ตั้ง30อนุกกต.ชี้ขาดปมเลือกตั้ง

อาชยน ไกรทองตร.เตรียมเปิดศูนย์เลือกตั้ง "ศลต.ตร." 20 เม.ย.-17 พ.ค. ระดมกำลัง 9 หมื่นนายรักษาความเรียบร้อยวันเลือกตั้ง เตรียมระดมกวาดล้างอาชญากรรมก่อนเข้าคูหา ขณะที่ประธาน กกต.เซ็นตั้ง 30 อนุกรรมการฯ ชี้ขาดข้อโต้แย้ง รับมือเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) กล่าวถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยในภาพรวมก่อนการเลือกตั้งว่า การรับสมัครเลือกตั้งในภาพรวมทั่วประเทศยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎ กติกาของ กกต. โดยมีตำรวจช่วยดูเรื่องความสงบเรียบร้อย ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีพื้นที่ไหนมีความวุ่นวายหรือไม่สงบเรียบร้อย แต่พบว่ามีการแข่งขันเรื่องของการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนมีความเข้าใจ และทุกหน่วยเลือกตั้งที่เปิดรับสมัครยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ท.อาชยนกล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศลต.ตร. โดยได้ลงนามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 จะมีการเปิดศูนย์ระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึง 17 พฤษภาคม 2566 นี้

โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีมิติในเรื่องของการให้ความรู้ของตำรวจที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การดูแลเรื่องความปลอดภัย ความเรียบร้อย และมีการระดมกวาดล้างอาชญากรรม ซึ่งจะมีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมตามปกติก่อนการเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งนี้ศลต.ตร.จะสามารถประสานงานไปได้ทั้งระดับกองบัญชาการและกองบังคับการ รวมถึงดูแลประเมินสถานการณ์ และจัดกำลังตำรวจเข้าไปอยู่บริเวณคูหาเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยประชุมกันอย่างต่อเนื่องในเรื่องการปฏิบัติให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย   ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้กำลังตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อยมากกว่า 90,000 คน

ถามถึงกรณีตำรวจจะสามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงความชอบในพรรคการเมืองได้หรือไม่ พล.ต.ท.อาชยนกล่าวว่า ในส่วนของตำรวจหรือประชาชนทุกคนจะเป็นเหมือนกันในส่วนของความชอบเรื่องพรรคไหนหรือนโยบายอย่างไรเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างการไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องรักษาความเป็นกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพร  บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ตามที่ กกต.ได้มีคำสั่งที่ 48 /2564 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ลงวันที่ 22 มี.ค. พ.ศ.2564 และคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง แทนตำแหน่งที่ว่าง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 และงานอื่นตามที่กกต.มอบหมาย ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. พ.ศ.2560 และข้อ 74 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2566 กกต.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง จำนวน 30 คณะ อาทิ นายพีระพันธ์ เหมะรัต เป็นประธานอนุกรรมการ, นายอัศวิน โชติพนัง เป็นอนุกรรมการ, พ.ต.ท.สมชัย ประชาเสริมศาสตร์ เป็นอนุกรรมการ, นางกาญจนา วีณานันท์ เป็นอนุกรรมการ, นายไชยยา ตาบทิพย์วัฒนา เป็นอนุกรรมการ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง มีอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 และการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และที่เกี่ยวกับการยื่นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทุกระดับ และงานอื่นๆ ตามที่ กกต.มอบหมาย 

ส่วนกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน  อนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งคณะหนึ่งอาจไปร่วมพิจารณากับคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งในอีกคณะหนึ่ง เพื่อให้ครบองค์ประชุมในการพิจารณาและทำความเห็นก็ได้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2566 เป็นต้นไป

ขณะที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเปิดเผยถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการกาบัตรในคูหาเลือกตั้ง หลังพบว่ามีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมาก และข้อจำกัดในบัตรเลือกตั้งมาตรา 84 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่อาจกำหนดรูปแบบบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะเดียวกันได้ จึงจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ด้วยการติดป้ายไวนิลข้อมูลผู้สมัครไว้ในจุดที่ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนได้อย่างถูกต้อง

โดยที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง จะติดแผ่นไวนิลขนาด 1.5×3 เมตร ข้อมูลแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีช่องกาหมายเลข หรือเบอร์ ชื่อผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง พร้อมเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง และมีข้อมูลแบบบัญชีรายชื่อ มีช่องกาเครื่องหมาย หมายเลขหรือเบอร์ ชื่อพรรคการเมือง พร้อมเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง และในหน่วยเลือกตั้ง ติดแผ่นไวนิลขนาด 1×2 เมตร ณ จุดที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อมองจากคูหาเลือกตั้ง  เป็นข้อมูลแบบเดียวกันเหมือนที่ติดหน้าหน่วย ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง