ล่าล้านชื่อขับไล่แอมเนสตี้

กลุ่มปกป้องสถาบันฯ เดินขบวนรณรงค์ล่า 1 ล้านชื่อ ขับแอมเนสตี้ออกจากประเทศ จวกแทรกแซงกิจการภายใน สร้างความแตกแยก แกนนำเพื่อไทยซัดเอาสมองส่วนไหนคิด เตือนโลกจะมองไทยเป็นประเทศแปลกประหลาดและเผด็จการไม่มีใครคบ เลขาฯ ครป.ชี้กระแสปิดกั้นสิทธิมนุษยชนจะเป็นจุดจบรัฐบาล “บิ๊กตู่” ยันสหรัฐให้ความสำคัญไทยไม่ก้าวก่ายการเมืองภายใน ขอคนไทยร่วมสร้างเสถียรภาพ

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ถนนสีลม กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันฯ นำโดยนายนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.), นายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.), น.ส.วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ หรือแอดมินเจน เพจเชียร์ลุง และกลุ่ม "ผู้ก่อการดี" 11 เครือข่าย รวมตัวกันทำกิจกรรมเชิดสิงโตและแจกคิวอาร์โค้ดรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนขับไล่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ที่มีพฤติกรรมการกระทำเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ออกจากประเทศไทย

โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนเชิดสิงโต ตั้งแต่ด้านหน้าอาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ผ่านหน้าธนาคารกรุงเทพ และเข้าไปในซอยละลายทรัพย์ เพื่อนำใบปลิว QR Code ให้พ่อค้าแม่ค้าร่วมลงชื่อขับไล่องค์กรแอมเนสตี้ โดยระหว่างการเดินขบวนต่างตะโกน "แอมเนสตี้ออกไป"

ทั้งนี้ กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ระบุว่า ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ทำให้คนไทยแตกแยก เนื่องจากประกาศแคมเปญเขียนจดหมายล้านฉบับถึงทั่วโลก กดดันให้ทางการไทยหยุดดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มราษฎร องค์กรดังกล่าวเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย

ทางแกนนำกลุ่มฯ แจ้งว่า เมื่อมีประชาชนร่วมลงชื่อครบ 1 ล้านรายชื่อ จะรวบรวมนำรายชื่อดังกล่าวส่งต่อให้กับ ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะเจ้าของแคมเปญต่อไป

ด้าน น.ส.วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ หรือแอดมินเจน เพจเชียร์ลุง กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันนี้ มีจุดประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่ยังไม่ทราบถึงช่องทางการลงชื่อ ให้ออกมาร่วมกันลงชื่อให้ครบ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ให้ตรวจสอบการทำงานและขับองค์กรแอมเนสตี้ให้พ้นจากประเทศไทย

จากนั้นแกนนำกลุ่มปกป้องสถาบันและเครือข่ายเเถลงว่า การเดินขบวนรณรงค์ครั้งนี้ ผลตอบรับดีเกินคาด ทำให้ผู้ที่ชมการไลฟ์สดมาลงชื่อเพิ่มขึ้นอีกนับหมื่นรายชื่อ ล่าสุดกว่า 1.2 เเสนรายชื่อ โดยเป้าหมายต้องการให้ถึงล้าน หลังจากนี้จะจัดกินกรรมต่อไป ในพื้นที่เขตสาทร คลองเตย อโศก โดยจะเริ่มรณรงค์หลังจากวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ไปแล้ว เเละมีเพจเนวร่วมเข้ามาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันตะโกน "แอมเนสตี้ออกไป" ก่อนเเยกย้ายกันเวลา 13.30 น.

ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการให้ขับไล่องค์กรแอมเนสตี้ออกจากประเทศไทย ว่า แอมเนสตี้คือองค์กรระดับสากลที่อิงกับระบอบประชาธิปไตยประเทศต่างๆ พูดได้เต็มปากว่า เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวหรือขับเขาออกจากประเทศ ไม่เช่นนั้นโลกจะมองการกระทำนี้ของไทยเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะมีแต่ประเทศที่เป็นเผด็จการแท้จริงเท่านั้นที่คิดทำอย่างนั้น และคิดว่าคงไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย คนคิดเรื่องนี้ไม่รู้คิดได้อย่างไร และไม่รู้ว่าเอาสมองส่วนไหนมาคิด

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า กระแสการเรียกร้องขับไล่แอมเนสตี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลประยุทธ์ คำถามคือเขาอยู่มาหลายสิบปีแล้วทำไมเพิ่งจะมีปัญหาในรัฐบาลนี้ เพราะเขาออกมาตรวจสอบรัฐบาลใช่หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยต้องตรวจสอบได้ มีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะออกกฎหมายปิดปากประชาชน ออกกฎหมายจำกัดข้อมูลข่าวสาร และใช้กฎหมายอำนาจนิยมคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง ที่เป็นบทบาทของรัฐบาลทรราช

"ไหนว่าต้องการเปิดประเทศ การที่นายกฯ ไฟเขียวสั่งการให้ปิดแอมเนสตี้และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นจุดจบรัฐบาล กระแสนี้จะนำพาประเทศล่มจม เราจะปิดประเทศปิดกั้นสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ทุกคนต้องได้รับการตรวจสอบ ประเทศไทยถึงจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างสันติ และหาหนทางปรองดองกัน ไม่เช่นนั้นจะสะสมความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้ คนไทยคงไม่ต้องการสงครามกลางเมืองเหมือนในอดีต หรือกลายเป็นเหมือนพม่าแล้ว" นายเมธากล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังนาย Ted Osius ประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา- อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC) เข้าพบถึงกรณีสหรัฐมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการเมืองหรือความมั่นคงในประเทศไทยใช่หรือไม่ ว่าไม่มีๆ เขาไม่พูดเรื่องอะไรพวกนี้ เรื่องธุรกิจก็เป็นเรื่องของธุรกิจ ส่วนเรื่องของเราก็ถือเป็นเรื่องของเรา เขาจะไม่มาก้าวก่าย เรื่องของความมั่นคงเป็นเรื่องของทุกประเทศ ก็ต้องมีความระมัดระวังอยู่แล้ว เราเพียงแต่จะขอความร่วมมือจากคนไทยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ช่วยกันสร้างความมีเสถียรภาพของรัฐบาล และความมีเสถียรภาพในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ

"ผมได้ยืนยันกับเขาไปแล้ว ผมจะดูแลให้ดีที่สุด นี่คือสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย ถ้าหากเรายังสับสนอลหม่านวุ่นวายกัน หลายๆ อย่างก็จะขับเคลื่อนกันไม่ได้ ก็ขอฝากสื่อช่วยกันทำความเข้าใจด้วยแล้วกัน ก็ขอร้อง ทุกอย่างมันจะดีขึ้น มันจะได้อะไรขึ้นมากับประเทศไทย ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนของเรา ถ้ามีความรับผิดชอบร่วมกัน และมีความเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ มันก็จะเกิดขึ้นได้ทุกอย่าง เราเป็นประเทศที่มีโอกาสสูงสุดในอาเซียนขนาดนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เพจทะลุฟ้าได้แชร์เฟซบุ๊ก iLaw ที่เชิญชวนแนวร่วมให้ร่วมงาน “รวมพลังประชาชน-รื้อมรดก คสช.” ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00-18.30 น. ณ สนามรัฐสภา (แยกเกียกกาย) โดยระบุว่า เนื่องจากในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 สภาเตรียมพิจารณาร่างปลดอาวุธ คสช. เพื่อพิจารณายกเลิกประกาศและคำสั่งที่ตกค้างเป็นมรดกมาจากยุค คสช. ให้อำนาจแก่รัฐบาลทหารโดยไร้การตรวจสอบ เช่น อำนาจทหารขังคนได้ 7 วัน, การยกเว้นผังเมืองให้อีอีซี เป็นความพยายามล้างผลพวงรัฐประหารครั้งแรก และเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ไอลอว์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่เคยเข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 13,409 คน เพื่อเสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช.รวม 35 ฉบับ ที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ถึงคิวการพิจารณาและจะได้รับการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จึงขอให้ผู้เสนอกฎหมายเตรียมตัวเพื่อไปนำเสนอในวันดังกล่าวด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีชื่อเต็มว่า ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ... หรือเรียกเป็นชื่อเล่นว่า ร่าง #ปลดอาวุธ คสช. ที่เสนอให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง ซึ่งออกมาโดยการอ้างอำนาจการเป็นรัฏฐาธิปัตย์เมื่อเข้าทำรัฐประหาร และอำนาจพิเศษจาก "มาตรา 44" ซึ่งต่อมาแม้ คสช.จะหมดสถานะไปแล้ว แต่ประกาศคำสั่งทั้งหลายยังได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก และช่องทางการยกเลิกในระบบประชาธิปไตยก็คือ การเสนอให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมายกเลิก

ตัวอย่างของประกาศและคำสั่งที่เสนอให้ยกเลิก เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, 5/2558 และ 13/2559 ที่ให้อำนาจทหารเอาคนไปกักขังเป็นเวลา 7 วัน, ประกาศ คสช.ฉบับที่ 26/2557 ให้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 47/2560 ที่ให้ยกเว้นการใช้ผังเมืองในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี), ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ที่ให้ควบคุมเนื้อหาในสื่อมวลชน, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้เอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร, ประกาศ คสช. ฉบับที่ 40/2557 ที่ให้การไม่มารายงานตัวกับ คสช. เป็นความผิด ฯลฯ

ร่างฉบับนี้เป็นความพยายามครั้งแรกที่จะ “รื้อมรดก คสช.” อย่างเป็นทางการ หรือการลบล้างผลพวงที่คณะรัฐประหารทิ้งเอาไว้ในระบบกฎหมาย จากที่ในยุครัฐบาลทหาร คสช.ออกกฎหมายในรูปแบบประกาศและคำสั่งต่างๆ ได้ตามใจรวมถึง 556 ฉบับ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มมวลชนเชิญชวน "รวมพลังประชาชนรื้อมรดก คสช." ว่า ตนไม่ทราบเรื่อง ส่วนที่ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิประชาชนที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่นั้น ก็ทำไปตามอำนาจหน้าที่ถ้าสามารถทำได้ เพราะประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้โดยเข้าชื่อเพื่อเสนอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีประกาศ คำสั่ง คสช.หรือกฎหมายที่ต้องทบทวนอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่ากฎหมายฉบับใดและจะทบทวนอะไร เรื่องนี้นานาจิตตัง บางฉบับก็ถือว่าจำเป็น บางฉบับแก้บางมาตราเข้าไปในกฎหมายใหญ่ เมื่อแก้ไปแล้วจะไปดึงออกมาไม่ได้ เพราะจะกระทบไปหมดทั้งฉบับ ถ้าจะพูดถึงฉบับไหนก็พูดขึ้นมาและดำเนินการไป ในช่วงสมัย คสช.ปี 2557 ถึง 2562 มีการออกกฎหมายหลายฉบับเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อระยะเวลานานหลายปีก็มีหลายฉบับ และหลายฉบับจนถึงขณะนี้ก็ยังใช้ได้ดี แต่บางฉบับอาจไม่เหมาะสมก็ต้องแก้ เช่นกฎหมายที่เสนอโดยสภาในยุคระบอบประชาธิปไตย ต่อมาอีก 1-2 ปีก็ต้องแก้เพื่อให้ทันสมัย กฎหมายบางฉบับออกมาเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก็มีการเสนอแก้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง