“แสวง” ย้ำ 3 เงื่อนไขนโยบายหาเสียงที่ต้องใช้เงิน กกต.บอกพรรคเพื่อไทยยังไม่แจ้งที่มาของเงิน ทั้งที่ “เศรษฐา” ปราศรัยว่าแจ้งแล้ว! “ศรีสุวรรณ-สนธิญา” ยื่นเรื่องให้สอบด่วน ขู่ถึงขั้นยุบพรรค "ไพบูลย์" ฟันธงกฎหมายเข้าสภาไม่รอดแน่ ไม่ชั้นสภาสูงก็ศาลรัฐธรรมนูญ เสียงติงผลประโยชน์ทับซ้อนกระหึ่ม “เกียรติ” ข้องใจทำไมบังเอิญที่ “แสนสิริ” ซื้อบริษัทดิจิทัล เด็กเพื่อไทยแจงทั้งที่ไม่มีคนสงสัย บอกไม่ใช่เงินสกุลใหม่ไม่ใช่ฟอกเงิน “จตุพร” อัดมีที่ไหนแจกมั่วซั่ว “เศรษฐี” ก็ได้กันทั่วหน้า หยิบคำแม้วมาย้อนด่านโยบายปัญญาอ่อน
เมื่อวันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566 ยังคงมีความต่อเนื่องกรณีนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ระบุจะแจกเงินในกระเป๋าดิจิทัลคนละ 10,000 บาทให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่านโยบายที่ต้องมีการใช้จ่ายเงินต้องมี 3 เงื่อนไข คือ 1.วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่
“ตอนนี้มี 6 พรรคที่แจ้งว่ามีนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงินมายัง กกต. โดยวันนี้ก็ให้สำนักงานแจ้งไปยังทุกพรรคที่รายงานมา ว่าต้องชี้แจง 3 เงื่อนไขดังกล่าวมาให้ครบถ้วน ซึ่งนโยบายแบบนี้ถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าวอาจผิดเข้าข่ายหลอกลวงตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 73 (5) ก็ได้ แต่กฎหมายไม่ได้บอกว่าถ้ารายงานไม่ครบแล้วจะมีความผิดเพียงแต่กำหนดว่าให้ กกต.แจ้งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน และมีโทษปรับจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน" นายแสวงกล่าว
พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต.รับผิดชอบงานด้านพรรคการเมือง กล่าวว่า กกต.ยังไม่ได้รับแจ้งจากพรรค พท.ถึงที่มาของเงิน และวงเงินที่ต้องใช้ในนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามที่ กกต.มีหนังสือให้แจ้งกลับมาโดยเร็ว แต่คิดว่าอีกไม่นานพรรคคงแจ้งมา ซึ่ง กกต.ไม่ได้ให้เฉพาะพรรค พท.เท่านั้นที่ชี้แจง แต่จะมีหนังสือแจ้งไปยังทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ถ้านโยบายหาเสียงของพรรคเป็นนโยบายที่ต้องใช้จ่ายเงิน
“หากไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนก็มีโทษ โดยตามขั้นตอนสำนักงาน กกต.มีหนังสือไปแล้วยังไม่แจ้งกลับมาก็จะเสนอ กกต.ออกคำสั่ง ถ้าหากยังไม่ดำเนินการอีกก็มีโทษปรับ 500,000 บาทนับแต่วันที่ กกต.กำหนดให้แจ้ง และปรับอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ยืนยันว่า กกต.ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกรอบ” พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ระบุ
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่าอาจมีการพิจารณายุบพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์กล่าวว่า เมื่อมีการร้องเรียน กกต.ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน หากสอบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลก็จะแจ้งให้ผู้ร้องทราบ แต่ถ้ามีน้ำหนักก็จะเสนอให้ กกต.พิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำร้องยุบพรรคใดที่จะเสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เม.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ปราศรัยบนเวทีที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย. กกต.ได้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากพรรคเพื่อไทยไป ซึ่งคณะกรรมการบริหารฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายเศรษฐกิจก็ได้รวบรวมข้อมูล ซึ่งเข้าใจว่าได้นำส่ง กกต.แล้ว
‘พี่ศรี-สนธิญา’ พร้อมใจร้อง กกต.
ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีนายเศรษฐาและพรรค พท.แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัครและพรรค พท. โดยไม่บอกความจริงให้หมด เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ เพราะเงินดังกล่าวจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินเหลือถึงประชาชนจริงๆ เพียง 8,500 บาท และเมื่อสิ้นปีภาษีต้องแจ้งเป็นรายรับต่อกรมสรรพากร รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย
“ที่สำคัญอาจสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เนื่องจากนายเศรษฐาเคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ก่อนโอนหุ้นทั้งหมดให้ลูกสาว แม้จะลาออกจากบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทุกตำแหน่งเพื่อมาลงการเมือง แต่จะทำให้สังคมไว้วางใจได้อย่างไรว่า การประกาศแจกเงินดิจิทัลจะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้อดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง" นายศรีสุวรรณระบุ
ด้านนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.เช่นกัน เพื่อให้ตรวจสอบกรณีพรรค พท.ประกาศนโยบายฟลัดเวย์เพื่อระบายน้ำลงทะเลทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยถมทะเลบางขุนเทียน และนโยบายแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท
“คนอายุ 16 ปีขึ้นไปในประเทศไทยมีประมาณ 54 ล้านคน ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 5.4 แสนล้านบาท พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะหักเงินมาจากกระทรวงใด หรือจากงบกลาง ซึ่งจะกระทบเป็นวงกว้างเพราะเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับรายจ่าย 20% ของประเทศไทยทั้งปี ดังนั้นขอเตือนไปยังพรรคเพื่อไทยว่า โปรดระมัดระวังว่าเมื่อใดที่นโยบายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง ไม่สามารถทำได้ เท่ากับหลอกลวงเพื่อให้ได้คะแนนนิยม จะนำไปสู่ความผิดตามกฎหมาย มาตรา 92 ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง มีสิทธิ์ที่จะถูกยุบพรรคได้” นายสนธิญากล่าว
ส่วนความคิดเห็นของบรรดานักการเมืองนั้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวประเด็นนี้ว่า จะมีปัญหาร้ายแรงมากในอนาคต ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วย เพราะการเสนอในลักษณะดังกล่าวเมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงต้องมีกฎหมายรองรับ แต่ปรากฏว่าไม่มีกฎหมายรองรับ และเป็นการแจกเงินในลักษณะหว่านแหไปทั่วหมด ขนาดมหาเศรษฐี คนร่ำรวย คนมีงานมีการทำ มีเงินหลายแสนก็ได้เงินเหมือนกันหมด เป็นแนวทางที่ไม่ควรเกิดขึ้นในนโยบายของพรรคการเมือง
“กระบวนการที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้ต้องเสนอกฎหมายในสภา เชื่อว่าจะได้รับการต่อต้านในสภาอย่างมาก ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และหาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้จะถูกยับยั้ง หรือหากผ่านไปเรื่องก็ถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่าศาลจะพิจารณาว่าไม่สามารถดำเนินการได้” นายไพบูลย์กล่าวและว่า เรื่องนี้ต้องทำความชัดเจนกับประชาชนก่อน การหาเสียงในลักษณะที่ไปตายเอาดาบหน้าตนไม่เห็นด้วย
ปชป.ข้องใจบริษัท XPG
ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนมีข้อสงสัยและคำถาม 5 ข้อ คือ 1.พรรคการเมืองต้องออกแบบนโยบายรับผิดชอบตอบโจทย์ชัดๆ ไม่ใช่วันหนึ่งพูดอย่างอีกวันพูดอย่าง ตอนนี้ยังงงอยู่ว่าจะจัดกี่รอบทุก 6 เดือนหรือ 1 ครั้ง และนำเงินมาจากไหนยังไม่ทราบ วันหนึ่งบอกว่า 5 แสนล้านบาท อีกวันบอกเอาจากงบประมาณ งบส่วนกลาง 30% หรือ 3 หมื่นล้านบาท ทุกอย่างไม่ตรงกัน คำถามจึงอยู่ที่ กกต.ว่าพรรคการเมืองเสนอนโยบายแบบนี้ได้หรือไม่ เป็นการโยนหินถามทางไปวันๆ แล้วผลกระทบเป็นอย่างไร
นายเกียรติกล่าวต่อว่า 2.พรรค ปชป.ไม่เห็นด้วยกับการนำเงินภาษีประชาชนไปแจกคนรวย ใน 55 ล้านคน อาจมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือ 10-15 ล้านคน แต่ที่เหลืออีก 35 ล้านคน ไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ แต่เอาภาษีไปให้เขา จะอ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟังไม่ได้ เพราะมีอีกหลายวิธีที่จะทำ 3.ทำไมถึงเริ่มแจกตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป หากบอกว่าจะช่วยนักเรียนกู้เงิน กยศ. เรายินดีเพราะถือว่าตรงเป้า แต่หากช่วยนักเรียนที่ไม่เดือดร้อนเราไม่เห็นด้วย เช่นนักเรียนที่ขับรถไปเรียนหรือพ่อแม่ขับรถมาส่งทุกวัน 4.ภาษีมีจำกัด ภาระของประเทศมีจำนวนมาก ทุกบาททุกสตางค์เอาไปใช้ต้องเข้าเป้า ไม่ใช่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก เสนอวิธีง่ายๆ คือ คนไหนไม่มีบัญชีธนาคาร หรือมีบัญชีธนาคารแต่มีเงินไม่ถึง 10,000 บาท ให้นำเงินเติมไปให้เขาจึงจะตรงเป้า และไม่ต้องผ่านกระเป๋าดิจิทัลใคร
“5.ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล ซึ่งทราบมาว่าบริษัท แสนสิริ เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (XPG) เมื่อปี 2021 เรียบร้อยแล้ว ทำไมบังเอิญแบบนี้ไม่ทราบ แต่ผมอยู่ในการเมืองมานาน พอเห็นภาพว่าเราเคยผ่านวิกฤตการเมืองมา เพราะนายกฯ ไปเจรจาเอฟทีเอทีไรก็ต้องพ่วงธุรกิจดาวเทียมไปด้วยทุกครั้ง ตัวอย่างเห็นได้ชัด การไปเจรจากับจีนมีการขยับวงโคจรเปิดทางให้ดาวเทียมอีกดวงผ่านได้ ไปเจรจากับอินเดียและออสเตรเลียก็ชัดเจนมาก เป็นข้อตกลงที่ระบุชื่อบริษัทเลย ซึ่งไม่มีในโลก และทำไมต้องบังคับให้คน 80% ของประชากรต้องใช้เงินดิจิทัล คนที่จะขายเงินสกุลดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ แต่วันที่ขายทรัพย์สินดิจิทัลเพื่อแจกประชาชน บริษัทนี้รวยทันที” นายเกียรติระบุ
นายเกียรติกล่าวด้วยว่า ยังพบปัญหาว่าร้านค้าพร้อมหรือไม่ที่จะรับเงินดิจิทัล จะสามารถไปขึ้นเงินกับใคร และโดนลดค่าเงินหรือไม่ ที่ผ่านมาเงินดิจิทัลผันผวนมาก ธนาคารระดับโลกเกิดผลกระทบ ดังนั้นเราจะไปแนวนี้หรือ ขอให้ช่วยตอบทีเพราะเป็นเรื่องใหญ่ และทำไมประจวบเหมาะกับการที่มีบริษัทที่ทำทรัพย์สินดิจิทัลในครอบครัว คนที่แถลงนโยบาย ต้องมีคำชี้แจงให้เกิดความชัดเจน เพราะยังมีอีกหลายวิธี หากจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงเป้า ใช้เงินน้อยได้ผลมาก แต่วิธีนี้ใช้เงินมากได้ผลน้อย
พท.ดิ้นแจงเงินดิจิทัล
ส่วนนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค พท.และโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรค พท.ชี้แจง 10 ประเด็น กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่า 1.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์ใช้เงินที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้นสามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ 2.เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล 3.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่ 4.กระเป๋าเงินดิจิทัลเงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหาย ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง
5.กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ที่ออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน และไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท 6.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชน ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุน 7.กระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาด สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย ตรงข้ามกับวิธีเดิมที่ต้องซื้อในร้านใหญ่หรือกลุ่มทุน 8.กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 9.กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และ 10.พรรค พท.สนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน ยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ระบุว่า "นายเศรษฐาและพรรค พท.แถลงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทจำนวน 54 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 5.4 แสนล้านบาท ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม แจกเงินบัตรคนจน หรือบัตรประชารัฐยังถูกวิพากษ์รุนแรง ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์แจกเงินให้เฉพาะคนจน แต่กรณีของนายเศรษฐาและพรรค พท.กลับแจกให้ทุกคน 54 ล้านคน ทั้งนายเจริญ สิริวัฒนภักดี, นายธนินท์ เจียรวนนท์ และนายเศรษฐา ล้วนได้รับ 10,000 บาทเช่นกัน ไม่มีข้อยกเว้น
“การหว่านทั้ง 54 ล้านคน อายุตั้งแต่ 16 ปีนั้น ไม่ได้จนกันทุกคน แต่ในทางการเมืองงบใช้ 5.4 แสนล้านบาทเป็นเงินประชาชน ส่วนร้านค้าอาจไม่เข้าอยู่ในโครงการนี้ เพราะต้องถูกตรวจสอบ ดังนั้นจะเหลือเพียงร้านสะดวกซื้อที่เป็นกระบอกสูบใหญ่ของทุนผูกขาดไทยเท่านั้น"
ย้อนรอยนโยบายปัญญาอ่อน
นายจตุพรกล่าวอีกว่า หลักคิดการแจกเงินทุกคนทั้งคนรวยและคนจนนั้นผิด และเข้าข่ายประโยชน์ทับซ้อนเช่นกัน เพราะตัวนายเศรษฐาได้รับการแจกด้วย และเนื่องจากนโยบายนี้จะนำเงินบาทไปค้ำประกันยกระดับเงินดิจิทัลนั่นเอง ดังนั้นถ้ายกกรณีของโครงการจำนำข้าวที่ควบคุมไม่ได้ผลมาเปรียบเทียบแล้ว ส่อจะเกิดการทุจริตมโหฬารได้เช่นกัน
“นายทักษิณ ชินวัตร เคยวิจารณ์การแจกเงินเป็นการปัญญาอ่อน ดังนั้นโครงการนี้จึงชัดเจนที่สุด ซึ่งไม่มีใครวิพากษ์การแจกเงินได้เจ็บแสบเท่านี้เลย มีปัญหาว่านายเศรษฐาไม่ไปฟังนายทักษิณในเรื่องนี้หรือ ถ้าเอาเงินส่วนตัวมาทำ ผมไม่เดือดร้อนด้วย แต่โครงการนี้เอางบประมาณแผ่นดินมาทำ แล้วประชาชนต้องมาแบกภาระหนี้ร่วมกัน” นายจตุพรกล่าวและว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลให้ทุกคนเป็นโครงการไม่สมเหตุสมผล และปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการเล็งเห็นผลทางการเมืองกับการหาเสียง
นายจตุพรกล่าวอีกว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศมา 8 ปี มีคนจน 22 ล้านคนมาขึ้นทะเบียนและได้รับบัตรคนจน แต่รัฐบาลกลับภูมิใจที่มีคนจนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และช่วงหาเสียงยังเสนอนโยบายเพิ่มเงินให้บัตรคนจน 22 ล้านคนอีก โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพิ่มเป็น 1,000 บาท พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 700 บาท พรรคไทยสร้างไทยเพิ่มเบี้ยบำนาญคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นเดือนละ 3,000 บาท ดังนั้นพรรคเพื่อไทยที่เสนอแจกเงิน 54 ล้านคนจึงเป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง และเฉลี่ยต่อเดือนแล้วได้แค่ 833 บาท น้อยกว่าทุกพรรคที่เสนอเป็นนโยบายด้วย
“อยากได้ยินว่าคนอายุ 16 ปีขึ้นไปประกาศสละเงินโครงการดิจิทัล โดยเริ่มต้นจากภาคประชาชนก่อนว่าไม่เอา 10,000 บาท เพราะประเทศนี้ไม่ได้อยู่ในฐานะมั่งคั่ง แล้วโครงการนี้มันเรื่องอะไรที่ต้องให้คนรวยด้วย ถ้าไม่แจกคนรวย แล้วนำเงินตามโครงการไปแจกให้คนจนตามบัตรคนจน 22 ล้านคน จะได้คนละประมาณเกือบ 25,000 บาท ซึ่งเป็นเงินมากโข เพราะคนที่ถูกหักไป 32 ล้านคนจาก 54 ล้านคน พวกนี้ไม่เดือดร้อนแน่ ถ้าเดือดร้อนคงไปขึ้นทะเบียนคนจนแล้ว”นายจตุพรกล่าว
นายจตุพรย้ำว่า จะบอกนายเศรษฐาว่าหลักคิดแจกเงินสร้างความฉิบหายให้ประเทศแบบนี้ไม่ได้ เพราะมันมีผลประโยชน์ทับซ้อน และนายเศรษฐาก็ได้เงิน 10,000 บาทด้วย สิ่งสำคัญการแจกด้วยหลักคิด 54 ล้านคนได้ประโยชน์ทางการเมืองแน่นอน เพราะคนไปเลือกเพื่อเงินหมื่นมันชัดเจน แต่พวกแจก 300-500-1,000 เฉยสนิทไปเลย ซึ่งนายทักษิณเป็นคนวิพากษ์นโยบายแจกเงินได้เจ็บแสบที่สุด โดยเมื่อ 15 มิ.ย.65 ในรายการแคร์ทอล์กบอกว่าปัญญาอ่อน ดังนั้นแล้วการแจกเงินดิจิทัล ย่อมเป็นคนปัญญาอ่อนเข้าข่ายตามที่นายทักษิณวิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"