โควิดระบาดหนักแต่ไม่รุนแรง

"อนุทิน" รับโควิดกลับมาระบาดเพิ่ม สธ.ให้จับตาช่วงเปิดเทอมอาจเพิ่มมาตรการ พร้อมยันสายพันธุ์ XBB.1.16 ไม่ได้มีอาการรุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม เร่งสื่อสารทำความเข้าใจประชาชนลดความตื่นตระหนก พร้อมสั่งโรงพยาบาลจัดจุดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น   ย้ำกุมารแพทย์ตรวจ ATK เด็กป่วยมีอาการตาแดงตาแฉะทุกราย

 เมื่อวันที่ 20 เมษายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและผู้ทรงคุณวุฒิ   โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค และไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการติดเชื้อ และการได้รับวัคซีน

กรณีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลและหลายคนวิตกนั้น เป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัสที่จะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา แต่ยังคงเป็นลูกผสมของสายพันธุ์โอมิครอนเดิม และไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม ส่วนกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรงยังคงเป็นกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) รวมทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเข็มสุดท้ายนานกว่า 6 เดือน

นายอนุทินกล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นจึงได้สั่งการให้สถานพยาบาลทั่วประเทศ และสถานพยาบาลของกรมในสังกัด จัดจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อำนวยความสะดวกประชาชน โดยวัคซีนที่มีในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นชนิด Bivalent

 ทั้งนี้ อาจารย์แพทย์ที่เป็นคณะกรรมการวิชาการแจ้งว่าสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หาแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมารับวัคซีนทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนมารับวัคซีนมากขึ้น ส่วนข้อกังวลกรณีจะมีการระบาดของโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่พร้อมกัน ยืนยันว่ามีความพร้อมดูแลทั้งยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ

"กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลอาการรุนแรงต่างๆ เช่น มีเลือดออกในโพรงจมูก และตาแดง ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดในทุกคน หรือกรณีคนงานต่างด้าวเสียชีวิตกะทันหัน ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ผลเป็นบวก แล้วนำไปเชื่อมโยงว่าเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 เพราะก่อนหน้านี้มีอาการตาแดง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะโควิดไม่ได้ทำให้เสียชีวิตทันที ต้องมีอาการป่วยมาก่อน ดังนั้นได้มอบหมายกรมควบคุมโรค ช่วยสื่อสารข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น เพื่อลดความตื่นตระหนก" รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุขกล่าว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในเวทีอบรม “COVID-19 : สายพันธุ์ XBB.1.16 สำคัญอย่างไร?” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก สัปดาห์ที่ผ่านมา 3 อันดับแรกที่มีรายงานผู้ป่วยมาก ได้แก่ เกาหลีใต้ 75,000 ราย เสียชีวิต 48 ราย, อินเดีย ราว 64,000 ราย เสียชีวิต 162 ราย และญี่ปุ่น 56,000 ราย เสียชีวิต 139 ราย แต่ประเทศที่เสียชีวิตมากที่สุดคือ เยอรมนี  สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย พบเสียชีวีตหลายร้อยราย

สำหรับประเทศไทย ช่วงวันที่ 9-15 เม.ย.2566 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยกับสัปดาห์ก่อนหน้า มี 35 จังหวัดที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 5% อีก 4 จังหวัดเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 5% ที่เหลือลดลงมากกว่า 5% สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดเริ่มต้นจากเมืองใหญ่ๆ ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 0.4% แนวโน้มผู้ป่วยที่รักษาใน รพ.และอาการหนักเพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์ ตามคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยสูงขึ้น 2 ช่วงคือ หลังสงกรานต์และฤดูฝน

“ส่วน XBB.1.16 ในไทยไทย ต้องจับตาดูต่อไป เพราะเพิ่งเจอเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่แนวโน้มอาจไม่ได้รุนแรงมาก หากเทียบหลังสงกรานต์ปี 2565 พบว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสั้นๆ 1-2 สัปดาห์ ถ้าประชาชนมีความรู้และปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ชะลอการระบาดได้ ส่วนช่วงเปิดเทอมราว พ.ค. ต้องประเมินมาตรการในโรงเรียนอีกครั้ง หากมีการระบาดในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม” นพ.โสภณกล่าว

ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยสายพันธุ์ลูกผสม XBB, XBB.1.16 และ XBB.1.9.1 เพิ่มขึ้น แนวโน้มทดแทนสายพันธุ์หลักเดิมคือ BN.1 น่าจะราว 1 เดือนจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ขณะที่ XBB.1.16 อาจแพร่เชื้อในระดับที่มากกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 หลบภูมิคุ้มกันคล้าย XBB.1 และ XBB.1.5 แต่ยังไม่มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงเพิ่มขึ้น การตรวจด้วย ATKและ RT-PCR สามารถตรวจคัดกรองสายพันธุ์ลูกผสมได้

นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อมีรายงานว่า สายพันธุ์ XBB.1.16 ในอินเดีย ทำให้เด็กมีอาการตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ จึงขอให้กุมารแพทย์ที่มีคนไข้มีอาการตาแดง ตาแฉะ ให้ทำการตรวจ ATK ทุกราย เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ข้อมูลในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อากาศร้อน เด็กอาจมีการไปเล่นน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทำให้น้ำเข้าตาแล้วมีอาการตาแดง ตาแฉะได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่เป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส

ด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า คนไทยมีภูมิคุ้มกันแล้วจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีน 94% เมื่อมีภูมิคุ้มกันเป็นพื้นฐานแล้ว ก็จะต้องกระตุ้นเป็นระยะในจังหวะที่ภูมิคุ้มกันลดลง เพราะฉะนั้นการได้วัคซีนจำเป็นต้องได้ 3-4 เข็ม ทำให้ปกป้องหรือป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ดี แต่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นสูงวัย รับเข็ม 3 อยู่ที่ 44% เข็มที่ 4 อยู่ที่ 11% และยิ่งอายุน้อยลงยิ่งอัตราน้อย อายุ 12-17 ปี เข็ม 3 อยู่ที่ 25% เข็ม 4 อยู่ที่ 0.9%, อายุ 5-11ปี เข็ม 3 อยู่ที่ 4% เข็ม 4 อยู่ที่ 0.1% และอายุ 6 เดือน-4 ปี เข็ม 3 อยู่ที่ 1% เข็ม 4 ไม่มี

“หลังทุกคนมีภูมิคุ้มกันเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะกระตุ้นปีละครั้ง และฉีดก่อนหน้าฝนที่เป็นช่วงระบาดสูง หลังจากนั้นปลายปีต้นปีระบาดลดลง เพราะฉะนั้น กระตุ้นให้มีภูมิสูงสุด แม้ติดเชื้อก็ไม่ได้รุนแรง ซึ่งในสายพันธุ์ XBB จะต้องรับวัคซีนถึง 4 เข็ม” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บูมเศรษฐกิจ 2 ชาติ ! “อนุทิน” เร่งสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน จับมือกัมพูชา กระตุ้นค้าขายชายแดน-ท่องเที่ยว

วันที่ 21 พย. บริเวณสะพานข้ามคลองตะเคียน ด่านผักกาด จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะผู้บริหาร อาทิ นายอรรษิษฐ์ สัมพัน์รัตน์