เศรษฐาโอ่ยิ่งตียิ่งดัง บอกแจงแจกหมื่นกกต.แล้ว/พปชร.เชื่อซ้ำารอยเงินเยียวยา

"เศรษฐา" ปลื้มแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น โดนใจ พรรคอื่นช่วยตีปี๊บ ปัดรีดภาษีไม่เพิ่มหนี้ โวช่วยดันจีดีพีโต "ฝ่าย กม.-ทีม ศก." พท.แจง กกต.แล้ว พร้อมเคลียร์ให้สิ้นสงสัย “กิตติรัตน์” เย้ยรัฐบาลประยุทธ์ทำได้แค่หยอดน้ำข้าวต้ม ลั่นมาตรการนี้กระตุ้นหัวใจเศรษฐกิจให้ฟื้น "ไพบูลย์" ฟันธงทำยาก ชี้ต้องมีกฎหมายรองรับ ส่อซ้ำรอยคดีเงินเยียวยาม็อบ "สมชัย" โวย กกต.ไฟเขียวใช้เงินหลวงหาเสียง หวั่นเกทับบลัฟกันแหลกแน่ "ศรีสุวรรณ" ร้องเอาผิดเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดเวทีปราศรัยย่อยพบปะพี่น้องประชาชน โดยนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท อาจเป็นภาระหนี้สินของประเทศว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะช่วยขยายความออกไปเรื่อยๆ นโยบายนี้ตนคิดว่าโดน ฉะนั้นพรรคการเมืองอื่นๆ คงไม่พูดกัน จริงๆ เราต่อสู้กับความลำบากของพี่น้องประชาชน หากจะใช้คำว่าหยอดน้ำข้าวต้ม ครั้งละ 500 บาท หรือครั้งละ 1,000 บาท ตนคิดว่าไม่ใช่

"ที่เราบอกว่าเป็น 1 หมื่นบาท เพราะเป็นอะไรที่สามารถยกเราออกจากความยากจนได้ เรื่องรีดภาษีนั้นไม่มี เราไม่ได้บอกว่าจะขึ้นภาษีสักคำ เรามีการจัดการบริหารที่ชัดเจน โดยเมื่อวานนี้ (8 เม.ย.) ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมจากพรรคเราไป คณะกรรมการบริหารฝ่ายกฎหมายและฝ่ายเศรษฐกิจก็ได้รวบรวมข้อมูล ซึ่งผมเข้าใจว่าได้นำส่ง กกต.แล้ว หากกรณีที่ กกต.ยังสงสัย เราก็พร้อมชี้แจง เพื่อที่พี่น้องประชาชนจะได้ไม่ต้องมีข้อกังขาอะไร" นายเศรษฐาระบุ

เมื่อถามว่า การใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประเทศหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องดูสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพีเป็นหลัก ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะพยายามคงไว้ในระดับปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าหนี้ของประเทศโตขึ้นจะทำให้จีดีพีโตขึ้นด้วย ส่วนจำนวนเงินที่พรรควางไว้สำหรับนโยบายนี้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มหนี้สิน ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้เงินเข้าสู่ระบบอีก 5 แสนล้านบาท เงินส่วนนี้จะก่อให้เกิดภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเดิม ยืนยันว่าไม่มีการขึ้นภาษี และจะทำให้ประชาชน ร้านค้า และภาคอุตสาหกรรมมีการซื้อขายและผลิตสินค้ามากขึ้น รวมทั้งจะทำให้อัตราภาษีนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้น เราคงภาษีเท่าเดิม แต่จัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า งบประมาณปี 2567 ได้มีการกำหนดไว้แล้วที่ 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งพรรคยังคงใช้งบประมาณในกรอบนี้ ไม่มีการกู้เพิ่ม จึงไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ตามที่มีการกล่าวหา และยืนยันว่าไม่ได้เป็นการรีดภาษีและขยับอัตราภาษี แต่เป็นการขยายฐานภาษี เพื่อให้จัดเก็บภาษีเข้ารัฐได้มากขึ้น พร้อมถามกลับว่าลักษณะแบบนี้เรียกว่ารีดภาษี แล้วการปล่อยปละละเลย บิดเบือน บิดเบี้ยวให้คนกลุ่มหนึ่งไม่เสียภาษี แบบนี้เรียกว่าอะไร

โวกระตุ้นหัวใจศก.ให้ฟื้น

ทางด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นอีกครั้งและเป็นหนึ่งในชุดนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่จะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่เลวร้าย กระตุ้นหัวใจจากการบริหารด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดก่อน จนประเทศป่วยเรื้อรัง ดังนั้นการหยอดน้ำข้าวต้ม หรือแจกเงินแบบกะปริบกะปรอยแบบที่เคยทำมา จึงไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และคนไทยส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนไม่ได้

ในฐานะอดีต รมว.การคลัง เห็นว่ามาตรการกระตุ้นด้วยการเติมเงินดิจิทัลของพรรค นอกจากจะสามารถป้องกันเศรษฐกิจจากความเสี่ยงที่จะซวนเซจนยากที่จะแก้ไขแล้ว ยังเป็นการสร้างความพร้อมให้กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการนี้ ยังประกอบด้วยชุดนโยบายและมาตรการของพรรคเพื่อไทย ในการเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิผล ของทุกภาคส่วนอย่างสอดประสานกัน ทั้งด้านอุปสงค์ ที่ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนดุลการส่งออก การท่องเที่ยว การบริการ และการใช้จ่ายของภาครัฐ คู่ขนานกับการทำงานอย่างหนัก ด้านอุปทาน ของภาคอุตสาหกรรม ภาคการพาณิชย์ ภาคบริการ และภาคการเกษตร ซึ่งเป็นไปตามแนวทางหลักของพรรคเพื่อไทยคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส

นายดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะรณรงค์หาเสียงกรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า หลังจากนี้ทีมเศรษฐกิจจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจง กกต. ถึงแหล่งเงินว่านำมาจากไหนบ้าง พร้อมย้ำพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยการเงินการคลัง เพราะคิดไว้ตั้งแต่ทำนโยบายว่า การหาเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาทนี้ จะมาจากหลายส่วน โดยหลังจากชี้แจง กกต.เสร็จแล้ว จะเผยแพร่เอกสารให้ประชาชนทราบว่าเงินนั้นจะมาจากไหน และจะได้กลับคืนมาในรูปแบบใด

"เป็นเรื่องปกติที่หลายพรรคการเมืองจะโจมตีนโยบายนี้ เพราะในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น พรรคจะเดินก้าวไปกว่าคนอื่น 2 ก้าว เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันพรรคจะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงเจรจาการส่งออกควบคู่ไปด้วย และเชื่อว่าหลัง 6 เดือน หลังเริ่มทำนโยบายนี้ จะไม่ต้องเติมเงินให้ประชาชนอีก มั่นใจภายใน 4 ปี จีดีพีจะโตขึ้นเฉลี่ยถึง 5% ได้" นายดนุพรระบุ

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้สมัคร ส.ส.พะเยา และประธานภาคเหนือพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ทุกพรรคพยายามนำเสนอนโยบายของตัวเอง ล้วนแต่เอาใจพี่น้องประชาชน แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดหลังจากการเลือกตั้งแล้ว ทำได้หรือทำไม่ได้ ตนคิดว่าประชาชนคิดได้ ซึ่งมาตรการเติมเงินของพรรคเพื่อไทยนั้น ได้ฟังนักวิชาการและหลายๆ คนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตนพยายามเก็บข้อมูลว่าเป็นอย่างไร เพราะประชาชนถามมา แต่ว่าปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาติพันธุ์ที่อยู่ตามที่ราบสูง มีปัญหารัศมีห่าง 4 กิโลเมตร จะไปใช้ที่ไหน อย่างไรก็ตาม พปชร.มีผลงานชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของบัตรประชารัฐหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งตอบโจทย์มากที่สุดสำหรับพี่น้องกลุ่มเปราะบางเป็นผู้มีรายได้น้อย สิ่งเหล่านี้ของเราจับต้องได้ ไม่ใช่ความฝัน

ส่อซ้ำรอยเยียวยาม็อบ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การชูนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยต้องถูกตรวจสอบอีกมาก เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างกรณีของพรรค พปชร. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท จะมีกฎหมายรองรับ ดังนั้นพอเป็นรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทย การที่จะดำเนินการได้ต้องออกกฎหมายก่อน หากดำเนินการเลยโดยมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นเหมือนกับกรณีคดีเงินเยียวยาผู้ชุมนุมปี 2548-2553 ซึ่งคดีนั้นคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ แต่อาจจะไม่เอาผิด หากเทียบกับนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทย หากไม่มีกฎหมายแล้วดำเนินการเลย เชื่อว่า ครม.ที่ดำเนินการมีปัญหาแน่

"พรรคเพื่อไทยเองก็ต้องทำให้ชัดเจนต่อสังคม ซึ่งพรรคที่กล่าวว่าสามารถดำเนินภายในเดือนนั้นๆ เป็นไปไม่ได้ หากต้องออกกฎหมายมารองรับก็ต้องใช้ระยะเวลา การให้เงินเช่นนี้อาจจะเป็นการให้เงินแบบหว่านแห กฎหมาย ซึ่งจะต่างจากกฎหมายแบบสวัสดิการแห่งรัฐที่จะช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ถือว่าเป็นเหตุผลทางกฎหมายและทางสังคม แต่การหว่านโดยไม่คำนึงอะไร ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้เลย เชื่อว่ากฎหมายที่จะออกมาเพื่อรองรับเรื่องนี้จะถูกต่อต้านจากหลายๆ ฝ่าย สุดท้ายอาจจะถูกส่งตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งถ้าพยายามจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ด้วยจะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่ได้เป็นความจำเป็นเร่งด่วนใดๆ ดังนั้นการที่บอกว่าสามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน ในฐานะเป็นนักกฎหมาย ขอพูดในแง่กฎหมายว่าไม่น่ามีทางเป็นไปได้" นายไพบูลย์ระบุ

รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวว่า นโยบายของพรรค พปชร.มีอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงว่าต้องมีกฎหมายรองรับ เราคงไม่ทำนโยบายชนิดที่ไม่เคยทำมาก่อน นโยบายของพรรคมุ่งไปกลุ่มเปราะบางในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคห่วงใย ส่วนผู้ที่แข็งแรงอยู่แล้ว จะไปหว่านหรือเป็นการใช้เงินตำแบบน้ำพริกละลายแม่น้ำ เราไม่ทำ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรค และเหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า นโยบายของ พปชร. มุ่งเน้นการทำได้จริง ไม่ใช่เป็นแค่การหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนน และเมื่อทำแล้วจะมีคำตอบว่าใช้งบประมาณของประเทศหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงแหล่งรายได้ที่จะเกิดขึ้น คำว่านโยบาย ถ้าแปลกันจริงๆ ต้องเป็นเรื่องที่มองระยะยาว ประเภททำเป็นปีแล้วเลิก หรือแค่มาเขียนบนป้ายหาเสียงไว้เฉยๆ เพื่อให้ได้คะแนน แบบนี้ พปชร. ไม่เรียกว่านโยบาย เปรียบเสมือนองค์กรเราจะเลือกผู้นำหรือทีมบริหารเรา ต้องดูทีมดังกล่าวมีศักยภาพ มีวิสัยทัศน์อย่างไร ไม่ใช่แข่งกันว่าใครใช้เงินเก่งกว่ากัน แต่ไม่พูดเลยว่าหาเงิน รายได้จากไหน พูดแต่จะจ่ายอย่างเดียว

สำหรับนโยบาย พปชร. จะมีการสื่อสาร 2 ระดับ คือชุดนโยบายจริงๆ ที่จะมีเรื่องของการหารายได้ และรายได้ที่จะได้มาในการนำไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในป้ายหาเสียงอาจเห็นเพียงบางส่วน ต้องมองภาพรวมทั้งก้อน ต้องคิดครบวงจร และอยากให้ทุกพรรคการเมืองคิดแบบครบวงจรจริงๆ โดยแหล่งรายได้ที่จะนำมาทำนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ ซึ่งไทยมีรายได้แต่ละปีมาจากการจัดเก็บภาษีต่างๆ อยู่ 2.4-2.5 ล้านล้านบาท ที่ไม่เพียงพอรายจ่ายที่มีกันอยู่ราว 3.2-3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จะสามารถเพิ่มส่วนนี้อย่างไร ด้วยข้อจำกัดในการเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นคงยาก และการกู้คงมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะติดเพดานหนี้สาธารณะ จึงมองการหาแหล่งรายได้จากทางอื่นคือ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และอีกส่วนหนึ่งคือการตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากนักลงทุนในไทยและต่างประเทศ แล้วนำเม็ดเงินดังกล่าวมาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อไทยสารภาพแล้วว่าเงินดิจิทัลควักภาษีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เก็บเพิ่ม 260,000 ล้านบาท ทั้งที่เคยหาเสียงโจมตีมาตลอดว่ารัฐบาลที่ผ่านมาทำเศรษฐกิจตกต่ำ หาเงินไม่เป็น ทุกคนถามกลับพรรคเพื่อไทยว่า คุณจะเอาเงินที่ไหน กว่า 5 แสนล้าน มาใส่ในนโยบายแจกเงินดิจิทัล ซึ่ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย อธิบายว่า งบประมาณ ปี 2567 จะมีเงินภาษีเก็บได้เกินมา 260,000 ล้านบาท จะใช้เงินจากงบส่วนนี้ บวกกับภาษีที่จะเก็บได้อีก 20% ประมาณ 1 แสนล้านบาท

พท.สารภาพใช้เงินลุงตู่

"ดูตัวเลขแรกจากภาษีที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นคำสารภาพว่าเพื่อไทยจะอาศัยอานิสงส์จากการเก็บภาษีเพิ่มจากรัฐบาลลุงตู่ แล้วควักกระเป๋าเอาไปแจกต่อ ดังนั้นที่เคยหาเสียงทุกเวที โจมตีว่าประเทศไทยเศรษฐกิจถดถอย เป็นหนี้มหาศาล เพื่อไทยทั้งพรรคและผู้ช่วยหาเสียงปากดี ต้องเลิกพูดประโยคเหล่านี้ เพราะภาษีที่เก็บเพิ่มได้ แสดงว่าเศรษฐกิจย่อมดีขึ้น และรัฐบาลลุงตู่หาเงินเพิ่มได้ จึงมีงบประมาณเพิ่ม" นายบุญยอดระบุ

                    ส่วนตัวเลขที่ 2 คือภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% บวกกับภาษีที่เก็บจากบริษัทเพิ่มขึ้น  อ้างว่าจะเก็บได้ 20% เป็นตัวเลขที่คำนวณผิด เพราะภาษีจะเกิดขึ้นจากการนำรายได้มาหักต้นทุนออกก่อน ที่เหลือเป็นกำไรจึงจะนำมาคำนวณภาษี ไม่ใช่เอายอดรวม 500,000 ล้านมาคิด 20% ดังนั้นตัวเลขภาษีจะเก็บส่วนนี้ ไม่มีทางทำได้ 100,000 ล้านแน่นอน (แวต 7% ได้เต็มที่ 35,000 ล้าน ที่เหลือจะเก็บภาษีได้ไม่มาก) ดังนั้นกลับไปทำตัวเลขส่ง กกต.ใหม่ แล้วอย่าลืมนโยบายอื่นเช่น top up ครอบครัวที่มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน อีก 4 ล้านครอบครัว ต้องใช้เงินอีกกี่แสนล้าน คิดใหญ่ ลอกการบ้านเพื่อน ทำไม่ได้จริง ต้องเลิกการหาเสียงแบบนี้ ทุกคนคิดเป็นคำนวณเป็น ไม่ตกเป็นเหยื่อการเมืองน้ำเน่าอีกแล้ว

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประชานิยมต้องมีขอบเขต 1.ต้องดูความสามารถในการจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2.ต้องมีวินัยการเงินการคลัง และไม่ขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ  3.ต้องไม่กู้ จนเกินเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งข้อเสนอทางตัวเงินที่ให้กับประชาชนถ้าเป็นเงินส่วนตัว นั่นคือการซื้อเสียงอย่างชัดเจน ถ้าก่อนหน้าเลือกตั้งคือการซื้อเสียง หากหลังเลือกตั้งคือ สัญญาว่าจะให้ แต่เมื่อเลขาธิการ กกต. มาเปิดทางว่าข้อเสนอที่ใช้เงินของรัฐถือเป็นนโยบาย ไม่ใช่สัญญาว่าจะให้ วันนี้  700, 1000, 3,000, 10,000 บาท อีก 34 วันที่เหลือ นโยบายประดิษฐ์พิสดารที่เกทับบลัฟแหลกจะตามมาอีกแน่นอน เรายังมีโอกาสได้เห็นนโยบายเอาเงินหลวงมาสัญญาว่าจะให้โดยไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตามที่เลขาธิการ กกต.กรุยทางไว้อีกมากมาย

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 10 เม.ย.66 เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อขอให้วินิจฉัยกรณีมีบางพรรคการเมืองเสนอนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนทั้งประเทศที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปนั้น จะเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ และเป็นการหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามข้อห้ามในมาตรา 73 (1) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 หรือไม่

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัลถือเป็นนโยบายแจกเงินให้กับประชาชนโดยตรง แต่ได้ปิดจุดอ่อนของมาตรการแจกเงินที่เคยทำกันมาและบัตรสวัสดิการคนจน เพราะได้ออกแบบให้ใช้ในชุมชนรัศมี 4 กิโลเมตร ทำให้ผลประโยชน์จากการใช้พุ่งตรงไปที่เครือข่ายร้านค้าชุมชน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการจ้างงานสาธารณะได้ดีกว่า ข้อควรระวังของนโยบายดังกล่าวคือ หากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้า ไม่สามารถจัดเก็บภาษีมาสนับสนุนได้มากพอ และต้องก่อหนี้อาจเกิดความเสี่ยงทางการคลังได้ ทั้งนี้ มาตรการนี้ประสบความสำเร็จโดยมีเงื่อนไขว่า อัตราความโน้มเอียงในการบริโภคของครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่ที่ประมาณ 0.7 และตัวทวีคูณทางการคลังอยู่ที่ 6 เท่า จะทำให้มูลค่าจีดีพีเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 5,000 บาท) และเพิ่มขึ้น 3 ล้านล้านบาท (กรณีโอนเงิน 10,000 บาท) ทำให้การตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพที่ระดับ 5-6% มีความเป็นไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดป่าฯ-สลาย“ปชป.” กฐินร้อนจ่อสอย“อิ๊งค์”

เป็นไปตามคาด เมื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า สส.ไม่สบายใจที่จะร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะพฤติกรรมแทงข้างหลังและไม่ยอมรับนายกฯ คนที่ 31 ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค

30วันเลือกนายกปทุม

"พิเชษฐ์" แจ้งสภา 143 สส.สังกัดพรรคประชาชนแล้ว ด้าน "ณัฐวุฒิ" เผยใช้อักษรย่อ "ปชน."