ขึ้นดอกเบี้ยอีก0.25% กนง.หนุนเศรษฐกิจฟื้น

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 1.75% ต่อปี พร้อมหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3.6% หลังส่งออกซมหนักคาดติดลบ 0.7% มองท่องเที่ยวพระเอกหนุนเศรษฐกิจไทยโตถึงจุดก่อนโควิดแล้ว

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน   ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี ให้มีผลทันที โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อและสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์

ทั้งนี้ กนง.มีการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ ส.ค.2565 เป็นการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด ส่วนการทำนโยบายการเงินในปีนี้ จะต้องสนับสนุนให้การฟื้นตัวมีเสถียรภาพ และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยแนวโน้มในระยะต่อไปจากภาคการท่องเที่ยวที่มีทิศทางการฟื้นตัวดีกว่าที่คาด จะเป็นแรงสนับสนุนให้อุปสงค์ฟื้นตัวดี ทำให้มีแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น ถือว่านโยบายการเงินยังต้องดำเนินการกลับสู่ระดับปกติอย่างต่อเนื่องต่อไป

 “นโยบายการเงินต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลง แต่ยังสูงกว่าพื้นฐาน ดังนั้นจึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพรวมตอนนี้เศรษฐกิจมีแรงส่งดีจากภาคการท่องเที่ยว เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง ทำให้ กนง.ยังคงต้องมีกระบวนการถอนคันเร่งต่อไป โดยไม่ได้มองว่าควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยจุดใดจุดหนึ่งเป็นพิเศษ หรือพิจารณาจากปัจจัยอะไรเป็นพิเศษ แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การเงินเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ส่วนจะหยุดตรงไหนคงต้องดูข้อมูลในระยะต่อไป” นายปิติระบุ

เลขานุการ กนง.กล่าวว่า ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เหลือ 3.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.7% และปี 2567 เหลือ 3.8% จากเดิม 3.9% และปรับลดมูลค่าการส่งออกในปีนี้ เหลือติดลบ 0.7% จากเดิมที่ 1% ส่วนปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 4.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.6% โดยคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์ส่งออกลง แต่การส่งออกยังมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในไตรมาส 4/2565 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้นจากที่คาดการณ์จากนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติ ทำให้เห็นว่าตอนนี้เศรษฐกิจไทยถึงจุดก่อนโควิด-19 แล้ว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2566 โดยจะอยู่ที่ระดับ 2.9% ในปีนี้ และปีหน้าที่ระดับ 2.4% ตามแรงกดดันด้านอุปทานจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงจากปี 2565 มาอยู่ที่ 2.4% ในปีนี้ ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2567 โดยอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินไทยและภาคธุรกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่เกิดปัญหาจำกัด รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง โดยในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าเงินบาทผันผวนกว่าในช่วงที่ผ่านมาจริง แต่เป็นการผันผวนที่มีเหตุมีผล ส่วนหนึ่งจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญ คือ การดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา และยังมีประเด็นในภาคการเงินเข้ามาอีก เป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เกิดความผันผวนเยอะ และยังมีปัจจัยภายในประเทศ จากการที่จีนเปิดประเทศ เป็นข่าวดีที่ภาคการท่องเที่ยวและส่งออกของไทยได้อานิสงส์จากเรื่องนี้ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ส่วนการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลที่คาดว่าอาจจะล่าช้านั้น จะมีผลโดยตรงกับการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เชื่อว่าจะมีส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ เนื่องจากเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันมาจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง