3ประเทศถกแก้‘ฝุ่นพิษ’ ไฟป่าพื้นที่‘ดอยตุง’สงบ

“บิ๊กตู่” ประชุมด่วนถกผู้นำ สปป.ลาว-เมียนมา หาแนวทางฝุ่นพิษข้ามพรมแดน “นายกฯ ลาว-เมียนมา” ยกมือหนุน “อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ” เผยจุดความพร้อม 3 ประเทศพุ่งเกือบเท่าตัวจากปี 2565 “หญิงหน่อย” รุดหารือ รมว.กสิกรรมลาว ชงตั้งกรรมการร่วม “เชียงใหม่” คลอด 8 ข้อเร่งด่วนแก้ปัญหาสุขภาพ ดอยตุงคุมไฟได้แล้ว

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 เม.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายระหว่างราชอาณาจักรไทย, นายสอนไซ สีพันดอน  นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และพลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เรื่องการจัดการปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยนายกฯ ขอบคุณการประชุมร่วมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การจัดการกับปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน และร่วมกันแสวงหาแนวทางที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรมในการรับมือกับสถานการณ์

นายสอนไซกล่าวว่า ลาวเห็นด้วยที่ต้องร่วมมือหาทางออกร่วมกัน รวมถึงระดับอาเซียน และการเพิ่มการตระหนักรู้เพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุและปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน

ขณะที่พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มความร่วมมือเพื่อควบคุม บริหารจัดการร่วมกัน เมียนมาจะดำเนินการอย่างเข้มแข็งขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค และเชื่อว่าความมุ่งมั่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจะเป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และส่งผลเพื่อประโยชน์ในภูมิภาค

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวว่า ไทยได้จัดทำมาตรการระยะยาว ปี 2567-2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษในระดับทวิภาคี และร่วมมือกับมิตรประเทศมาโดยตลอด โดยได้ส่งมอบเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ให้ฝ่ายเมียนมาที่เมืองตองจีและท่าขี้เหล็ก เมื่อเดือน ก.ย.2565 และสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ไทยสนับสนุนแก่ สปป.ลาว และเมียนมา ส่วนในระดับภูมิภาคไทยสนับสนุนข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ.2017 โดยปี 2565 ไทยสามารถลดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือจากปี 2564 ได้ 61% และค่าเฉลี่ย PM 2.5 ลดลง 27% ส่วนในระดับอนุภูมิภาค ตามแผนปฏิบัติการเชียงราย สามารถลดจุดความร้อนได้จาก 139,098 จุด ในปี 2564 เหลือ 108,916 ในปี 2565

ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังเสนอให้ทั้ง 3 ประเทศกระชับความร่วมมือ รวมถึงร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้ 1.ปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงรายฯ จัดตั้งระบบเตือนภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพการดับไฟ การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาความสามารถเจ้าหน้าที่ 2.ใช้ประโยชน์จากกลไกในทุกระดับในระดับทวิภาคี และจะเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาสั่งการ เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมละรอบด้าน 3.แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ รวมถึงแนวทางดำเนินการด้านกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นเหตุของปัญหา

ส่วนนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส คณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ กล่าวว่า สำนักเลขาธิการอาเซียนได้แจ้งเตือนต่อระดับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นระดับสูงสุด (ระดับ 3) โดยภาพรวมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในไทย, เมียนมา และลาว ในปี 2566 พบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 93% โดยเป็นการเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันคือ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.ถึง 5 เม.ย.

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และแคนดิเดตนายกฯ พร้อมแกนนำพรรคเข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ เพชร พรมภิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และได้หารือถึงปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

“การแก้ปัญหานี้ต้องมีคณะกรรมการร่วม และต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ ให้เป็นวาระแห่งภูมิภาค และวาระระดับโลก ถ้าพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี” คุณหญิงสุดารัตน์ระบุ

สำหรับสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 08.00 น.ระบุว่าค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่บ้านท่ามะเกี๋ยง ต.สันทราย อ.พร้าว วัดได้ 977 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และในเมืองกว่า 400 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากยังพบการเผามากถึง 261 จุด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกคำสั่งประกาศ 8 ข้อ ในการดูแลสุขภาพประชาชนเป็นภาวะเร่งด่วน โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 เม.ย. หากสถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่คลี่คลายจะได้ออกประกาศให้ประชาชนทราบโดยเร็วต่อไป โดยมาตรการประกอบด้วย 1.ให้หน่วยงานรัฐทุกแห่ง จัดระบบทำงานที่บ้าน (WFH) ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน 2.ขอความร่วมมือสถานบริการ ร้านอาหาร พิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศ เพื่อลดผลกระทบจากหมอกควัน และฝุ่นขนาดเล็ก 3.ขอความร่วมมือบริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน 4.หากมีความจำเป็นออกนอกบ้าน ขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง 5.ขอให้กลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว) ลดหรืองดออกจากบ้าน 6.ให้หน่วยงานรัฐพิจารณาเปิดบริการห้องปลอดฝุ่นให้บริการประชาชน 7.ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีห้องปลอดฝุ่น พิจารณาหยุดเรียน และ 8.ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนสาธารณะในความดูแล พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ขณะเดียวกัน ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายศักดิ์พล ยอดบางเตย เป็นตัวแทนสมาคมศิษย์เก่ามงฟอร์ตวิทยาลัย ในเครือสมาพันธ์ศิษย์เก่า 7 สถาบัน ร่วมกับกองทุน We Love Chiangmai มอบเครื่องอุปโภคบริโภค และเงินสนับสนุนเพื่อซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน PM 2.5 ใน จ.เชียงใหม่ โดยมีนายนิรัตน์รับมอบ แต่ล่าสุด จ.เชียงใหม่ได้แจ้งประชาสัมพันธ์เป็นทางการผ่านกลุ่มไลน์ส่วนราชการกับสื่อมวลชน โดยระบุว่า ได้จัดหาเครื่องฟอกอากาศคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมราคาถูกกว่าท้องตลาด 2 บริษัทมาให้ประชาชนซื้อ โดยทำระบบจองซื้อให้เรียบร้อย จนเป็นที่วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนเฉพาะราย

สำหรับสถานการณ์ไฟป่าดอยตุง  นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมตรวจสอบพื้นที่เขตหมู่บ้านผาบือ-บ้านลาบา ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย หลังเกิดไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ได้ในวันที่ 6 เม.ย. พบว่ามีป่าไม้ถูกไฟเผาได้รับความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 500 ไร่ และอยู่ระหว่างสำรวจด้วยมุมสูง เพื่อคำนวณความเสียหายให้ชัดเจน รวมทั้งยังต้องเฝ้าระวังอีกอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าไฟป่าดับสนิท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

30วันเลือกนายกปทุม

"พิเชษฐ์" แจ้งสภา 143 สส.สังกัดพรรคประชาชนแล้ว ด้าน "ณัฐวุฒิ" เผยใช้อักษรย่อ "ปชน."