ขึ้นภาษีVATหั่นงบฯ พท.แบไต๋ที่มา‘เงินดิจิทัล’ ล้ม‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’

กกต.ขีดเส้นพรรคการเมืองส่งนโยบายที่ต้องใช้เงินภายใน 18 เม.ย. ก่อนเผยแพร่บนเว็บไซต์ 21 เม.ย.นี้ ขณะที่ "เพื่อไทย" เสียงแตกปมแหล่งที่มารายได้นโยบายแจก "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" จ้องขึ้นภาษี VAT ควบหั่นงบทุกกระทรวง หากไม่เพียงพออาจกู้เงินบางส่วน แต่ไม่แจง กกต.หวั่นโดนโจมตีส่งผลลบต่อคะแนนเสียง แบไต๋ยกเลิก "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" อ้างโครงการซ้ำซ้อน งบสูงขึ้น "เต้น" โวประชาชนตื่นตัวอยากเข้าถึงนโยบาย "ศรีสุวรรณ" ไล่บี้ไม่หยุด ร้อง สตง.สอบแจกเงินดิจิทัลเสี่ยงทำลายวินัยการเงินการคลัง 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศ การกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 กำหนดให้การกำหนดนโยบายใดของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน นอกจากให้คำนึงถึงความเห็นของสาขา พรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแล้ว

นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้นอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ 1.วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการกำหนดนโยบายให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มาตรา 57 กำหนด ก่อนที่จะนำไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมาเป็นลำดับ โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองทุกพรรคส่งนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงินให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ ภายในวันที่ 18 เมษายน 2566 เพื่อจะได้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเป็นข้อมูลอีกทางหนึ่งด้วย

ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงขอประชาสัมพันธ์การกำหนดนโยบายตามมาตรา 57 ของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ประชาชนได้รับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th โดยสามารถเข้าดูได้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2566 เป็นต้นไป

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ขอให้พรรคการเมืองชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ที่ยังขาดเรื่องข้อมูลการแจ้งที่มาของเงินและวงเงินที่จะใช้ว่า พรรคเพื่อไทยจะเข้าไปชี้แจงต่อ กกต.ในที่ 18 เม.ย. โดยเป็นเรื่องทางธุรการ อาจไม่จำเป็นต้องไปด้วยตัวเอง สามารถส่งหนังสือไปได้ หรืออาจจะส่งเจ้าหน้าที่ไป อย่างไรก็ดี ได้มีการสรุปข้อมูลการใช้งบประมาณต่างๆ ไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเลต แต่มีหลายนโยบาย ส่วนประเด็นที่จะชี้แจงนั้นไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากมีรายละเอียดจำนวนมาก

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึงปฏิกิริยาที่มีต่อนโยบายดิจิทัลวอลเลตของพรรคเพื่อไทยว่า มีทั้งประชาชนที่ตื่นตัวอยากเข้าถึงนโยบาย ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เราเชื่อมั่นในประสบการณ์และเกียรติประวัติของพรรคเพื่อไทย ว่าสามารถทำนโยบายให้ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรม พล.อ.ประยุทธ์อาจไปเทียบเคียงกับพรรคที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่อาจจะทำนโยบายไม่สำเร็จ ยืนยันว่าไม่ใช่แนวทางของพรรคเพื่อไทย ส่วน พล.อ.ประยุทธ์มีหน้าที่กลับไปดูว่านโยบายใดที่ประกาศแล้วทำสำเร็จ และนโยบายใดที่ประกาศในนามพรรคการเมืองใหม่ อาจจะทำไม่ได้อีก

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า จากกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ชี้แจงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณนโยบายหาเสียงของพรรค ซึ่งยังขาดเรื่องข้อมูลการแจ้งที่มาของเงินและวงเงินที่จะใช้ โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประชาชนอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวกว่า 50 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท

โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้หารือกับทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวนโยบายและที่มาของงบประมาณ เพื่อส่งคำชี้แจงต่อ กกต.ในวันที่ 17 เม.ย. อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทีมกฎหมายและทีมเศรษฐกิจมีความเห็นไปคนละทิศละทางกัน โดยทีมกฎหมายแนะนำให้ชี้แจงที่มาของงบประมาณให้ชัดเจนเพื่อให้ กกต.สิ้นข้อสงสัย ไม่เช่นนั้นอาจจะสุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย และส่งผลเสียถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทยได้ในภายหลัง

 “โดยเฉพาะประเด็นการเก็บภาษีจะมาจากภาษีชนิดใดบ้าง อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากจะเก็บเพิ่มจากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7 เป็นร้อยละเท่าไร เพื่อให้มีรายได้มาดำเนินการนโยบายดังกล่าว แต่มีการทักท้วงกันภายใน จึงอาจจะไม่ระบุการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในคำชี้แจง” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวระบุอีกว่า สำหรับงบประมาณปี 2567 ซึ่งหลังจากที่หักงบประจำ งบผูกพัน และงบใช้จ่ายหนี้เงินกู้ จะเหลือให้ดำเนินโครงการได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเสนอให้หั่นงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ซึ่งคาดหวังว่าจะรีดได้มากสุด 1 แสนล้านบาท แต่คาดว่าหลายกระทรวงอาจจะไม่ยินยอม แตกต่างจากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่หลายกระทรวงพร้อมใจให้หั่นงบประมาณของตัวเองลง

ทั้งนี้ เมื่อมีเงินเหลืออยู่จากงบประมาณปี 2567ประมาณ 2 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเก็บภาษีเพิ่มได้อีก 5 หมื่นล้านบาท และหั่นงบกระทรวงกว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้มีงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอ ทำให้มีการเสนอให้ชี้แจงต่อ กกต.ว่าอาจจะมีการกู้เงินบางส่วนเพื่อนำมาดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ทีมกฎหมายได้ทักท้วงเพราะอาจส่งผลกระทรวงทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ทำให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันเอง

 “มีข้อกังวลว่า หากระบุไปว่าอาจจะต้องกู้เงินบางส่วนในคำชี้แจง และหาก กกต.ออกมาเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว จะส่งผลลบต่อคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยทันที เพราะที่ผ่านมาแกนนำพรรคเพื่อไทยโจมตีรัฐบาลมาตลอดว่ากู้มาแจก และเหตุผลในการกู้เงินมาดำเนินการโครงการประชานิยมจะทำให้คู่แข่งมีช่องโจมตีได้”

นอกจากนี้ มีข้อถกเถียงว่าในคำชี้แจงต่อ กกต.จะระบุให้ชัดเลยหรือไม่ว่า หากพรรคเพื่อไทยดำเนินตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะต้องยกเลิกโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเลยหรือไม่ เพราะหากดำเนินการควบคู่กันจะเป็นภาระงบประมาณที่สูงขึ้นไปอีก แต่หากระบุชัดว่าจะยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากมีผู้ผ่านเกณฑ์รอบใหม่กว่า 14 ล้านคน และอยู่ระหว่างอุทธรณ์สิทธิหลายล้านคน ซึ่งจะทำให้เสียคะแนนในฐานนี้ได้ ทีมกฎหมายและทีมเศรษฐกิจจึงพยายามประวิงเวลาการชี้แจงกรณีดังกล่าวกับ กกต.

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 18 เม.ย.66 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซ.อารีย์ ถ.พระรามที่ 6 พญาไท เพื่อขอให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจตามมาตรา 244 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบมาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 53 มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561

เพื่อตรวจสอบว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่จะแจกเงินดิจิทัลให้แก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนนั้น เสี่ยงต่อการทำลายระบบวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ หากพบว่ามีความเสี่ยงให้ดำเนินการแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับการเงินการคลังของรัฐโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา