ยุบสภา บิ๊กตู่ลุยการเมืองปท.ได้ประโยชน์ กกต.ถกใหญ่จ่อหย่อนบัตร14พค.

“ในหลวง” โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว กำหนดให้ กกต.เคาะวันเลือกตั้งใน 45-60 วัน  “บิ๊กตู่” ขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลที่ร่วมกันพายเรือแป๊ะ รับมีทั้งสิ่งที่ทำเสร็จและไม่สำเร็จ โวไม่เสียใจที่ลงสู่สนามการเมืองเพราะประเทศชาติประชาชนได้ประโยชน์ เลขาฯ กกต.หารือวิษณุปมมาตรา 169 คาด กกต.เตรียมประชุมใหญ่ 21 มี.ค. “วิษณุ” เผยไม่เกินศุกร์นี้น่าจะคลอดไทม์ไลน์หย่อนบัตร เชื่อ 14 พ.ค.วันเข้าคูหา

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 เวลาประมาณ  15.00 น. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ ณ วันที่ 17  มีนาคม พ.ศ.2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

สำหรับเนื้อหาพระราชกฤษฎีการะบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ พ.ศ.2562 และบัดนี้ได้ปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีที่สี่อันเป็นปีสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎรแล้วสมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนโดยเร็วเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 103 และมาตรา  175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และมาตรา 5 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนที่ 22 ก

โดย พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังมีพระราชกฤษฎียุบสภาว่า ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ มีอะไรจะพูดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มีอะไร ก็ขอขอบคุณทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาด้วย อยู่มา 4 ปีด้วยกัน มีทั้งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างก็ต้องขอขอบคุณ ซึ่งทุกคนทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับใครทั้งสิ้น

“พอใจไหมถ้าถาม ผมคงตอบไม่ได้ ต้องถามประชาชนว่าพอใจหรือเปล่า เขาได้รับอะไรไปมากน้อยเพียงใด เขาเห็นรึเปล่า ถ้าเขาไม่สังเกตเห็นก็ไม่รู้เหมือนกัน ต้องฝากไปดูด้วย เราก็ทำอะไรมาเยอะแยะพอสมควรหลายปีที่ผ่านมา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว              

พล.อ.ประยุทธ์ยังตอบข้อถามเรื่องมีอะไรที่ตั้งใจจะทำแล้วยังไม่ได้ทำว่า มีหลายเรื่องพยายามทำแต่ก็ติดขัดเรื่องข้อกฎหมายยังมีปัญหาอยู่ ยังค้างคาอยู่หลายเรื่อง ก็หวังว่ารัฐบาลหน้าควรจะทำให้เรียบร้อย

ขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อถามถึงสิ่งที่ภูมิใจที่สุดในการทำหน้าที่นายกฯ มา  8 ปี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งที่ภูมิใจคือขอบคุณในความร่วมมือของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคร่วมรัฐบาล  หลายอย่างที่ออกมาเป็นนโยบายของแต่ละพรรคคือรัฐบาลทำไปแล้วหมด ดีใจอย่างน้อยได้สร้างสิ่งดีๆ ขึ้นมา สิ่งที่จะเป็นรายได้ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอีอีซี การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และต้องขอบคุณสื่อมวลชนด้วย เราไม่ใช่ศัตรูกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งนายกฯ หงุดหงิดไปบ้าง  เพราะทำงานเยอะก็เครียดบ้างอะไรบ้าง แต่ไม่ได้โกรธใคร

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานายกฯ ได้อะไรจากการเมืองบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็คงต้องได้เพราะทำงานกับการเมือง ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไงก็เป็นนักการเมืองอยู่เหมือนกัน ในการบริหารนายกฯ อยู่ในฐานะผู้บริหาร ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่ออกมาได้ นายกฯ เป็นคนตัดสินใจ ไม่ว่าอะไรก็ตามก็เสนอมาให้นายกฯ ตัดสินใจเพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อยืนอยู่ตรงนี้ก็ต้องตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่มันสมควร เพื่อนำเข้า ครม.พิจารณาร่วมกัน ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคไม่เห็นด้วยมันก็ผ่านไม่ได้ มันไม่ได้หรอก ครม.ต้องเห็นชอบร่วมกันในเรื่องที่มันจะเห็นชอบ  ถ้าไม่เห็นชอบก็ไม่นำเข้าพิจารณาใช่ไหม

ถามอีกว่า หลังจากนี้กับพรรคร่วมรัฐบาลจะเดินหน้าทำงานร่วมกันอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำงานเหมือนเดิม มันยากตรงไหน การเมืองมันไม่มี แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลในการทำงานใน ครม. ทำเพื่อประเทศชาติประชาชนโดยรวม ไม่ได้ทำเพื่อการเมือง ถ้าทำเพื่อการเมืองก็ทำไม่ได้หรอก

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้ไปการลงพื้นที่หาเสียงของนายกฯ จะเป็นอย่างไร หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นผู้วางแผน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า พรรควางแผน ก็อาจไม่ได้ไปทุกที่อยู่แล้ว มีหาเสียงใหญ่หาเสียงย่อยเยอะแยะไปหมด ก็เวียนหัวเหมือนกัน

เมื่อถามว่า ตัดสินใจที่จะลง ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถามไปโน่นอีกแล้วยังไม่ตอบหรอก  ส่วนอนาคตการเมืองนั้นก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในขณะที่ครอบครัวก็ให้ตนเป็นคนตัดสินใจ และก็เป็นห่วงครอบครัว  ไม่มีใครเขาอยากให้สามีมาเป็นนักการเมืองเต็มตัวหรอก ไม่มี

“ภรรยาผมไม่ยุ่งเรื่องพวกนี้ แต่เขาก็ดูแลสุขภาพเรา  ดูแลด้วยความห่วงใย มีอะไรก็เตือนมา มีข้อมูลอะไรก็เตือนมาแค่นั้น ไม่ยุ่งกับเรา ไม่ยุ่งเรื่องการเมือง แต่ก็ให้กำลังใจตลอดอยู่แล้ว เพราะเป็นสามีภรรยาจะไม่ห่วงได้อย่างไรเล่า”

เมื่อถามว่า สนามเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขาเขียนว่าอย่างไรเล่า ส่วนพรรค รทสช.จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวหรือไม่ก็ไม่ทราบ

ถามว่า ต้องมีสำรองหรือไม่เพราะนายกฯ อยู่ได้ถึงปี  2568 เท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เดี๋ยวต้องหารือกันใหม่ เป็นเรื่องของพรรคเขา อย่าถามดักหน้าดักหลังนักเลย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ยืนให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นเวลา 7 นาที ก่อนเดินขึ้นไปประตูหลังตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อเตรียมขึ้นไปยังห้องทำงาน แต่สื่อมวลชนได้เชิญนายกฯ  ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหลังจากที่ทำงานร่วมกันมากว่า 8  ปี พล.อ.ประยุทธ์หัวเราะพร้อมกล่าวว่า “มันต่างกันตรงไหน ฉันก็คนเดิมนี่แหละ” ก่อนกล่าวอีกว่า “ขอบคุณสื่อทุกคนมากๆ อย่างไรก็ยังอยู่ด้วยกันนั่นแหละนะ”

'บิ๊กตู่' ลั่นไม่เสียใจ

เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า จากนี้ไปในสนามการเมือง พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวและอีกหลายอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า ไม่เป็นไร ประเทศชาติประชาชนได้ประโยชน์ ตนไม่เสียใจอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินกลับไปยังห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้หันมาทำสัญลักษณ์มือไอเลิฟยูและมินิฮาร์ตให้สื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี และก่อนออกจากทำเนียบฯ กลับบ้านพัก ก่อนขึ้นรถยนต์ พล.อ.ประยุทธ์ได้หันมาโบกมือทักทายสื่อมวลชนและช่างภาพที่มารอบันทึกภาพ จากนั้นเมื่อขบวนรถยนต์เคลื่อนออกจากด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า พล.อ.ประยุทธ์ได้ลดกระจกรถยนต์ลงและโบกมือทักทายสื่อมวลชนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนมีพระราชกฤษฎีกา พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงวันเกิด 21 มี.ค.อยากได้ของขวัญอะไรว่า ขอให้ประชาชนมีความสุข ไม่แตกแยก ไม่แบ่งแยกกัน รักสามัคคี และรักษา 3 สถาบันของเราไว้ให้ได้ก็แล้วกัน  อยากจะฝากไว้แค่นั้น

เมื่อถามว่า มีคำพูดทำนองว่าระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ พล.อ.ประวิตร ถ้าใครได้คะแนนเสียงมากกว่าจะได้เป็นนายกฯ จริงหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ไม่ได้ยิน ท่านไม่ได้พูดกับผม ถ้าได้ยินก็ไปถามท่าน โอเคนะ ผมไม่ได้ไปอยู่ร่วมกับเหตุการณ์สักเหตุการณ์หนึ่ง ถ้าถามผม ผมไม่รู้  และผมก็ไม่ได้สนใจจะอ่านด้วยขอบคุณ”

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาว่า หากจะเรียกตำแหน่งของ  พล.อ.ประยุทธ์ยังเรียกนายกฯ เหมือนเดิม จะไม่ใช้คำว่ารักษาการ รวมถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ยังคงเรียกตามเดิมอยู่ รักษาการจะมีอย่างเดียวคือ คณะรัฐมนตรีรักษาการ

ก่อนหน้านี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางเข้าพบนายวิษณุ โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที จากนั้นนายแสวงให้สัมภาษณ์ว่า นายวิษณุได้เชิญมาถามขั้นตอนหากยุบสภาแล้ว ครม.รักษาการจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไรได้บ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ ส่วนเรื่องวันเลือกตั้งนั้นไม่ได้หารือ คณะรัฐมนตรีรู้เท่ากับประชาชนทั่วไป  ไทม์ไลน์เป็นเรื่องของ กกต. ไม่ใช่เรื่อง ครม.

 “วันเลือกตั้งอยู่ในช่วง 45-60 วันหลังยุบสภา ส่วนวันไหนก็ต้องไปดู เราต้องทำตามกฎหมาย เพราะในช่วงวันดังกล่าวไม่รู้ตกตัวไหน” นายแสวงกล่าว

เมื่อถามว่า หากมีการยุบสภา 20 มี.ค. ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร นายแสวงกล่าวว่า กกต.ก็จะประชุมวันที่  21 มี.ค. โดยพิจารณาร่างประกาศที่เกี่ยวกับวันรับสมัคร  ส.ส. การกำหนดวันเลือกตั้ง กำหนดเขตเลือกตั้ง เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งต้องบริหารสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมือนมาคุยวันนี้ก็เป็นประโยชน์ เพราะคณะรัฐมนตรีต้องรักษาการ หน้างานเลือกตั้งมีอยู่ 4-5 งาน  ไม่ว่าจะเป็น กกต. พรรคการเมือง ประชาชน รัฐบาลรักษาการ ทุกคนควรอยู่กับที่ที่ตัวเองควรอยู่ จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เราจะบริหารสถานการณ์ไปถึงวันเลือกตั้ง ให้มั่นใจและสบายใจว่าเราจะทำงานอย่างเต็มที่

กกต.ลั่นยึดตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า มีพรรคการเมืองไปร้องเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งต่อศาลปกครองให้มีการคุ้มครองฉุกเฉิน จะกระทบทำให้วันเลือกตั้งต้องขยับออกไปหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า เราเดินตามรัฐธรรมนูญ วันเวลาเป็นตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว กฎหมายให้ทำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น  สุดท้ายต้องรอดูการวินิจฉัยของศาลปกครองว่าผลจะเป็นอย่างไร ทุกคนมีสิทธิ์ใช้สิทธิ์ อย่าเพิ่งไปคาดคะเน แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

 ถามอีกว่า ขณะนี้มีการร้องยุบพรรคหลายพรรคจะทำให้การเลือกตั้งสะดุดหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ตนเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่ผ่านมาก็ทำตามกฎหมาย การแข่งขันอย่าไปกังวลอะไรถ้าเราไม่ได้ทำผิด เพราะกฎหมายให้การคุ้มครองทุกคนที่ไม่ได้กระทำผิด และเมื่อได้รับการร้องเรียนเราก็ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งกับผู้ร้องและผู้ถูกร้อง

ด้านนายวิษณุกล่าวถึงผลการหารือกับนายแสวงว่า  กกต.จะออกประกาศภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีประกาศยุบสภา ซึ่งในประกาศนั้นจะบอกว่า 1.วันเลือกตั้งเป็นวันไหน 2.วันรับสมัครวันไหน 3.สถานที่รับสมัครที่ใด ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อก็ตาม โดยไม่ต้องมีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาอื่นใดอีก ที่กฎหมายบอกว่าให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ให้ กกต.ถือว่า พ.ร.ฎ.ยุบสภาคือ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งในตัวเอง เพราะใน พ.ร.ฎ.จะบอกว่า 1.ให้มีการยุบสภา 2.ให้มีการเลือกตั้ง  นั่นแปลว่านี่คือ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง เข้าใจว่าไม่เกินวันศุกร์ที่ 24 มี.ค.นี้จะออกประกาศได้ โดย กกต.เป็นคนกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร สถานที่ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้น ได้มีการประชุมกับพรรคการเมืองทั้งหมดแล้ว ตกลงกันว่าสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ค่าใช้จ่ายรวมกันทั้งหมด 100 รายชื่อ จะต้องไม่เกิน 44 ล้านบาท ส่วน  ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ละคนต้องไม่เกินคนละ 1.9 ล้านบาท  ซึ่งจะเริ่มนับแต่ยุบสภา แม้ป้ายเดิมติดอยู่ก็เริ่มนับได้เลย

ถามถึงคุณสมบัติของผู้สมัคร หากไปสมัครหลังวันที่  5 เม.ย.ต้องสังกัดพรรค 30 วันก่อนหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า เริ่มนับถอยหลังมา 30 วันจากวันเลือกตั้งที่กำหนด ส่วนกำหนดการวันเลือกตั้งนั้น หากยุบวันนี้เขาคงเลือกวันที่ 14 พ.ค. หากยุบสภาวันที่ 21 มี.ค.ยังคงเป็นวันที่ 14 พ.ค. เพราะจะถอยหลังเกินวันที่ 14 พ.ค.ไม่ได้แล้ว เพราะวันที่ 14 พ.ค.ถือเป็นวันที่ 55 และระหว่างวันที่ 7 พ.ค.กับวันที่ 14 พ.ค. ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีวันหยุดมากกับวันหยุดน้อยนั้น ไม่มีนัยทางการเมือง ไม่เกิดความแตกต่าง  

ข้าราชการห้ามจุ้นหาเสียง

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ข้าราชการจากนี้ไป จะเป็นไปตามมาตรา 78 ของกฎหมายเลือกตั้ง แต่เลขาธิการ กกต.บอกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่ามีการเขียนเกี่ยวกับการวางตัวของข้าราชการไว้ 2 ที่ คือ กฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน และกฎหมายเลือกตั้ง  ซึ่งในกฎหมายเลือกตั้งนี้บางอย่างแม้ไม่ผิด แต่อาจผิดในกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือนได้ เช่นข้าราชการธรรมดาไปช่วยหาเสียงถือว่าไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ชัดเจนว่าผิดกฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน ถือเป็นความผิดทางวินัย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหลังเวลาราชการข้าราชการจะไปช่วยหาเสียงไม่ได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า  เวลาไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้นเพราะผิดวินัย แต่อย่าไปร้องเรียน  กกต. เพราะ กกต.จะไม่รับเรื่องเหล่านี้ แต่ในกรณีของนักการเมือง เช่นรัฐมนตรีลงสมัครรับเลือกตั้งจะไม่ใช้ระเบียบข้าราชการพลเรือน เพราะเขาไม่ใช่ข้าราชการ แต่ใช้กฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งนั้นระบุว่า ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหลายร้อยเรื่องที่ไปร้อง กกต.กล่าวหาไม่เข้าข่ายทั้งนั้น  เพราะเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยชอบ ดังนั้นเขาสามารถทำได้ แม้ว่าดูเป็นการหาเสียง ยกเว้นว่าเป็นการหาเสียงโจ่งแจ้ง เช่นไปแจกโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการ แต่ระหว่างนั้นบนเวทีได้แนะนำตัวผู้สมัครไปพรางด้วย ทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเสร็จกิจกรรมการมอบโฉนดแล้วไปขึ้นลงเวที หรือเดินตลาดหาเสียงอย่างนั้นไม่เป็นไร  หรือเวลาไปจะไปเครื่องบินหลวงหรือเฮลิคอปเตอร์หลวงก็ไม่เป็นไร เพราะไปในราชการ ต้องแยกให้ออก

มีรายงานแจ้งว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 21 มี.ค.นั้น  ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ ครม.รักษาการ แต่ยังคงมีกิจกรรมเหมือนเช่นทุกสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนวาระการประชุม ครม.นั้นพบว่ามีไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นเรื่องเพื่อทราบเท่านั้น และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ที่น่าจับตาคือข้อสั่งการของนายกฯ ในช่วงท้ายการประชุมว่า พล.อ. ประยุทธ์จะมีข้อสั่งการใดถึงพรรคร่วมรัฐบาลบ้างหรือไม่  รวมถึงนายวิษณุจะรายงานใน ครม.เรื่องข้อปฏิบัติตนในช่วงประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รายงานสถานภาพสมาชิกสภาชุดที่ 25 ว่ามี ส.ส.เริ่มต้น  500 คน แต่ที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 393  คน ซึ่งหากทบทวนการทำงานของสภาชุดที่ 25 ถือเป็นชุดพิเศษที่เริ่มใหม่ หลังจากว่างเว้นไม่มีการเลือกตั้งมา 5  ปี และถือเป็น ส.ส.ใหม่เกิน 500 คน แม้จะมีข้อวิจารณ์เรื่องวัฒนธรรมพฤติกรรม

“ภาพรวมสภาได้ฝ่าวิกฤตตั้งแต่เปิดสมัยประชุมวันแรก มีการใช้สถานที่ประชุมหลายแห่ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนมาเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องหยุดการประชุมไป 1 เดือน แล้วมีการชดเชยในภายหลัง แต่โชคดีว่าสภาขยันทำงานในตอนต้นจึงไม่มีกฎหมายค้าง ประกอบกับรัฐบาลเสนอกฎหมายมาน้อย แม้ช่วงปลายสมัยประชุมจะเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ แต่ 4 ปีผมภูมิใจที่สภาอยู่มาได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีแบบนี้ทุกครั้ง ถ้าไม่มองในช่วงปลายสมัยประชุม สมาชิกต่างทำหน้าที่กันได้เกือบครบ แม้ช่วงท้ายยังมีกฎหมายค้างอยู่" นายชวนกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต. เตือนข้อพึงระวังหาเสียงและยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง อบจ.

สำนักงานคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังในการหาเสียง การรายงานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้