‘โควิด’คัมแบ็กป่วยทะลุพัน

โควิด-19 คัมแบ็กแล้ว ยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มทะลุพัน เพิ่มกว่า 2.5 เท่า ซ้ำมีผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยวันละราย กรมควบคุมโรควอนกลุ่ม 608 กว่า 2 ล้านรีบรับวัคซีน ยังแบ่งรับแบ่งสู้ XBB.1.16 ส่งผลให้ตาแดง

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในรอบสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-22 เม.ย.66 ว่ามีจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,088 ราย เฉลี่ย 155 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย เฉลี่ยเกือบ 1 รายต่อวัน และนับตั้งแต่ 1 ม.ค.มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลสะสม 6,571 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 278 ราย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรอบสัปดาห์ก่อน (9-15 เม.ย.66) พบว่าผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ.เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่าตัว จากที่มี 435 ราย เฉลี่ยรายวัน 62 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นสัปดาห์ก่อนที่มี 2 ราย

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดหลังสงกรานต์ สัปดาห์ล่าสุดวันที่ 16-22 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อใหม่ที่ต้องเข้า รพ.เฉลี่ย 1,088 ราย เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 2 เท่า และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่ง 4 รายเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เลย ส่วนอีก 1 รายได้รับเข็มที่ 2 มานานแล้ว ดังนั้นเป็นความสำคัญว่าต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น และข้อมูลยังพบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีเกือบ 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเลย กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เร่งรณรงค์ให้กลุ่มดังกล่าวมารับวัคซีน โดยหากเป็นผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนเลยก็จะรับแบบ 2 เข็ม แต่ถ้าเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มล่าสุดนานเกิน 3 เดือน ก็ให้มากระตุ้นวัคซีนเพิ่ม

"สถานการณ์โควิด-19 หลังสงกรานต์ คาดว่าอีก 1 สัปดาห์จะเห็นภาพชัดเจน ซึ่งปลัด สธ.มีข้อสั่งการให้เตรียมยา ทรัพยากรต่างๆ โดยอัตราครองเตียงปัจจุบันก็ยังอยู่ในสีเขียวอยู่ โดยในเดือน พ.ค.จะถึงรอบฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เราก็จะรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปพร้อมกัน” นพ.ธเรศกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีแรงงานชาวเมียนมาที่ติดเชื้อโควิด-19 จนเสียชีวิต ว่าเป็นสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XBB.1.16 หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ได้ข้อมูลจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ว่ามีลักษณะปอดอักเสบ แต่การสอบสวนโรคเบื้องต้นผู้ป่วยไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้รับการรักษาเลย คาดว่า รพ.จุฬาฯ จะได้ผลการสอบสวนเรื่องสายพันธุ์เร็วๆ นี้

 “เราต้องติดตามข้อมูลในประเทศต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันอาการตาแดงยังไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าติดเชื้อ XBB.1.16 ซึ่งข้อมูลการป่วย XBB.1.16 ในไทย ยังไม่พบอาการตาอักเสบ แต่มีรายงานพบในต่างประเทศว่าเด็กมีอาการตาอักเสบมาก แต่พอไวรัสหายอาการก็หาย และไม่มีการรักษาที่ตาโดยเฉพาะ” นพ.ธเรศกล่าว

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ XBB.1.16 อาการปัจจุบันไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แต่บางรายพบอาการตาแดง มีขี้ตา แต่ผู้ติดเชื้อ XBB.1.16 ในไทยกว่า 20 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กนั้น มีประมาณ 2 รายที่เป็นผู้ใหญ่แล้วมีอาการตาแดง ทั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่าอาการตาแดงจะเป็นข้อบ่งชี้สำคัญ แต่อาการตาแดงพบมากในอินเดีย ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่พบรายงานเรื่องตาแดง

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ และเมื่อรวมกับที่ไทยได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แล้ว ทำให้หลายพื้นที่กลับมาจัดงานต่างๆ กันมากขึ้น อาทิ คอนเสิร์ต, การแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานมหรสพรื่นเริง ทำให้มีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 ได้ จึงขอให้ผู้จัดงานยังคงปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 โดยเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนคนต่อพื้นที่ไม่ให้หนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในอาคารพื้นที่ปิดที่อาจมีการระบายอากาศไม่ดี ที่สำคัญต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไมโครโฟน ราวบันได ที่จับประตู ปุ่มกดลิฟต์ และห้องน้ำห้องส้วม จัดให้มีจุดบริการล้างมือที่เพียงพอ และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน เพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อไปในวงกว้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป