ภาคเอกชนหวั่น ฉุดโครงการรัฐ หุ้นไทยร่วง8จุด

เอกชนหวั่น ยุบสภาฉุดโครงการในประเทศชะลอตัว วอนรัฐบาลรักษาการเข็นเศรษฐกิจ-เร่งเบิกจ่ายงบฯ ภาครัฐ หวังรัฐบาลใหม่ต้องไม่มีความขัดแย้งกัน เพื่อไม่กระทบความเชื่อมั่น แนะลุยนโยบายพลังงานสู่ความยั่งยืน ตลาดหุ้นผันผวนร่วง 8.22 จุด

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรว่า  การยุบสภาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ แต่การยุบสภาจะทำให้กระบวนการหลายๆ อย่างเกิดความล่าช้า เนื่องจากยังมีหลายโครงการที่อยู่ภายใต้กระบวนการตัดสินใจของคณะรัฐบาล ซึ่งอาจจะส่งผลให้ยืดเยื้อออกไป  รวมถึงกลุ่มข้าราชการที่น่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ก็จะชะลอการทำงานเพื่อดูทิศทางรัฐบาลใหม่ ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ เป็นต้น

"ขณะเดียวกันการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แม้จะเป็นประเด็นที่นักลงทุนรับรู้มาโดยตลอด แต่ก็ยังมีความกังวลเกิดขึ้นในช่วงที่รอรัฐบาลชุดใหม่ ที่คาดว่าจะได้ในช่วงเดือน ส.ค.66 โดยเฉพาะความกังวลของด้านการเดินหน้านโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนโยบายอื่นๆ  เนื่องจากในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการอาจจะทำงานล่าช้า ซึ่งเป็นปกติของการเมืองไทยในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลรักษาการดูแลและช่วยพยุงเศรษฐกิจไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ" 

นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า ด้านเอกชนก็มีความกังวลเช่นกัน หากช่วงนี้หลายอย่างมีการชะลอลง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าทุกอย่างมันจะถูกขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ เพื่อรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นมากที่สุด คือ รัฐบาลใหม่ต้องไม่มีความขัดแย้งกัน เพราะมันจะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพมากพอ ไม่ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน รวมถึงยังต้องสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติที่จับตาการเลือกตั้งใหม่ของไทยอยู่

"วันนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่น่าไว้วางใจ ทั้งในเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน และล่าสุดกับปัญหาที่เกิดขึ้นของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าธนาคารล้มอีกเป็นโดมิโน ก็จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยด้วย" นายเกรียงไกรกล่าว

นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า อยากฝากรัฐบาลใหม่ในเรื่องนโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยอย่าเอาราคาพลังงานที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้แก้ไขปัญหาราคาพลังงานได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่ผันผวนหนัก ซึ่งไทยสามารถแก้ปัญหาและดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยใช้เม็ดเงินกว่า 4.2 แสนล้านบาท ดูแลทั้งค่าไฟฟ้า, ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี), ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) และราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นการดูแลพลังงานให้สมดุลทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงพลังงาน, ด้านราคาพลังงานที่เป็นธรรม และด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด

"และเชื่อว่าหากไทยยังคงเดินหน้านโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนต่อไป แม้จะเกิดวิกฤตพลังงานในอนาคต ไทยก็จะผ่านพ้นได้แน่นอน" นายพิสุทธิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ 20 มี.ค.ว่า ตลาดหุ้นไทยยังผันผวน ยังมีการปรับตัวลงตามตลาดเอเชียและตลาดหุ้นยุโรปที่เปิดมาปรับตัวลง กังวลฐานะการเงินแบงก์ทั่วโลกกดดันราคาหุ้นร่วง โดยเฉพาะประเด็นการรับผลขาดทุนจากการถือตราสารหนี้ พรุ่งนี้คาดว่าตลาดยังจะผันผวน แต่มองว่าเป็นภาพระยะสั้น คาดประชุมเฟดสัปดาห์นี้น่าจะตอบรับผลเชิงบวก รวมทั้งความเสี่ยงต่างๆ และปัญหาของแบงก์น่าจะเอาอยู่

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกเรื่องยุบสภา ทำให้จากที่ดัชนีลงไปลึกถึง 20 จุดหลังจากประกาศยุบสภา จึงเด้งขึ้นมาลดช่วงลบไปได้บ้าง ทั้งนี้ส่งผลให้ตลาดฯ ปิดที่ 1,555.45 จุด ปรับลง 8.22 จุด มูลค่าซื้อขาย 62,838 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง