นายกฯ ห่วงโควิดพุ่งหลังสงกรานต์จบ แนะกลุ่มเสี่ยงตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงาน “สธ.” เปิดตัวเลขยอดเพิ่มทั้งผู้ป่วยใหม่-ปอดอักเสบ แนะอย่าวิตกสายพันธุ์ XBB.1.16 “กทม.” สั่งสถานพยาบาลในสังกัดเตรียมพร้อม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการพบปะสังสรรค์และกิจกรรมรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประเมินว่าหลังสงกรานต์น่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้น ดังนั้นก่อนกลับเข้าทำงานตามปกตินั้น ขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรค โดยให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตัวเองภายใน 7 วัน หลีกเลี่ยงสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากเริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ครั่นเนื้อครั่นตัว ให้ตรวจ ATK หากผลเป็นบวก ก็ให้ปรึกษาแพทย์รักษาตามสิทธิเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดในที่ทำงาน แต่ไม่แนะนำตรวจ ATK ในขณะที่ยังไม่มีอาการ
“เพื่อรับกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่คาดจะเพิ่มขึ้น สธ.ได้เตรียมพร้อมรองรับทั้งในส่วนของยา เวชภัณฑ์ รวมถึงเตียงผู้ป่วย ซึ่งสามารถรองรับไว้เพียงพอ ไม่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล” น.ส.ไตรศุลีกล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย.ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ซึ่งมีแนวโน้มพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย เพิ่มขึ้น 58% และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน โดยสัปดาห์ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว จึงขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยสถานบริการจะปรับการให้บริการรูปแบบวัคซีนโควิดประจำปีตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป
นพ.ธเรศยังกล่าวถึงการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งพบใน 22 ประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ว่าสายพันธุ์ล่าสุดมีความสามารถติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม และฐานข้อมูล GISAID เมื่อวันที่ 13 เม.ย. มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3,000 ราย
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาใน รพ.ระยะนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการหนักได้แน่นอน แม้ไม่ได้ป้องกันติดเชื้อได้ 100%
นพ.โสภณยังกล่าวถึงผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ในไทย 6 รายว่า ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อยู่ในวัยทำงาน และอาการป่วยไม่รุนแรง ส่วนอาการสำคัญของ XBB.1.16 ที่อินเดียรายงานว่ามีเยื่อบุตาอักเสบ ยังไม่มีรายงานในผู้ป่วยที่พบในไทย ซึ่งกรมได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก และขอให้มารับวัคซีนโควิดถ้าหากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่มีประชาชนออกมาเล่นน้ำจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงที่สุดแล้ว แต่เชื่อว่าการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหลังสงกรานต์นั้นจะไม่กระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน จึงขอให้สังเกตอาการตนเองใน 7 วันหลังจากนี้ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สำหรับการตรวจ ATK สามารถตรวจเฉพาะตอนที่มีอาการป่วย
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิดในไทยขณะนี้สายพันธุ์หลักยังเป็น XBB.1.5 ประมาณ 47% รองลงมาคือ XBB.1.9.1 ประมาณ 27%, XBB.1.16 ประมาณ 13%, XBB.1.5.7 ประมาณ 7% และ XBB.1.16.1 ประมาณ 7% ซึ่ง XBB.1.16 เป็นตัวที่ทั่วโลกกำลังจับตาเนื่องจากมีการแพร่เร็ว ทั้งยังหลบหลีกภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีนได้ดี แต่ข้อมูลที่พบอาการทางคลินิกยังไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น แม้ติดเชื้อยังไม่มีใครล้มป่วยหนัก
“ที่อินเดียมีการระบาดมาก แต่คนไข้อาการหนักไม่ได้เพิ่มมาก การนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และให้เกิดการเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดการหย่อนยาน เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปัจจุบัน ลักษณะการระบาดมีความถี่มากขึ้น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ระบุ
ส่วน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงแผนรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่จากช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ผู้ที่มีอาการควรตรวจ ATK ทุกราย หากมีผลบวกให้เข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว โดย กทม.ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง เตรียมความพร้อมของยา เวชภัณฑ์ และระบบการรักษาพยาบาล เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ คาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’ได้ฤกษ์ลงพื้นที่นํ้าท่วม
นายกฯ พร้อมลุยลงพื้นที่น้ำท่วมใต้แล้ว เล็งเหยียบเบิกฤกษ์ 2 จังหวัด
พิชัยบี้ส่งท้ายปี กนง.ควรหั่นดบ. ลดลงอีก0.25%
เดอะโต้งรอต่อไป “พิชัย” ยันประชุม 17 ธ.ค.นี้ยังไม่ชงชื่อ บี้แบงก์ชาติส่งท้ายปี
ไอติมชวนพท. ส่งร่างแก้รธน. รุมบีบวันนอร์
“วิสุทธิ์” ออกตัว “เพื่อไทย-รัฐบาล” ดันเต็มสูบแล้วเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
สีน้ำเงินซุ่มรวบท้องถิ่น! แม้วจ่อขึ้นเหนือหาเสียง
มาแบบเงียบๆ กินรวบสนามท้องถิ่น เครือข่ายสีน้ำเงินกวาดนายก อบจ.ตาก-เพชรบูรณ์ พ่วงนายกเล็กบุรีรัมย์
‘อันวาร์’ตั้งทักษิณนั่งที่ปรึกษา
"แพทองธาร" ขอบคุณมาเลเซียต้อนรับอบอุ่น รับ “อิบราฮิม” ตั้ง “พ่อทักษิณ” เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน
ฟันแก๊งอุ้มพ่อนายกฯ ปปช.มีมติคุ้ยป่วยทิพย์/รทสช.ผวาเช็กบิลรีบปัด!
ชั้น 14 พ่นพิษแล้ว ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ไต่สวนแก๊งอุ้ม “พ่อนายกฯ” นอนตีพุง รพ.ตำรวจ ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ 12 รายถูกหวยเต็มๆ