คุกกลุ่มกปปส. ขวางเลือกตั้ง 13รีเด็มไม่รอด

ศาลพิพากษาจำคุกม็อบ  กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้งปี 2556 ตั้งแต่ 18-24 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนคดีม็อบ 3 นิ้วป่วนหน้าศาล ดูหมิ่นผู้พิพากษา กดดันปล่อยตัวผู้ต้องหา 112  จำคุกผู้ต้องหากราวรูด

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบขัดขวางรับสมัคร ส.ส.  คดีดำ อ.231/2565 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ฟ้องนายชานนท์  ขันทอง กับพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นมวลชนการชุมนุม กปปส. เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

โดยอัยการโจทก์นำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2565 ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า  เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2556 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกัน มีและใช้อาวุธโดยข่มขู่ ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่  ถอยรถขนขยะชนประตูเพื่อเปิดทางแล้วปิดล้อมประตูทางเข้าที่ 1 และ 2 ของศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ก่อนบุกเข้าไปในภายอาคารกีฬาเวสน์ 2 ปิดล้อมอาคารขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่ กกต.ประจำหน่วยเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค.56 เวลา 08.30 น.-16.30 น.

ศาลพิเคราะห์เเล้วการกระทำของจำเลยทั้ง 13 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, 216, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 362, 364 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 43 วรรคสอง (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้ง 13 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์และเคหสถาน  โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ให้จำคุกคนละ 2 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน

จำเลยที่ 1-9 และที่ 11-13 ให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ จำเลยที่ 10 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3-9 และที่ 11-13 คนละ 18 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 24 เดือน จำคุกจำเลยที่ 10 มีกำหนด 16 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงที่ไม่สมควรรอการลงโทษ ให้แก่จำเลยทั้ง 13 ริบของกลางทั้งหมดตามบัญชีท้ายฟ้อง บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 13530/2555 จำนวน 3 เดือน และใน คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 13531/2555 จำนวน 3 เดือน ของศาลแขวงธนบุรี เข้ากับคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 24 เดือน บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ที่รอการลงโทษ ไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 336/2555 จำนวน 1 เดือน ของศาลแขวงพระโขนง เข้ากับคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 19 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ต่อมา น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความ เปิดเผยว่า ภายหลังศาลมีคำพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาจำเลยคดีขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อปี 56 จำเลยทุกคนยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตปล่อยชั่วคราว ตีราคาประกันคนละ 1 เเสนบาท ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข

วันเดียวกัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีม็อบ REDEM หมายเลขดำอ.1423/2564 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ ฟ้องนายร่อซีกิน นิยมเดชา, นายชาติชาย แกดำ (จำเลยที่ 15) กับพวกรวม 15 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ 

โดยอัยการระบุฟ้องความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2564 เวลากลางวัน ได้มีการร่วมชุมนุมกลุ่ม REDEM จากการเชิญชวนของผู้ใช้เฟซบุ๊กกลุ่มเยาวชนปลดแอก-(Free YOUTH) ให้มาชุมนุมที่ศาลอาญา ประมาณ 300-500 คน โดยนำรถยนต์ติดตั้งขยายเสียง โจมตี เรียกร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน ชิวารักษ์ กับพวกรวม 7 คน ฐานดูหมิ่นสถาบันฯ โดยพวกจำเลยได้กล่าวโจมตีการทำงาน ดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ย้ายแท่นแบริเออร์บริเวณเกาะกลางถนนเพื่อเปิดจุดกลับรถหน้าศาลอาญา แล้วชุมนุมจนเต็มพื้นที่ถนน ใช้ไข่ไก่ มะเขือเทศ ของเหลวสีแดง สาดใส่ป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมและป้ายศาลอาญาเสียหาย เปรอะเปื้อน

ศาลอาญาพิจารณาพยานหลักฐานแล้ว ในส่วนของจำเลยที่ 1, 2 พยานโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควร จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ส่วนจำเลย 3-15 พิพากษาว่า มีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธกับฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม และฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 3-15 คนละ 1 ปี และปรับคนละ 1 หมื่นบาท จำเลยที่ 15 จำคุก 1 ปี, ฐานร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี  จำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 2 ปี และปรับคนละ 2หมื่นบาท จำเลยที่ 15 จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 300 บาท และฐานร่วมกันเทหรือทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย น้ำโสโครก หรือสิ่งอื่นใดลงบนถนน ปรับคนละ 3,000 บาท

ทางนำสืบของจำเลยที่ 15 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละหนึ่งในสาม รวมจำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 3 ปี และปรับคนละ 3.3 หมื่นบาท จำคุกจำเลยที่ 15 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน และปรับ 2.2 พันบาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2-14 ไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติ กับให้จำเลยที่ 3-14กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง  และยกฟ้องจำเลยที่ 1, 2.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง