เลื่อนรอบ 8! ศาลฎีกานัด 16 มิ.ย.ไปลุ้นอีกรอบคดีธาริตแจ้งข้อหามาร์ค-สุเทพสั่งฆ่าประชาชน เจ้าตัวเล่นมุกใหม่อ้างมาตรา 157 ขัดรัฐธรรมนูญพ่วงกลับคำขอสารภาพผิดทั้งหมดเพื่อลดหย่อนโทษ “ศาลอาญา” ฟันโตโต้และพวกผิดฐานมั่วสุม จำคุก 20 วัน แต่รอลงอาญา 2 ปี
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. 66 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดี แต่นายธาริตมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ขอเลื่อนฟังคำพิพากษา เนื่องจากต้องผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่านายธาริตขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริตเพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา
โดยวันนี้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ทนายโจทก์จำเลยที่ 1-4 ทนายจำเลย นายประกันจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย เดินทางมาศาล ซึ่งทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 4 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26, 27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค.2566 และจำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1
ทนายโจทก์ที่ 1-2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมาย ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อมีนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดี การขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกาจึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า และการยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ เพราะคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 และการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุบรรเทาโทษ และเพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดี จึงขอให้ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง
โดยทนายโจทก์ที่ 2 แถลงเพิ่มเติมว่า เคยรับหน้าที่เป็นทนายความให้คู่ความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1166/2558 ของศาลนี้ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลสูงหลายครั้งในลักษณะทำนองเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งเรียก คืนสำนวนและของคำพิพากษาทั้งหมดจากศาลชั้นต้นและอ่านคำพิพากษาเองที่ศาลฎีกา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เช่นเดียวกับในคดีดังกล่าวด้วย
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การส่งคำโต้แย้งของคู่ความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลที่มีอำนาจส่งคำโต้แย้งของคู่ความต้องเป็นศาลที่ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งคู่ความโต้แย้งบังคับแก่คดี ประกอบกับจำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เพื่อให้ศาลฎีกาพิจารณาคำรับสารภาพประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาคดีในการลงโทษ จำเลยที่ 1 กรณีไม่อาจอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาไปในวันนี้ได้ จึงให้ส่งสำนวน พร้อมคำร้อง คำให้การของจำเลยที่ 1 และซองคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว และให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันที่ 16 มิ.ย.2566 เวลา 09.00 น.
วันเดียวกัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีร่วมกันมั่วสุมชุมนุม หมายเลขดำอ.2092/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ ฟ้องนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ อดีตหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ฐานมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ฯ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว ซึ่งนายปิยรัฐกับพวกทั้ง 19 คนเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมทนายความ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่าโจทก์มีพยานหลักฐานให้รับฟังมั่นคงว่า จำเลยทั้ง 19 คน กระทำผิดฐานร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ป.อาญา มาตรา 215 วรรคแรกประกอบมาตรา 83 พิพากษาจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 9,000 บาท คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 20 วัน ปรับเงินคนละ 6,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี จึงรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติคนละ 1 ปี และรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"