ถล่มรัฐขึ้นค่าไฟ อ้างเอื้อนายทุน ต้มคนครั้งใหญ่!

ไทยโพสต์ ๐ สหภาพการไฟฟ้าฯ ยำรัฐบาล บริหารการผลิตไฟฟ้าเอื้อเอกชน  ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น เผยการผลิตไฟฟ้าอยู่ในมือเอกชนถึง 70% แนะหยุดเปิดโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพราะผลิตเกินจนประชาชนต้องแบกต้นทุนแทน "กรณ์" ซัดถือเป็นการต้มประชาชนครั้งใหญ่

     เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 สภาที่ 3  ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 จัดเวทีอภิปรายสภาที่ 3 ออนไลน์ วาระประเทศไทย ว่าด้วย "ค่าไฟแพงและการอนุญาตให้เอกชนผูกขาดพลังงานและการผลิตไฟฟ้า" นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 กล่าวเปิดงานว่า  ปัญหาเกิดจากวางนโยบายการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเกินจำนวนที่ต้องใช้จริง  เป็นความผิดพลาดจากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เวทีวันนี้จึงนำผู้มีความรู้ความเข้าใจมาอภิปรายนำเสนอต่อสังคมและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง  รัฐบาลไม่ได้อุ้มประชาชนที่ลำบาก อุ้มแต่นายทุน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า เพราะรัฐบาลปล่อยให้เอกชนเอาเปรียบแบบนี้   เอกชนก็ไม่มีธรรมาภิบาล ทำให้ประชาชนลำบาก แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมกรรมยังทนไม่ไหว แล้วประเทศจะอยู่อย่างไร

     ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค (สอบ./ TCC) กล่าวว่า สภาพของ กฟผ.ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าอีกต่อไป โดยในปี 2566 นี้ กฟผ.มีสัดส่วนเพียง 34-35% ที่เหลือเป็นของเอกชน และยังรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวด้วย ดังนั้น กฟผ.จึงเหลือสัดส่วนการผลิตน้อย ขณะที่ภาคเอกชนผลิตและจัดหาไฟฟ้าได้มากกว่า กฟผ. กลายเป็นว่า กฟผ.ต้องรับซื้อไฟจากเอกชนแล้วมาขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก่อนจะขายให้ถึงประชาชน เชื่อว่าที่ค่าไฟฟ้าแพง มีที่มาจากการเเบ่งงานกันทำ และกินผลประโยชน์ร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินในระบบถึง 50% เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวนมากที่รับซื้อในอัตราที่สูงมาก บางโรงรับซื้อในราคา 6-10 บาทต่อหน่วย จึงไม่แปลกใจที่ไปคำนวณในค่า ft ค่าไฟในรอบเดือนที่ผ่านมาจึงสูง

     ขณะที่นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ไม่ใช่ผู้ผลิตหลักแต่พยายามคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน และแบกรับภาระหนี้สินมาโดยตลอด และค่าไฟฟ้าที่แพง เกิดจากมีกำลังไฟฟ้าสำรองที่สูง เนื่องจากมีการเอื้อให้โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยไม่ดูสัดส่วนหรือความต้องการไฟฟ้าที่เหมาะสม ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาล เพราะกำลังการผลิตไฟฟ้านั้นเอกชนมีถึง 70% ขณะที่ กฟผ.มีราว 30% เท่านั้น และในส่วนเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าจากแก๊สและพลังงานหมุนเวียน  กฟผ.ต้องรับซื้อจากเอกชนหน่วยละเกือบ 10 บาท แต่ กฟผ.ไม่มีอำนาจกำหนดราคาไฟฟ้า ต้องทำตามนโยบายรัฐบาลและคำสั่งของหน่วยงานที่กำกับดูแล

     "สหภาพแรงงาน กฟผ.จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติหรือทบทวนสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน รวมถึงการทบทวนยุติอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนแห่งใหม่อีก, ทบทวนแผน PDP ซึ่งเชื่อว่าหากแผน PDP นี้ผ่าน จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีก  ดูได้จากเชื้อเพลิงที่ควบคุมไม่ได้ ต่างจากของ กฟภ. ที่มีโรงผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายในการผลิตไฟฟ้า พร้อมกันนี้ขอให้หน่วยงานที่กำกับดูแลหันกลับมาทำหน้าที่ตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนด้วย" นางณิชารีย์กล่าว

     นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพแรงงาน กฟผ. ระบุว่า ปัจจุบันจะเห็นการเริ่มมีการทำลายความเป็นรัฐวิสาหกิจของ กฟผ. เพื่อเอาไปให้กับนายทุน ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือหยุดโรงไฟฟ้าเอกชน หรือหยุดสนับสนุนการสร้างและรับซื้อไฟฟ้าเอกชนไว้ก่อน   แล้วกลับมาดูความมุ่งหมายของรัฐวิสาหกิจกับเอกชน ซึ่งแตกต่างกัน ขณะที่ปัจจุบันภาครัฐเองพยายามใช้ภาคเอกชนทำลายรัฐวิสาหกิจอย่างเช่นที่ทำร้ายองค์การโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการทำลายผลประโยชน์ประชาชน

     วันเดียวกันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวกรณีจะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า ทุกคนรู้ดีว่าในช่วงฤดูร้อนคนไทยใช้ไฟเพิ่มสูงมากกว่าปกติ ค่าไฟโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือน แต่รัฐยังประกาศจะขึ้นค่าไฟ ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน พรรคชาติพัฒนากล้าต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งหนึ่งในต้นตอสำคัญทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นคือต้นทุนพลังงาน เราเสนอแนวนโยบายที่ชัดเจนที่จะแก้ปัญหา คือต้องรื้อโครงสร้างพลังงาน

     "สาเหตุของการปรับค่าไฟฟ้าครั้งนี้คือการปรับค่าเอฟที โดยภาคประชาชนมีการปรับค่าเอฟทีขึ้น 5% แต่กลับลดให้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขดังกล่าว พวกเราเห็นแล้วถึงกับอึ้งกับแนวนโยบายการกำหนดค่าไฟแบบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับลำเอียงเข้าข้างภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป"

     นายกรณ์กล่าวด้วยว่า เราพบปะพี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่ขอให้เราช่วยเรื่องค่าครองชีพ ของแพง ซึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนพลังงาน เพราะฉะนั้นอย่าซ้ำเติมประชาชน และอย่าเข้าข้างนายทุนในระดับที่ประชาชนต้องเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยที่จะลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องไม่ใช่การเพิ่มภาระให้กับประชาชนแบบนี้ มันไม่ใช่แนวทางบริหารเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะถือเป็นการต้มประชาชนครั้งใหญ่

     ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นประชาชนที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากสัญญาที่รัฐบาลทำไว้กับเอกชนตลอดระยะเวลา 29 ปี และยังเป็นการอนุมัติสัญญาโรงไฟฟ้าทิ้งทวนแบบเร่งรีบ โดยที่รัฐบาลเตะถ่วงการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศให้ล่าช้ามาแล้ว 1 ปี จากที่ควรออกมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะถ้านำข้อมูลจริงมาทบทวน ก็จะรู้ว่ายังไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มในวันนี้

     "ถ้าประเทศไทยยังปล่อยให้มีรัฐบาลที่มีนโยบายเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานแบบนี้อีกต่อไป ประชาชนก็ต้องเป็นคนมาคอยจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ควรต้องจ่าย ก่อเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำ และลดขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยต่อตลาดโลกจากต้นทุนพลังงานที่แพง"

     พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออก หนีจากวังวนทุจริตเชิงนโยบายเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงาน ด้วยการปลดล็อกสายส่ง เปิดเสรีให้ประชาชนเลือกซื้อไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดได้เอง ไม่ต้องถูกบังคับผูกขาดซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฯ อีกต่อไป ทำให้ไม่มีรัฐบาลที่จะสามารถทำสัญญาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานแบบไม่เป็นธรรมในระยะยาวได้แบบที่ผ่านมา รวมถึงเสนอลดค่าไฟฟ้าได้เลย 70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี จากการเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย.

    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง