ปิด7วันอันตราย 264ศพเจ็บ2พัน สถิติ3ปียอดลด

ศปภ.สรุป 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ อุบัติเหตุ 2,203 ครั้ง ตาย 264 ราย เจ็บ 2,208 คน กทม.แชมป์ตายสะสม 22 คน ขณะที่เสียชีวิตลดลง 5.04 % จากขับรถเร็ว-เมาแล้วขับ "ผบ.ตร." พอใจ หลังบังคับใช้ กม. 10 ข้อหาหนัก ด้านนายกฯ ขอบคุณทุกฝ่ายตั้งเป้าปี 70 ดับไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากร

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนตามถนน เส้นทางต่างๆ ที่ดูแลประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์อย่างเหน็ดเหนื่อย ซึ่งผลที่ออกมาก็ดีขึ้นตามลำดับ โดยวันนี้ได้รับรายงานอุบัติเหตุมีจำนวนสูงขึ้น แต่เสียชีวิตลดลง ตนไม่อยากให้มีเสียชีวิตแม้แต่รายเดียว แต่เป็นสิ่งที่ยาก เพราะรถมีมากและหลายคนไม่เคารพกฎจราจร ขับรถเร็วเกินกำหนดในพื้นที่ที่ไม่ควรใช้ความเร็ว คงต้องขอความร่วมมือกับประชาชน  ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เสียสละวันหยุดที่จะได้อยู่กับครอบครัว ขอบคุณมากที่มาดูแลประชาชน ทำอย่างไรเราจะลดภาระเหล่านี้ให้ได้ เพื่อทุกคนจะได้พักผ่อนกันบ้าง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม. โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รายงานว่า ในปี 2570 จำนวนผู้เสียชีวิตจะต้องไม่เกิน 12 คนต่อประชากร 1 แสนคน ถือเป็นมาตรฐานที่เข้มข้น เนื่องจากทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดว่า ตัวเลขดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นได้ภายในปี 2573 แต่ไทยจะทำให้ได้ภายในปี 2570 ซึ่งจะเห็นมาตรการที่เข้มข้นของหน่วยงานรัฐเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เม.ย.2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ" เกิดอุบัติเหตุ 183 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 16 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน วันที่ 11-17 เม.ย.66 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 68 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 22 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 70 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง พังงา

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ในภาพรวมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 5.04 รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 1.55 ส่วนดื่มแล้วขับลดลงร้อยละ 3.26

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี ช่วงสงกรานต์ปีนี้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 13 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึงร้อยละ 15 สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย

 “แม้ว่าการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 66 จะสิ้นสุดลง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุตลอดทั้งปี” นายบุญธรรมกล่าว

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวในการประชุมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 ว่า มาตรการควบคุมความปลอดภัยเข้มข้นในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย.66 ที่ผ่านมา ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจและบรรลุเป้าหมายที่ทางรัฐบาลตั้งไว้ คือการลดอุบัติเหตุจากค่าเฉลี่ยสามปีย้อนหลังให้ได้ 5% ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวน 264 คน ซึ่งนับว่าลดลงจำนวนมากเช่นเดียวกับจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ลดลงกว่า 10% โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเกินกว่าที่คาดไว้คือ 22 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องนำมาปรับปรุงเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป

 อีกทั้งยอมรับว่าการดำเนินการในปีนี้ยากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบในรอบ 3 ปี แต่ถือว่าเป็นปีที่สามารถลดอุบัติเหตุได้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาคีเครือข่าย ฝ่ายปกครองของแต่ละจังหวัดที่ขับเคลื่อนร่วมกับตำรวจทุกวัน

   ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เน้นบังคับใช้กฎหมายใน 10 ข้อหาหลัก และจากสถิติพบว่าสามารถจับกุมในข้อหาใช้ความเร็วเกินกำหนดและเมาแล้วขับได้มากที่สุด โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายเมื่อมีการกระทำผิดด้วย

สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก อาทิ มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนทั่วประเทศ มีจำนวนจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 2,183 จุดตรวจ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,637 จุดตรวจ พบผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 499,282 ราย เป็นข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 23,278 ราย (มากกว่าค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลังคิดเป็น 21.31%) ขับรถเร็วเกินกำหนด 195,118 ราย/ไม่สวมหมวกนิรภัย 94,745 ราย/ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 24,967 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีเมาแล้วขับ เป็นการนำผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ซึ่งมีโอกาสก่ออุบัติเหตุออกจากท้องถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้จำนวน 23,278 คน 

ส่วนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด (36.67%), ดื่มแล้วขับ (27.23%) และตัดหน้ากระชั้นชิด (17.63%) ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ รถจักรยานยนต์ (82.01%), รถกระบะ (7.05%) และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (2.96%) สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากที่สุด คือไม่สวมหมวกนิรภัย (65.02%) และดื่มแล้วขับ (21.10%) 

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยข้อมูลยอดสะสม 7 วันอันตราย (วันที่ 11-17 เมษายน 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,869 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69, คดีขับรถประมาท 23 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.26, คดีขับซิ่ง 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.01, คดีขับเสพ 270 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.04

ส่วนจังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร จำนวน 522 คดี 2.ร้อยเอ็ด จำนวน 473 คดี 3.เชียงใหม่ จำนวน 458 คดี  พบว่าปีนี้สถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,434 คดี คิดเป็นร้อยละ 20.08 (พ.ศ.2565 มีจำนวน 7,141 คดี) พร้อมย้ำถึงมาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

30วันเลือกนายกปทุม

"พิเชษฐ์" แจ้งสภา 143 สส.สังกัดพรรคประชาชนแล้ว ด้าน "ณัฐวุฒิ" เผยใช้อักษรย่อ "ปชน."