หอการค้าไทยชี้ภาคธุรกิจห่วงค่าไฟ-น้ำมัน-ค่าแรง-ดอกเบี้ย ดันต้นทุนการผลิตพุ่ง กังวลปัญหาเสถียรภาพการเมือง คาดเลือกตั้งเงินสะพัดแสนล้านบาท คงจีดีพีไทยโต 3-4% ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นครึ่งปีหลัง
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจความเห็นของภาคธุรกิจต่อผลกระทบภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทยในประเด็นต่างๆ ว่า ผลสำรวจพบว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาคธุรกิจในขณะนี้ คือภาระต้นทุนที่ยังคงสูงต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อ ค่าไฟแพง ค่าแรง ดอกเบี้ย ส่งผลกระทบยอดขาย กำไร และสภาพคล่องของธุรกิจ นอกจากนี้การเมืองและการเลือกตั้งก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ภาคธุรกิจเริ่มกังวล ส่วนสถานการณ์ธนาคารต่างชาติที่มีปัญหา มองว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและเศรษฐกิจภายในประเทศ และยังคงเชื่อมั่นธนาคารของประเทศไทยอยู่ ทั้งนี้ ต้องการให้ภาครัฐดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะในไตรมาส 4
นายธนวรรธน์กล่าวว่า คาดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมรณรงค์หาเสียงมากขึ้นตามไปด้วย ในช่วงเลือกตั้งจะมีเงินสะพัดเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ 4-5 หมื่นล้านบาท เป็น 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1-1.2 แสนล้านบาทเป็นอย่างต่ำ เม็ดเงินดังกล่าวทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่ม 0.5-0.7% ส่งผลทำให้จีดีพีในไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 3-4% จะช่วยค้ำยันเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้ในระดับหนึ่ง โดยทั้งปีนี้ ม.หอการค้าฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3-4%
"ภาคธุรกิจมองว่าการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยง โดยกังวลว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น การจัดตั้งรัฐบาลอาจจะยืดเยื้อ จนกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ ทำให้นักธุรกิจส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 4 หรือปลายปี ซึ่งหากหลังเลือกตั้งมีปัญหาการเมืองจริง คาดว่าช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอาจจะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ หรือที่เรียกว่า wait and see ซึ่งหลังจากนี้เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากว่าได้รัฐบาลใหม่ได้เร็วและเดินหน้าตามนโยบาย รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณได้โดยไม่เกิดสุญญากาศ ก็จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจุดเปลี่ยนประเทศจะอยู่ที่ไตรมาส 3 จะไปต่อได้แค่ไหน" นายธนวรรธน์ ระบุ
ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผอ.สถาบันยุทธศาสตร์การค้า ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการจำนวน 600 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-15 มี.ค.2566 ถึงผลกระทบภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทยในประเด็นต่างๆ พบว่าปัจจุบันสถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบยังเหมือนเดิม ทั้งยอดขาย ต้นทุน กำไร สภาพคล่องทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลจากต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง มีผลต่อยอดขายและกำไรลดลง แต่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
โดยมองว่าเงินเฟ้อที่เหมาะสมควรสูงไม่เกิน 2-3% และหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ 70% เห็นว่าจะกระทบต่อโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำมองเหมาะสมอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน จากเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน ซึ่งหากปรับขั้นค่าแรงอีก 10% ผู้ประกอบการกว่า 50% ระบุว่าอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอีก 5.7% และเลิกจ้างแรงงานบางส่วนเพื่อลดภาระต้นทุน
ด้านค่าไฟฟ้าธุรกิจส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดจาก 5.69 บาทต่อหน่วย เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วย ก็ยังเป็นอัตราที่ยังสูง ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมมองที่ 3.94 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐบาลมีการขึ้นค่าไฟ ภาคธุรกิจจะปรับขึ้นราคาสินค้าทันที และชะลอแผนลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องและชะลอแผนลงทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง ราคาน้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ 29.60 บาทต่อลิตร ส่วนกรณีธนาคารในสหรัฐล้ม ภาคธุรกิจมองว่าส่งผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจน้อย ทั้งคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 66 ว่าจะฟื้นได้ในไตรมาสที่ 4
เมื่อถามถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งใหม่ในช่วงเดือน พ.ค. ธุรกิจกว่า 40% มองว่าเป็นผลบวกจากเงินหาเสียงและรณรงค์เลือกตั้งสะพัด มีผลต่อยอดขายและการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ดีขึ้น แต่ก็ยังกังวลนโยบายด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วยการดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ณ ปัจจุบัน เช่น ไม่ปรับขึ้นค่าพลังงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศให้เหมาะสม ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัว ดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อย่างดี และมีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ หากมีปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย
‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา
กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ
เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว