รุมยำ‘เศรษฐา’ แจกเงินดิจิทัล

ยำเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป นักวิชาการอัดยับ ประชานิยมสุดขั้ว เอาเงินมาจากไหน 5.4 แสนล้าน   เตือนระวังกระแสพลิก "อนุทิน" กรีด! ประชาชนไม่ใช่ยาจก อย่ามองเป็นคนแบมือขอ "อดีต กกต." ยันไม่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้

ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม อ.ปากเกร็ด  จ.นนทบุรี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 เมษายน   2566 พรรคเพื่อไทยจัดงานปราศรัยใหญ่ ภายใต้แนวคิด “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน One Team for all Thais : หนึ่งทีมเพื่อไทยทุกคน” เพื่อเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คนของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย

โดยนายเศรษฐาปราศรัยช่วงหนึ่งว่า   เราเห็นความไม่เท่าเทียมตั้งแต่วัยเด็ก และยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายให้ตนตัดสินใจอาสาเข้ามาแก้ปัญหาในฐานะผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในนามพรรคเพื่อไทย ด้วยความตั้งใจแรก ยกระดับเศรษฐกิจทั้งประเทศ ด้วยมาตรการกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีกระเป๋าเงินดิจิทัลเติมเงิน 10,000 บาทให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนถึงมหภาค

ประเด็นเงินดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัลหรือ คริปโตเคอร์เรนซี เป็นสกุลเงินที่ใช้กันอย่างแพร่กลายบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะนำมาแจกประชาชนนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะถูกมองว่าเป็นประชานิยมสุดขั้ว

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เพื่อไทยกำลังทำอะไร ฟังคุณเศรษฐาพูดหาเสียงว่าจะเติมเงินดิจิทัลให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และสามารถใช้ได้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรรอบบ้าน และใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน ในการนี้จะใช้เงินเท่าไร คนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปมีจำนวนประมาณ 54 ล้านคน ให้คนละ 10,000 บาท ฉะนั้นต้องใช้เงินประมาณ 540,000,000,000 บาท อ่านว่า   “ห้าแสนสี่หมื่นล้านบาท” นโยบายประชานิยมสุดขั้วแบบนี้ คาดว่าหวังคะแนนนิยม และการชนะแบบท่วมท้น เมื่อเงินจำนวนมหาศาลลงสู่ระบบเศรษฐกิจ คงจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้

แต่คำถามคือ จะเอาเงินจากแหล่งไหนครับ จะกู้มา หรือตัดงบประมาณจากหน่วยงานรัฐมาจัดสรรให้นโยบายนี้ และเตรียมการอย่างไรกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นตามมา คิดใหญ่ แต่ดูจะสุ่มเสี่ยงมากไปหน่อย ระวังกระแสจะพลิกกลับนะครับ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ว่า เราอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ แต่เรามั่นใจว่านโยบายของพรรคภูมิใจไทยมีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน นโยบายต้องปฏิบัติได้ด้วย  ประชาชนไม่ใช่ยาจก ประชาชนเป็นคนที่มีพระคุณต่อพรรคการเมืองทุกพรรค เราต้องทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น ทำให้เขามีโอกาสในการเสริมสร้างรายได้ ทำมาหากินที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่มองเขาว่าเป็นคนแบมือขอ

"เราจะเอาอะไรไปให้เขาทุกอย่างแบบนี้ เป็นการไม่เห็นศีรษะของเขา เราต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่านี่เป็นสิทธิ์ที่เขาพึงจะได้ และสามารถนำนโยบายที่เรามอบให้นั้นไปทำให้เขาเกิดโอกาสที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น สุขภาพชีวิตดีขึ้น รายได้ของเขาดีขึ้น นี่คือนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เราต้องร่วมกันทำด้วยความร่วมมือของประชาชนด้วย"

เมื่อถามย้ำว่า แต่นโยบายนี้ทำให้เพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ตรงนี้เรากังวลหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มีประชานิยมบ้าง แล้วแต่จะมอง ถ้าเรามองคำว่าประชานิยมแบบเชิงบวก เป็นพรรคการเมืองต้องทำให้ประชาชนนิยม ถ้าประชาชนไม่นิยมเขาก็ไม่เลือก เราอย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น วันนี้เราลงสมัครแล้ว ได้เบอร์แล้ว ถือว่านโยบายที่เราได้นำเสนอประชาชนไป พี่น้องประชาชนรับทราบแล้ว และยึดถือในนโยบายนั้น

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ว่า การปราศรัยของพรรคจะไม่พาดพิงถึงพรรคอื่น ยกเว้นมีการพาดพิงพรรคที่ทำให้เกิดการเสียหาย หรือทำให้เข้าใจผิด ประชาธิปัตย์ก็จะต้องชี้แจงและทำความเข้าใจ แต่อยู่ๆ จะให้พาดพิงโดยไม่จำเป็นเราไม่ทำ เราข้อนำเสนอแต่ทางเลือก ว่าคนและนโยบายของเราดีกว่าอย่างไร และแคนดิเดตนายกฯ สู้เขาได้อย่างไร

ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เพิ่งทราบ ขอศึกษานโยบายดังกล่าวก่อน มองว่าทุกนโยบายจะต้องทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ส่วนคนจะชอบหรือไม่ชอบ จะส่ง สร้างผลกระทบกับสังคมอย่างไร จะคุ้มค่าหรือไม่ จะต้องศึกษากันต่อไป พร้อมขอให้ฝ่ายวิชาการและทีมเศรษฐกิจได้วิเคราะห์ก่อน

นายชัยวุฒิกล่าวว่า เมื่อได้ยินคำว่า 10,000 บาทครั้งแรก รู้สึกคล้ายๆ เดิมๆ ที่เคยทำมา เพราะต้องให้ประโยชน์กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่างในสมัยก่อน กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เป็นการเอาเงิน 1 ล้านบาทมาแบ่งกันในหมู่บ้าน มุกเดิม เพียงเปลี่ยนจาก 1 ล้านบาทเป็น 1 หมื่นบาท

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ยินแต่เขาบอกจะแจก 10,000 บาท แต่ในรายละเอียดจะทำอะไรอย่างไรก็ยังไม่เห็น จึงไม่อยากวิจารณ์ไปก่อน แต่เพียงตั้งข้อสังเกตว่าเงินที่เติมในกระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นเงินที่ได้มาอย่างไร เงินบาท หรือเงินดิจิทัล เพราะถ้าเป็นเงินบาท จะเอาเงินมาจากไหน แจกเงินคนละ 10,000 บาท ซึ่งมีประชากรที่จะได้รับราว 50 ล้านคน ต้องใช้เงิน 500,000 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นเงินดิจิทัล ต้องดูว่าเป็นเงินดิจิทัลที่ได้มาอย่างไร ถ้าใช้เงินจริงมารองรับการออกเงินดิจิทัล จะหาเงินมาจากแหล่งใด แต่ถ้าเป็นเงินบาทดิจิทัลที่เสมือนหนึ่งเป็นการพิมพ์เงินใหม่ขึ้นมา คงต้องคุยกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ดี เพราะอาจมีผลกระทบต่อภาพรวมระบบต่อการเงินในประเทศได้

นางสดศรี​ สัตยธรรม​ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.) ให้สัมภาษณ์ว่า​ การปราศรัยดังกล่าวไม่เข้าข่าย​สัญญาว่าจะให้​ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถออกเป็นกฎหมายได้​ โดยอะไรก็ตามที่เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่สามารถทำได้​ ก็นำมาเป็นนโยบายได้​ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้จะเป็น ส.ส.จะเสนอออกกฎหมายผ่านสภา​ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง​ หรือเหนือกว่าอำนาจของผู้ที่จะเป็น ส.ส.

"ท่านนายกฯ ก็เคยพูดว่าพรรคนั้นให้เงินบัตรสวัสดิการ​ 700 บาท แต่ของท่านจะให้​ 1,000 บาท​ หรือบางพรรคก็ระบุว่าผู้สูงอายุจะได้รับเงินมากขึ้น​ ก็จะมีการต่อรองในลักษณะนี้​ หรือบางพรรคเคยหาเสียงว่าจะให้เรียนฟรีจนจบมหาวิทยาลัย​ ซึ่งนโยบายลักษณะนี้ก็สามารถทำได้โดยที่จะต้องเสนองบประมาณผ่านเข้าไปในสภา​" นางสดศรี​กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง