กกพ.จ่อลดค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย หลัง กฟผ.ไฟเขียวอุ้มหนี้ 1.5 แสนล้านต่อ โฆษกรัฐบาลแจงยิบสูตรค่าไฟ ยันพร้อมปรับลงตามราคาเชื้อเพลิง นายกฯ ยันไม่นิ่งนอนใจ รับต้องแก้โครงสร้างสัมปทาน ถ้าต้นทุนพลังงานลดราคาก็ลดลง ปัดอุ้มนายทุน อ้างติดค่าเอฟทีเป็นแสนล้านต้องเห็นใจบ้าง จ่อเสนอ กกต.ของบแก้ไฟแพงลดผลกระทบ ปชช. "วราวุธ" ชงติดโซลาร์เซลล์จ่ายคนละครึ่ง พท.โต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้นเหตุไฟแพง
เมื่อวันที่ 20 เมษายน นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า อนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟที สำหรับงวดที่ 2/66 (พ.ค.-ส.ค.) ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ เดือน พ.ค.-ส.ค. ลดลงจาก 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย ซึ่งอนุกรรมการฯ มีตัวแทนจากกระทรวงการคลังที่ดูแลเรื่องวินัยการเงินการคลังและหนี้สินร่วมอยู่ด้วย หากได้รับความเห็นชอบก็จะประกาศลดค่าไฟฟ้าต่อไป
โดยหนังสือที่ กฟผ.ยืนยันจะยืดหนี้นั้นระบุว่า สำหรับงวดที่ 2/66 นี้ ยังสามารถจัดการสภาพคล่องได้ แต่สำหรับงวด 3/66 (ก.ย.-ธ.ค.) อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก ระบบหรือประชาชนก็จะต้องคืนหนี้แก่ กฟผ. โดยหนี้วงเงินเต็มนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และมีการคืนหนี้ในงวดที่ 1 /66 (ม.ค.-เม.ย.) ไปแล้ว วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ทำหนังสือยืนยันไปยัง กกพ. และเชื่อว่า กกพ.จะเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟที งวดที่ 2 โดยต้องยอมรับว่าในขณะนี้อากาศร้อนจัดประชาชนเปิดแอร์ดับร้อนกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย.66 เวลา 20.44 น. ที่ 32,212.5 เมกะวัตต์ ซึ่งค่าไฟฟ้าเมืองไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้หน่วยจำนวนมากก็ยิ่งจ่ายแพง โดยค่าไฟงวดนี้ (ม.ค.-เม.ย.) ค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยเฉลี่ยที่ 4.72 บาท/หน่วย และยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐลดพิเศษให้ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
ส่วนงวดที่ 2 ในขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะมีส่วนใดมาช่วยเหลือเพิ่มเติมได้หรือไม่ นอกเหนือจากการยืดหนี้ของ กฟผ. เพราะจากการหารือกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะใช้งบราว 8,000 ล้านบาท รวมทั้งในขณะนี้ก็ได้มองไปถึงงวดถัดไป (งวด 3/66 เดือน ก.ย.-ธ.ค.) ว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยมอบให้ บมจ.ปตท. เร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ที่ขณะนี้ราคาต่ำ 11-13 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู มาสำรองไว้ได้หรือไม่ โดยต้องยอมรับว่างวดที่ 1/66 ราคาแอลเอ็นจีสูงมาก อยู่ที่ประมาณ 47 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนลุ้น กกพ. จะได้ทบทวนสมมุติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวด พ.ค.-ส.ค.66 จาก 2 มาตรการ ตามที่คณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอไป
มาตรการที่ 1 ยืดหนี้ กฟผ. (เดิม งวด 1/66 ใช้ 3 ปี แต่งวด 2/66 กลับลดลงเหลือ 2 ปี คาดว่า กฟผ.เสนองวดการคืนหนี้มาที่ กกพ. จาก 2 ปี เป็น 7 งวด โดยไม่กระทบสถานะทางการเงินของ กฟผ. มากจนเกินไป ในช่วงต้นทุนพลังงานขาลงเช่นนี้ และมาตรการที่ 2 ปรับลดค่า LNG นำเข้า จาก 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ให้สอดคล้องกับราคาตลาดในปัจจุบันที่ต่ำกว่า 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
"เอกชนรวมถึงประชาชนทั้งประเทศ คงคาดหวังความอนุเคราะห์จากรัฐบาลปัจจุบันในการทบทวนราคาเอฟที โดยมองเป้าหมายค่าไฟฟ้างวด 2/66 (พ.ค. - ส.ค.) ที่ควรจะต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วย เพื่อให้ลดภาระให้กับทั้งครัวเรือน ที่มีภาระค่าครองชีพค่อนข้างสูง และภาคธุรกิจในช่วงที่ต้องแข่งขันในเวทีโลก อีกทั้งในภาวะตลาดส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของโลก ทั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลปัจจุบันต่อค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.-ส.ค 66 ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงไฟฟ้าเอกชนมากจนเกินไป เพราะที่ควรต้องกังวลก็คือ ทำไม % สัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จึงเหลือเพียงประมาณ 31% ของทั้งประเทศ" นายอิศเรศระบุ
ลดลงตามราคาต้นทุน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดการคำนวณค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค.2566 ทั้งในส่วนที่เป็นบ้านอยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ โดยคิดค่าเอฟทีในอัตราเดียวกันที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ดังนี้ 1.ค่าเชื้อเพลิงทุกประเภทเฉลี่ย 2.74 บาทต่อหน่วย 2.ค่าโรงไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ 76 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย 3.ค่าต้นทุนระบบจำหน่าย 51 สต.ต่อหน่วย 4.ค่าภาระหนี้เชื้อเพลิงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 35 สต.ต่อหน่วย 5.ค่าต้นทุนระบบส่ง 24 สต.ต่อหน่วย และ 6.ค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น Adder ค่าไฟฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย 16 สต.ต่อหน่วย
ในส่วนของค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่ดูเหมือนสูงกว่าค่าไฟฟ้านอกภาคครัวเรือน เกิดจากค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันมีราคาแพงเป็นผลจากปลายปี 2565 เป็นช่วงที่ต้นทุนราคาก๊าซ LNG นำเข้าสูงมากและต้องนำเข้าทดแทน ในขณะที่ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำลดลงมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แท้จริงในงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย.2566) ซึ่งปกติหากเป็นอัตราเดียวจะเท่ากับ 5.24 บาทต่อหน่วย แต่รัฐบาลต้องการบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน จึงคำนวณค่าไฟจากการจัดสรรก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกให้ประชาชนก่อน จึงเป็นกรณีพิเศษที่ทำให้ประชาชนได้อัตราเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมงวดปัจจุบัน (ม.ค.- เม.ย.2566) เท่ากับ 5.33 บาทต่อหน่วย เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ช่วยรับภาระแทนประชาชนบางส่วน ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในงวด พ.ค.-ส.ค.2566 จะเหลืออัตราเดียวเฉลี่ยที่ 4.77 บาทต่อหน่วย อาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นอัตราที่ถูกลงจากงวดปัจจุบัน
“รัฐบาลยืนยันว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยปรับลดลงตามราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงในอนาคต อีกทั้งแนวทางที่รัฐบาลได้สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน จะส่งผลให้การพึ่งพาเชื้อเพลิงแบบเดิมลดน้อยลง และส่งผลถึงการคำนวณค่าไฟฟ้าที่จะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลงได้อย่างแน่นอน โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
ที่สวนลุมพินี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ว่า เรื่องที่ประชาชนกังวลคือเรื่องค่าไฟฟ้า ซึ่งตนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตนจะไปดูเรื่องโครงสร้างว่าอะไรเป็นยังไงบ้าง ขอร้องสื่อ ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ เดี๋ยวมันจะไปกันใหญ่ ถ้าตนทำให้ได้ทำไมจะไม่ทำ ซึ่งได้มีการสั่งการไปแล้วว่าอะไรทำได้อีกหรือไม่ อะไรที่มันไม่ผิดและถูกต้องตามสัญญา กลไกมันมีอยู่แล้วทั้งหมด เราต้องรื้อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาดูใหม่ จะได้หรือไม่ได้ต้องว่ากันอีกที และนโยบายพรรค รทสช.ก็มีเรื่องนี้อยู่แล้ว คือเรื่องพลังงาน
เมื่อถามถึงค่าไฟแพงในตอนนี้ จะมีการทบทวนในส่วนเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ ตรงนี้มันเป็นประกาศล่วงหน้าค่า FT ก็ต้องไปย้อนกลับดูว่าค่า FT ขึ้นเพราะอะไร ต้นทางแหล่งพลังงานว่าทั้งหมดเอามาจากไหน ซึ่งมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ น้ำมัน 80-90% ก๊าซ 60% เพื่อนำเข้ามาแล้วก็บวกค่าบริหารจัดการ ค่าภาษีอีก ซึ่งค่า FT ที่เขาคิดไว้เป็นการป้องกันความเสี่ยง ต้องดูว่ามันจะปรับได้อย่างไร
"เรื่องพลังงานเรามีปัญหาหนักไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทุกประเทศ ซึ่งเรื่องโครงสร้างพลังงาน เป็นเรื่องภายในที่ต้องมาปรับแก้กันอีกที เพราะเป็นเรื่องโครงสร้างสัมปทาน ที่มีคณะทำงานหลายคณะ แต่ตอนนี้เราต้องมาดูว่าต้นทุนเราต้องทำอย่างไร ให้ราคาพลังงานนั้นลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าลดต้นทุนได้ ราคาพลังงานก็จะลดลงเรื่อยๆ ค่า FT เป็นค่าที่เขาจำเป็นต้องประกาศเป็นระยะๆเพราะเป็นค่าความเสี่ยงที่อาจจะมีปัญหาความผันผวน ในระบบของเขา เขาวางแผนไว้ ซึ่งค่า FT เราติดเขาเป็นแสนล้าน ซึ่งเราไม่ได้ขึ้นเลย ก็ต้องเห็นใจกันมั่ง"
เมื่อถามว่า มีบางพรรคการเมืองนำเรื่องค่าไฟฟ้าไปโจมตีว่าเป็นการอุ้มนายทุน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อุ้มนายทุนที่ไหน เขาเป็นสัญญา เขามาทำใหม่ เป็นโรงไฟฟ้าแนวใหม่ ไม่ใช่โรงไฟฟ้าแบบเดิม เท่าที่ตนฟังเหตุผลนั้น โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน ใช้ผ่านลิกไนต์ มันจะหมดอายุแล้ว เราจะเปลี่ยนไปใช้โรงไฟฟ้าก๊าซ ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน แต่ที่สุดปัญหาตอนนี้มาจากราคาต้นทุน และเราต้องหาเงินไปดูแลเขา ซึ่งต้องขอไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้เราดูแลคนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 บาทไปแล้ว งั้นตอนนี้เราต้องหาเงิน และต้องไปถาม กกต.ก่อนด้วย
เมื่อถามว่า ตอนนี้รัฐบาลมีช่องทางในการหาเงินช่วยประชาชนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็บอกอยู่แล้วว่าเงินมันเหลือจำกัด และงบกลางก็ใช้ไม่ได้ กู้ก็ไม่ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังคิดอยู่ ขอให้รอเดี๋ยว กำลังคำนวณอยู่ ยังไม่ต้องเข้าครม. กำลังคำนวณอยู่ จะเอาวันนี้เดี๋ยวนี้มันไม่ได้หรอก
พท.โต้ยุค 'ยิ่งลักษณ์' ต้นเหตุ
ทางด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีช่วยประชาชนปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ว่า การแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟแพงในระยะสั้น คือต้องมีการส่งเสริมให้ติดโซลาร์รูฟท็อป และให้ซื้อขายกันเป็นยูนิตเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม อีกทั้งบางบ้านอาจจะมีรายได้จากการขายไฟให้กับภาครัฐได้ด้วยเช่นกัน และต้องลดขั้นตอนการซื้อขายไฟดังกล่าวปัจจุบันใช้เวลานานมาก กว่าจะได้ใบอนุญาต ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
"วันนี้ไม่มีภาษีนำเข้าของแผงโซลาร์เซลล์แล้ว แต่ก็ยังมีราคาบางส่วนที่สูงอยู่ ทางพรรคชาติไทยพัฒนาจะเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการติดตั้ง 50:50 กับพี่น้องประชาชน คือรัฐออกครึ่งหนึ่งและให้ประชาชนที่ติดโซลาร์รูฟท็อปออกอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาในสถานการณ์ที่ค่าไฟแพงเช่นนี้" นายวราวุธระบุ
ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวการตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นผิดปกติว่า เกิดจากสาเหตุ 1.ระบบการคิดในโครงสร้างพลังงาน เป็นค่าใช้จ่ายที่ส่งผ่านไปให้ประชาชนเท่านั้น 2.ค่าพร้อมจ่าย ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องใช้จริง 54% ขณะที่ความต้องการใช้จริงอยู่ที่ 15% ซึ่งค่าพร้อมจ่ายนี้ผูกพันกับข้อสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งรัฐต้องผ่อนปรน หาวิธีการจัดการ ซึ่งพรรคมีศักยภาพที่สามารถทำได้ 3.โครงสร้างการบริหารค่าไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าผลิตอยู่ 60% สายไฟฟ้า 25% รวมแล้วเป็น 85% ที่เหลือสำรองอีกประมาณ 15% ซึ่งเป็นโครงสร้างปกติ หากพรรคเป็นรัฐบาลสามารถประหยัดในส่วนของ 25% ได้ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้
นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากกระแสข่าวที่ไฟฟ้าแพง เพราะมีการอ้างอิงสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เซ็นสัญญาเพิ่มกิโลวัตต์ ซึ่งหากย้อนไปช่วงนั้น พบว่าจีดีพีไทยเติบโตประมาณ 7% ดังนั้นการมีกิโลวัตต์ไฟฟ้าที่เหลือ เพื่อการรองรับเศรษฐกิจที่โตขึ้น จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ 8 ปีที่ผ่านมาจีพีดีไทยโตต่ำกว่าที่ประมาณการไว้จากการบริหารของรัฐบาลนี้ อีกทั้งไม่มีการเปิดประมูลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระเข้ามาอีก ดังนั้นข้อกล่าวหาว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำให้ค่าไฟแพงที่เกิดขึ้น จึงไม่เป็นความจริง เกิดจากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพและวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจนมากกว่าที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการฯ เพื่อขอให้แสวงหาข้อเท็จจริงกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้ามีราคาแพง การขึ้นค่าเอฟทีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปริมาณไฟฟ้าสำรองมีมาก แต่กลับเปิดโอกาสให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพิ่มเติม อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจฯ แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อมีข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ