการก็ประกาศแล้ว ตรวจสอบแล้วว่าต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นของหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ถึงจะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งใน 130 คนอาจจะมีการถือหุ้น แต่ไม่ได้เป็นหุ้นที่มีลักษณะต้องห้าม อาจจะเป็นหุ้นบริษัทอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่า 130 คนนี้จะถูกตัดสิทธิ์หมด กกต.ต้องมาตรวจสอบเอง" เลขาฯ กกต.กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กรพด' ลั่น! ไม่เคยเข้าคุก ยินดีให้กกต.ตรวจสอบ เล็งฟ้องคนทำเสียหาย

ที่รัฐสภา ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ สว.กลุ่ม18 สื่อสารมวลชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)สั่งสอบห