ลุ้น 7 เม.ย. ศาลปกครองสูงสุดนัดตัดสิน 4 คดีแบ่งเขตเลือกตั้ง "อรรถวิชช์" ฉะ กกต.จงใจสลายเขตด้วยระเบียบส่วนต่าง เชื่อแบ่งเขตใหม่ไม่กระทบวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. แต่ไทม์ไลน์เปลี่ยน เหตุต้องแบ่งเขต-ทำไพรมารีโหวต-สมัครใหม่ กกต.แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 423 คนทั่วประเทศ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนใน 4 คดี ที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม., นายพัฒ ตั้งเบญจผล ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ จาก จ.สุโขทัย, นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ ผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ใน จ.สุโขทัย, นายพัฒนา สัพโส ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จ.สกลนคร ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 โดยการไต่สวนครั้งนี้ นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง นำทีมผู้บริหารสำนักงานเดินทางมาชี้แจงด้วยตนเอง
หลังการไต่สวนนานเกือบ 2 ชั่วโมง นายอรรถวิชช์เปิดเผยว่า ได้ให้ข้อมูลต่อศาลไปว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้งใน กทม. 33 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่เหมือนเดิม 29 เขตเลือกตั้ง เป็นความตั้งใจของ กกต. ถือเป็นการทำลายระบบตัวแทน ทำให้ความผูกพันระหว่างผู้แทนราษฎรกับ ประชาชนในพื้นที่ห่างออกไป เป็นกลจักรสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่ กกต.ยืนหลักเอาผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อจำนวน ส.ส. 1 คนเป็นตัวตั้ง ซึ่งเกณฑ์ 10เปอร์เซ็นต์มีมานานแล้ว ใช้กับต่างจังหวัด แต่เพิ่งใช้เป็นครั้งแรกกับ กทม.
"ที่น่าแปลกใจคือ ในการชี้แจงของ กกต.วันนี้พบว่า กกต.ไม่ได้ใช้เกณฑ์ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้เกณฑ์ 5เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำดังกล่าว กกต.มีเป้าหมายทำให้เขตเลือกตั้งเดิมทั้งหมดถูกสลายไป จากนี้ต้องวัดใจว่าศาลปกครองจะมีคำวินิจฉัยตาม กกต.หรือไม่ เป็นอำนาจของ กกต.หรือไม่ แต่สำหรับพรรคการเมือง พวกเรามองว่านี่ไม่ใช่วิถีทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง เพราะเป็นการทำลายระบบตัวแทน"
นายอรรถวิชช์กล่าวว่า หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จะไม่มีผลกระทบต่อกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 เพียงแต่มีผลต่อการทำไพรมารีโหวตของแต่ละพรรคการเมือง และการรับสมัครการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถเลื่อนไปวันที่ 14-18 เม.ย.2566 และขยายวันเลือกตั้งล่วงหน้าออกไป จะทำให้ไทม์ไลน์ขยับ แต่วันเลือกตั้งไม่ขยับ
“เกณฑ์ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ที่ กกต.เลือกใช้ในครั้งนี้ เพื่อสลายเขตเลือกตั้งเดิม โดยมีเพียง 4 เขตเท่านั้นที่เหมือนเดิม ถ้าหาก กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดำเนินการหั่นเขตแบบนี้ได้ ก็แปลว่าการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพียง กกต.แก้ระเบียบขับตัวเลขเปอร์เซ็นต์ก็จะสลายเขตได้ทันที” นายอรรถวิชช์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้ง 4 คดีศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 4 เม.ย.66 และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย.66 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส.ทั้งสองแบบ
วันเดียวกัน กกต.ได้จัดให้มีการจับสลากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง ส.ส.โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2566 ถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด รวมจำนวน 423 คน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 85 คน, ภาคใต้ 80 คน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 119 คน และภาคกลาง 139 คน สามารถดูบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th
สำหรับการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะแต่งตั้งจังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน โดยใช้เขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้งคือ 1.จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต จะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 คน 2.จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขตเลือกตั้ง มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 คน 3.จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 7 คน และ 4.จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป จะมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 8 คน
ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น จังหวัดละ 2 คน แต่งตั้งจากผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลำเนาจากจังหวัดอื่นให้ครบตามที่กำหนด โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง ตรวจสอบการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง รวมทั้งลงพื้นที่หาข่าวเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ