ล้มประมูล‘สายสีส้ม’ไม่ผิด ศาลปค.ชี้กระทำโดยสุจริต

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกฟ้องคดี “บีทีเอส”  ฟ้อง "บอร์ดคัดเลือก-รฟม." ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้กระทำโดยสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.1455/2565 ซึ่งเป็นคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  กรณียกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ณ วันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 ก.พ.2564

โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวโดยอำเภอใจหรือไม่ ดังนี้

ประการแรก การพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องการดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ดังนั้น การเปิดให้บริการล่าช้าจะเป็นเหตุให้สิทธิและประโยชน์ของผู้รับบริการจากโครงการตามจำนวนดังกล่าวสูญเสียไป จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ใช้ข้อเท็จจริงที่เป็นฐานในการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว เป็นไปตามรายละเอียดข้อเท็จจริงของโครงการดังกล่าวแล้ว กรณีจึงถือว่าการพิจารณาและวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว

ประการที่สอง การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เป็นไปตามหลักการวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อธิบายระยะเวลาความล่าช้าของการคัดเลือก ประกอบกับคดีนี้มีการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหลายสำนวนคดี และคดีดังกล่าวนั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ดังนั้น กรณีการพิจารณาวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง  จึงต้องถือว่าเป็นการพิจารณาวินิจฉัยตามหลักการวินิจฉัยทั่วไปที่ยอมรับกันได้

ประการที่สาม การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังไม่ได้ดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนรายใดก่อน กรณีจึงไม่อาจจะถือได้ว่าการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาคแต่อย่างใด

และประการสุดท้าย การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า ความล่าช้าของการคัดเลือกเอกชน อันเนื่องมาจากมีการฟ้องร้องคดีต่อศาล ซึ่งก็ปรากฏมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองเช่นว่านั้นจริง อันไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ไม่อาจจะแยกแยะระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายออกจากเหตุผลและความรู้สึกส่วนตัวได้ และแสดงออกให้เห็นได้ถึงการกระทำที่ปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่จนมีผลทำให้เหตุผลและความรู้สึกส่วนตัวมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงมิได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว จึงมิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว โดยเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ  และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว   อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในข้อนี้จึงฟังขึ้น

และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจในการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้ใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

"การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)   และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีประกาศดังกล่าวนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้อง” ศาลปกครองสูงสุดระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง