กกต. ๐ เลขาฯ กกต.แจงยิบใช้บัตรเลือกตั้งแบบมาตรฐานเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ประหยัด สะดวกบริหารจัดการ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า พร้อมเปิดรับสมัคร ส.ส.แบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ เตือนผู้สมัคร-กองเชียร์ ร่วมลุ้นเบอร์ได้แต่อย่าทำผิด กม.
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงกรณีบัตรเลือกตั้งว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ.2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้จะเป็นพรรคเดียวกัน แต่เป็นคนละหมายเลข (เบอร์ ) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต.เป็นเพียงผู้กำหนดรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
โดยรูปแบบบัตรเลือกตั้ง นับแต่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบบัตรที่ใช้เลือกตั้งอยู่ 3 ประเภท คือ บัตรมาตรฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ บัตรที่มีเฉพาะหมายเลข (เบอร์) ผู้สมัคร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบัตรโหล จะไม่มีรายชื่อผู้สมัครแต่อย่างใด ทุกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในประเทศไทยใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือมีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หลังปี 2540 ก็ตาม หมายความว่า ไม่เคยมีชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งแต่อย่างใด
ส่วนรูปแบบบัตรมาตรฐานแบบบัญชีรายชื่อ คือบัตรที่มีหมายเลขผู้สมัคร (เบอร์) มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เริ่มใช้บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้นับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ทุกการเลือกตั้งก็จะใช้บัตรเลือกตั้งนี้มาตลอด
และบัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ เกิดขึ้นในปี 2562 เพื่อรองรับระบบเลือกตั้งแบบคะแนนไม่ตกน้ำตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ทุกคะแนนมีความหมาย บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้จึงผสมกันระหว่างบัตรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อไว้ด้วยกันในใบเดียว และมี 350 แบบ ตามจำนวนเขตเลือกตั้ง ในบัตรจะประกอบด้วยข้อมูล 1) หมายเลขผู้สมัคร (เบอร์) ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2) สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายพรรคการเมือง 3) ชื่อพรรคการเมือง แต่ก็ไม่มีชื่อของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในบัตรแต่อย่างใด
นายแสวงกล่าวว่า บัตรเลือกตั้งปี 2566 แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ จะใช้บัตรมาตรฐานเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เว้นปี 2562 ที่ใช้บัตรเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ โดยข้อดีของบัตรมาตรฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีความชัดเจนแตกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ กล่าวคือ นอกจากสีจะต่างกันแล้ว องค์ประกอบภายในบัตรก็จะต่างกัน ทำให้ประชาชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่สับสน เพราะบัตรประเภทหนึ่งมีเพียงหมายเลข ไม่มีตัวหนังสือ และสัญลักษณ์ใด ต่างจากบัตรอีกประเภทหนึ่งมีครบทั้ง 3 อย่าง เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสนลักษณ์นี้อีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งยังประหยัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะบัตรมาตรฐานพิมพ์พร้อมกันในครั้งเดียว แต่บัตรแบบเฉพาะเขต ต้องสั่งพิมพ์ 400 ครั้ง ตามจำนวนเขต เมื่อปริมาณพิมพ์ต่อครั้งมีจำนวนน้อย จะทำให้ค่าพิมพ์ต่อครั้งใช้เงินจำนวนมากขึ้น และสะดวกในการบริหารจัดการ นำเวลาที่ต้องมาทำงานธุรการ อาทิ การส่งให้ตรงกับเขต กรณีเป็นแบบเฉพาะ ถ้าส่งผิดเขตจะใช้แทนกันไม่ได้ การพิมพ์บัตรสำรองในแต่ละเขตก็ต้องมีสำรองครบตามจำนวนเขต เพราะใช้แทนกันไม่ได้ เป็นต้น ทำให้สามารถนำเวลาที่เหลือจากงานธุรการไปทำงานอื่นให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความพร้อมการเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 3-7 เมษายน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศกำหนดไว้ ส่วนการรับสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และการรับแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น ซึ่งเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน ที่ห้องบางกอก อาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ขณะนี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและ กกต.กทม.ได้มีการซักซ้อมแผนงาน แนวทางการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ทำหน้าที่ และซักซ้อมขั้นตอนการรับสมัครแบบเหมือนจริง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
ขณะเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. พร้อมด้วยนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. ได้เข้าขอบคุณในความร่วมมือของหน่วยงานภายนอกที่จะเข้ามาช่วยเพื่อให้การเลือกตั้ง 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาทิ กองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กกต.เปิดเผยว่า สำหรับวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ขอเน้นย้ำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเด็ดขาด โดยเฉพาะหากมีการจัดขบวน กลุ่มผู้สนับสนุนกองเชียร์ที่มารอลุ้นเบอร์และให้กำลังใจผู้สมัครหรือพรรคการเมือง พึงระมัดระวังอย่ากระทำการใดก่อนและหลังการสมัครรับเลือกตั้ง ตามข้อห้ามตามมาตรา 73 (3) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายจัดมหรสพ ร้องเพลง การจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น หากฝ่าฝืน มีโทษหนักจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ รวมทั้งให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย ชี้เศรษฐกิจปีหน้าโต2.9%
ไม่มีเซอร์ไพรส์! “กนง.” มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ต่อปี
เคาะ21อรหันต์ อนุก.ต.ทั้ง3ศาล ‘กีรติ’ติดโผฎีกา
ที่ประชุม ก.ต.ตั้ง 21 อรหันต์ นั่ง อ.ก.ต.ทุกชั้นศาลชุดใหม่
ตั้งผู้ตรวจคุมเลือกอบจ. โอนกองปราบทำคดีโต้ง
"ทวี" เมาหมัด! ให้ "โกทร" เป็นนักโทษแล้วทั้งที่้ยังไม่มีคำพิพากษาศาล
มติสภาแก้รธน.ชั้นเดียว‘ภท.’สวน
ไฟเขียวติดอาวุธ กมธ. เรียกบุคคล-เอกสารมาตรวจสอบ
สั่งส่งหลักฐานชั้น14 แพทยสภาขีดเส้น‘รพ.ตร.’15ม.ค.68/เรียกอิ๊งค์-แม้วแจงกกต.
"ศาล รธน." ตีตกคำร้อง "รมว.ยุติธรรม-ราชทัณฑ์" เอื้อประโยชน์ "ทักษิณ" รักษาตัวชั้น 14 เหตุไม่มีหลักฐานชัด
‘อิ๊งค์’ควงสามี ให้กำลังใจคนใต้ 20ธันวาน้ำแห้ง
“นายกฯ อิ๊งค์” ควงสามีลงพื้นที่ “นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี” ประชุมผู้ว่าฯ 5 จ.แก้น้ำท่วม