ปชช.‘หนี้’อ่วม ครัวละ1.2ล้าน 81%หวังรัฐอุ้ม

คนไทยอ่วมหนี้! สวนดุสิตเผยผลสำรวจพบครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ย 1.2 ล้านบาท 47% เป็นหนี้บัตรเครดิต ตามมาด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่วนซูเปอร์โพลชี้ 81% อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา

เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีหนี้สินทั่วประเทศ ต่อกรณีภาวะหนี้สินของคนไทย จำนวน 1,059 คน พบว่า 46.52% เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, 39.85% สินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน คอนโดฯ อาคารพาณิชย์ ฯลฯ, 35.46% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, 30.79% รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และ 15.73% การศึกษา ค่าเล่าเรียน กยศ. ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าประชาชนมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 1,248,847.03 บาท โดย 48.18% มีหนี้น้อยกว่า 500,000 บาท, 22.85% หนี้ระหว่าง 1,000,000-2,999,999 บาท, 15.26% หนี้ 3,000,000 บาทขึ้นไป และ 13.71% หนี้ 500,000-999,999 บาท และเมื่อถามว่าจะใช้หนี้ได้หมดหรือไม่ พบว่า 71.11 น่าจะใช้หนี้ได้ทั้งหมด, 15.20% ไม่แน่ใจ และ 165.69% ไม่น่าจะใช้หนี้ได้ทั้งหมด ส่วนข้อถามว่าเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สินอยู่ในระดับใด พบว่า 38.15% เครียดและวิตกกังวลปานกลาง, 31.49% เครียดและวิตกกังวลน้อย, 22.74% เครียดและวิตกกังวลมากและ 7.62% ไม่เครียดและไม่วิตกกังวล

ถามอีกว่า ควรแก้ปัญหาหนี้สินอย่างไร พบว่า 80.88% แก้ด้วยตนเอง มีวินัย วางแผนการใช้จ่าย อดออม, 61.85% รัฐปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้, 52.81% เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มรายได้ จ้างงานมากขึ้น, 31.30% ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการจัดการหนี้ และ 23.31%สถาบันทางการเงินช่วยวางแผนทางการเงิน ทั้งนี้ เมื่อถามว่าใครจะช่วยเรื่องปัญหาหนี้สินได้ พบว่า 89.23% ตัวเอง, 46.33% ครอบครัว คนใกล้ชิด, 36.70% ธนาคาร, 22.97% สหกรณ์ออมทรัพย์ และ 11.25% โรงรับจำนำ

ขณะที่ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง สถานการณ์โลกกับความจริง-ความต้องการของคนไทย กรณีศึกษาประชาชน 1,148 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ หรือ 80.8% รับรู้ถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับทั่วโลก, 81.4% ระบุวิกฤตโควิด และเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการว่างงาน, 82.9% ระบุวิกฤตโควิด และภัยพิบัติน้ำท่วมในไทย ส่งผลรายได้ลดลง มีหนี้สินเพิ่มขึ้น, 80.1% ระบุวิกฤตโควิด ภัยพิบัติน้ำท่วม และวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ความสุขลดลง มีผลต่อ สุขภาพจิต และ 79.1% ระบุวิกฤตโควิด และวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลต่อระบบการศึกษาและการเรียนรู้พัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลการเปรียบเทียบอัตราการว่างงานระหว่างประเทศไทยกับต่างชาติ โดยอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เช่น ธนาคารโลก กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์เทรดดิ้งอิโคโนมิคส์ และสถิติต่าง ๆ เป็นต้น พบว่า อัตราการว่างงานของไทยอยู่ที่ 2.25% เปรียบเทียบกับกัมพูชา 0.31%, ลาว 1.0%, เมียนมา 1.79%, ฟิลิปปินส์ 6.9%, อินโดนีเซีย 6.49%, จีน 4.9%, สหรัฐอเมริกา 4.6%, มาเลเซีย 4.5% และเยอรมนี 3.4% และผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือ 80.8% ต้องการให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา มุ่งให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ 19.2% ไม่ต้องการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง