สธ.กางแผนรับมือโควิด ‘XBB.1.16’ระบาดทั่วโลก

สธ.กางแผนล้อมคอกโควิดพุ่งหลังสงกรานต์  พร้อมเปิดศูนย์ฉุกเฉินรับมือ ด้านกรมวิทย์ระบุเฝ้าระวังเข้มข้น ชี้ XBB.1.16 จ่อระบาดหลักช่วงต่อไปทั้งไทยและทั่วโลก ยันยังไม่พบหลบภูมิมากกว่าตัวอื่น ขณะที่ “อนุทิน” เผยยังไม่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง วอน ปชช.รับวัคซีนเข็มกระตุ้นโอมิครอน ชาวบ้านผวาหนักแรงงานต่างด้าวดับสังเวยสายพันธุ์ใหม่ โคราชน่าห่วงติดกันระนาวอีกระลอก

เมื่อวันจันทร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ว่า ตอนนี้ตนเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ได้กำชับให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไปให้มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เคยมอบนโยบายไปก่อนหน้านี้

 “เพราะตอนนี้ไม่สามารถมอบนโบบาย ทำได้เพียงสนับสนุนเท่านั้น หากผู้บริหารเสนออะไรมาที่ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.หรือสิ่งที่จำเป็น ผมต้องสแตนด์บายรอเพื่อให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้ไม่กล้าใช้คำว่าสั่งการอะไร” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ขณะนี้ปลัด สธ.กำลังเปิดศูนย์ฉุกเฉิน หรือ eoc และให้การยืนยันว่าแม้จะมีการติดเชื้อมากขึ้น ก็ต้องขอให้ประชาชนมารับวัคซีนมากขึ้นเช่นกัน เพราะการฉีดวัคซีนจะสามารถทำให้ระดับความรุนแรงของเชื้อลดลง ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นนั้นก็ยังคงเฝ้าระวังอยู่แล้ว พร้อมให้การยืนยันกับทุกคน เรื่องเวชภัณฑ์และทีมแพทย์มีความพร้อมมากๆ

"ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการมีความใกล้ชิดมากขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีความรุนแรงส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มผู้ป่วย 608 กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และมีเชื้อโควิดเป็นตัวเร่งเร้าให้มีอาการหนักขึ้น รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยขอความกรุณาให้ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็จะสามารถทำให้ความเสี่ยงทั้งหลายลดลง เพราะยังเป็นเชื้อโอมิครอนอยู่ ซึ่งวัคซีนยังสามารถลดความรุนแรงของเชื้อได้" นายอนุทินระบุ

นายอนุทินยังกล่าวถึงความกังวลที่ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นคลัสเตอร์ และทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อพีกขึ้นเหมือนปีก่อนหรือไม่ว่า เรื่องนี้ต้องให้ไปถามแพทย์ แต่เท่าที่ได้รับการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยืนยันว่ายังอยู่ในวิสัยที่ยังไม่ถือว่าเป็นความเสี่ยง การควบคุมดูแลต้องอยู่ที่ทั้งสองฝ่าย หากป่วยแล้วป่วยหนักเรามียารักษา และเพิ่มความคุ้มกันไปด้วยซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มผู้ป่วย 608

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์สัปดาห์ล่าสุดวันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ข้อแนะนำประชาชนหลังเทศกาลสงกรานต์ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้ให้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประชาชน 3 มาตรการ คือ 1.ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ เริ่มเดือนพฤษภาคม 2566 ก็จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดีสามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ซึ่งยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้

นพ.โอภาสระบุด้วยว่า 2.สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกิจกรรมหรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 608 จำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย และ 3.ให้ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวกให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการยังคงเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และพบ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น

"ส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16 พบมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันทั่วโลก โดยพบว่าในประเทศอินเดียมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเชื่อว่า XBB.1.16 มีแนวโน้มจะมาแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมดในที่สุด หรือกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่จะระบาดในช่วงต่อไป แต่ยังไม่พบว่ามีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนอื่นๆ และยังไม่พบว่ามีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในช่วงเวลานี้เช่นกัน" นพ.ศุภกิจระบุ

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.00 น. พ.ต.ต.ศรัณยพงศ์ ทองปาน สารวัตร (สอบสวน) สน.วัดพระยาไกร รับแจ้งเหตุพบผู้เสียชีวิตภายในห้องพักแห่งหนึ่ง แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กทม. จึงรุดไปตรวจสอบพร้อมแพทย์นิติเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และหน่วยกู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู จากการตรวจสอบห้องพักชั้นบนสุดซึ่งเป็นส่วนต่อเติมบนดาดฟ้า พบผู้เสียชีวิตเป็นชายสัญชาติเมียนมา อายุ 34 ปี เมื่อนำชุดตรวจเอทีเคทำการแหย่ทดสอบในจมูกผู้ตาย พบว่าผลเป็นบวกขึ้น 2 ขีด

จากการสอบสวนผู้พักอาศัยในอาคารเดียวกันทราบว่า ผู้ตายเป็นแรงงานต่างด้าว ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาผู้ตายไม่ได้ทำงาน แต่ก็ออกไปทำธุระและเล่นสงกรานต์กับเพื่อนๆ ร่วมชาติ กระทั่งเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ผู้ตายป่วยเป็นไข้และมีอาการตาแดง คล้ายติดโควิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ก็ไม่ยอมเดินทางไปรักษา จนมีผู้มาพบเป็นศพที่ห้อง

เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้มอบร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งหน่วยกู้ภัยทำการห่อด้วยถุงป้องกันเชื้อไปเก็บรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยหลังจากนี้จะติดต่อนายจ้างและญาติๆ ที่ประเทศเมียนมาเพื่อตกลงกันว่าจะนำไปฌาปนกิจที่วัดใดต่อไป

ที่ จ.นครราชสีมา นายแพทย์เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หัวหน้าศูนย์วัคซีนโควิดฯ จ.นครราชสีมา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.จนถึงขณะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ทั้งหมด 187 ราย และได้รับการตรวจยืนยันผลแล้วจำนวน 19 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 10% ในจำนวนนี้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช 5 ราย มี 2 รายต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

นพ.เจษฎ์ระบุด้วยว่า สำหรับอาการของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตัวใหม่ สายพันธุ์ XBB.1.16 ที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ จะมีอาการในเยื่อบุต่างๆ ที่อยู่รอบจมูก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก มีอาการแดง มีอาการอักเสบมากขึ้น อาการที่พบเช่นตาแดง ทั้งแดงหนึ่งข้างหรือสองข้าง หรือจมูกมีเลือดกำเดาออก อันนี้ต้องระวังไว้ด้วย เพราะอาการมันจะไม่ค่อยคล้ายกับเชื้อโควิด-19 ช่วงแรกๆ ที่เริ่มระบาด ซึ่งเราจะได้ยินเรื่องของลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น แต่ตอนนี้มันเริ่มปรับไปในเรื่องของไวรัสลงไปที่เยื่อบุต่างๆ รอบร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณตา จมูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรู้เพราะมีอาการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป

ที่ จ.ภูเก็ต นางศุภลักษณ์ ดำรงค์เชื้อ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า พบจำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นประมาณ 435 ราย เฉลี่ยแล้วประมาณ 12 รายต่อวัน ถือว่าไม่เยอะหากนับทั้งประเทศ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในรายสัปดาห์ที่ผ่านมาประมาณ 2 ราย นอกจากนี้มีคำถามมาเยอะมาก คือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีการกระจายข่าว ตอนนี้ในประเทศไทยมีจำนวน 6 ราย ยังไม่เข้าที่ภูเก็ต. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บูมเศรษฐกิจ 2 ชาติ ! “อนุทิน” เร่งสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน จับมือกัมพูชา กระตุ้นค้าขายชายแดน-ท่องเที่ยว

วันที่ 21 พย. บริเวณสะพานข้ามคลองตะเคียน ด่านผักกาด จุดก่อสร้างสะพานมิตรภาพจันทบุรี-ไพลิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะผู้บริหาร อาทิ นายอรรษิษฐ์ สัมพัน์รัตน์