กกต.ไม่แก้แบ่งเขต! ทุบโต๊ะยึดตามกฎหมายพร้อมแจง‘ศาลปกครอง’

กกต.แจงปมแบ่งเขตเลือกตั้ง ยึดข้อกฎหมาย ขอนักการเมืองอย่ามองแค่บางเขต ไม่หวั่นถูกยื่นศาลปกครอง แต่ก่อนมีคำสั่งขอโอกาสชี้แจง ด้าน “รทสช.” เคลียร์ข้อหาทำนิ่งเพราะได้ประโยชน์ “ธนกร” ซัดตรรกะแย่ เมิน “สมชัย” ร้องยุบพรรค กรณี “บิ๊กตู่-พีระพันธุ์” ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อพรรค

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปกรณ์ มหรรณพ กกต. แถลงข่าวชี้แจงข้อท้วงติงจากพรรคการเมืองถึงกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า วันนี้ กกต.ได้มีการประชุมด่วน เรื่องดังกล่าว เราพร้อมให้ข้อมูลและเหตุผล ยืนยันว่า ผอ.กกต.กทม.และทีมงาน รวมทั้งส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตอย่างสุดความสามารถ และได้ใช้เวลาในการพิจารณาอย่างเหมาะสม โดยเรื่องที่มีข้อท้วงติงของนักการเมือง บางครั้งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นายปกรณ์กล่าวว่า การแบ่งเขตครั้งนี้ กกต.กทม.ยึดหลักตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายในมาตรา 27 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระบุว่าให้แบ่งเขตแต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (5) บัญญัติว่า จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้แต่ละเขตติดต่อกัน และต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน กฎหมายบัญญัติให้เราปฏิบัติ

เขาระบุว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือ กทม.ไม่สามารถกำหนดเขตปกครองเดียวให้เป็นเขตเลือกตั้งได้ เพราะค่าเฉลี่ยของประชากรในหนึ่งเขตเลือกตั้งมีประมาณ 160,000 คน อย่างเช่น เขตปกครองในเขตคลองสามวา มีประมาณ 200,000 คน, เขตบางเขน เขตประเวศ เขตลาดกระบัง มีเขตละ 180,000 คน,  เขตสายไหมกว่า 200,000 คน, เขตหนองจอก เขตบางขุนเทียน มีเขตละกว่า 180,000 คน, เขตบางแค 190,000 คน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 8 เขตนี้ไม่สามารถแบ่งเป็นเขตเดียวของการเลือกตั้งได้ เราจึงได้พิจารณาตามกฎหมายในมาตรา 21 (2) ที่กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่สามารถทำตาม (1) ได้ เพราะราษฎรในแต่ละเขตไม่ใกล้เคียงกัน จึงให้แบ่งเขตตามสภาพของชุมชนที่มีราษฎรติดต่อกันประจำ ในลักษณะเป็นเขตชุมชนเดียวกัน โดยจะต้องให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด

นายปกรณ์กล่าวอีกว่า กรณีตามที่เป็นข่าวที่ยกตัวอย่างเขต 8 และ 9 ว่าไม่มีเขตหลัก ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีเขตหลัก ซึ่งเขต 8 และ 9 มองแล้วมีเขตหลักและจำเป็นต้องเอาแขวงที่ใกล้เคียงมารวมกันเพื่อให้จำนวนประชากรมีจำนวนใกล้เคียงกันมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เราได้ปฏิบัติตามมาตรา 27(2) อย่างเคร่งครัด ทุกเขตจะเป็นลักษณะชุมชนเดียวกัน จำนวนราษฎรจะไม่เกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่ง กกต.ได้ออกหลักเกณฑ์ระเบียบที่ว่าจังหวัดแบ่งเขตโดยค่าเฉลี่ยประชากรในจังหวัดเป็นเกณฑ์ แต่ละเขตไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยประชากร หรือในกรุงเทพมหานครแต่ละเขตไม่ควรเกิน 16,000 คน

“ขอให้นักการเมืองโดยเฉพาะใน กทม.คำนึงถึงทั้ง 33 เขต เพราะมันเชื่อมโยงกันหมด อย่าพิจารณาเฉพาะบางเขต เพราะถ้าพิจารณาเฉพาะเขต จะไม่สามารถทำงานในภาพรวมได้เลย และตามที่มีข่าวว่ามีการยื่นร้องต่อศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมาย แต่ขอร้องต่อศาลปกครองว่าก่อนที่ท่านจะมีคำสั่งอย่างอื่นอย่างใด ทาง กกต.พร้อมที่จะชี้แจงให้ข้อมูล และผมยินดีจะไปชี้แจงด้วยตนเอง” นายปกรณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้พิจารณาข้อมูลของพรรคชาติพัฒนากล้าไปแล้วหรือไม่ นายปกรณ์ตอบว่า ทุกอย่างเราได้พิจารณาไปแล้ว แต่เมื่อมีข้อท้วงติงของพรรคการเมือง เราพร้อมที่จะตรวจสอบอีกครั้ง

มีรายงานจาก กกต.แจ้งว่า หลัง กกต.ประชุมด่วนแล้ว ต่างเห็นว่าการแบ่งเขตทั้ง 400 เขตเลือกตั้งที่ได้มีมติไปได้ยึดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยเฉพาะแต่ละเขตต้องติดต่อกัน และผลต่างของจำนวนราษฎรแต่ละเขตไม่เกิน 10% ดังนั้นจึงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไร และพร้อมยืนยันข้อมูลดังกล่าวต่อศาลปกครอง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงเรื่องการแบ่งเขตใหม่ของ กกต.ว่า มีผู้สมัครของพรรคได้รับผลกระทบบ้าง ได้ให้กำลังใจ แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการวางตัวผู้สมัคร

เมื่อถามว่า ได้รับสัญญาณเพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการยุบสภาหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดชัดแล้วในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า น่าจะเป็น ครม.นัดสุดท้าย ดังนั้น เชื่อว่าการยุบสภาก็แคบลงในขณะนี้ เหลือไม่กี่วัน ซึ่งจะเป็นวันไหนพรรคภูมิใจไทยมีความพร้อม

นายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวยอมรับว่า บางเขตเลือกตั้งมีปัญหา เช่น จ.นครศรีธรรมราช พรรคเคยยื่นคัดค้านรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว แต่ไม่เป็นผล แต่พร้อมยอมรับและไม่มีปัญหา เพราะทางการเมืองทุกพรรคต้องมีความพร้อม เขตเลือกตั้งออกมาแบบไหนแก้ไขไม่ได้ ต้องทำตามกติกา รวมไปถึงอีกหลายเขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ ยืนยัน รทสช.ยอมรับในกติกาพร้อมปฏิบัติตาม

เมื่อถามว่า มีบางพรรคการเมืองออกมาระบุว่า รทสช.ไม่มีความเคลื่อนไหวคัดค้านการแบ่งเขต อาจเป็นเพราะได้ประโยชน์จากการแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าว นายธนกรชี้แจงว่า เป็นตรรกะที่แย่มาก ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายและกติกาเดียวกัน ไม่มีใครที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ถ้าใครที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ไปยื่นที่ กกต. แต่ไม่ควรก้าวล่วงหรือพาดพิงพรรคการเมืองอื่น วอนทำการเมืองต้องสร้างสรรค์ อยากให้เป็นการเมืองสมัยใหม่ ไม่พาดพิงพรรคอื่น

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะแกนนำพรรค รทสช. กล่าวเรื่องเดียวกันว่า เป็นการคาดคะเนไปกันเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.ได้สอบถามความเห็นมาจากหลายส่วนอยู่แล้ว เข้าใจว่าทุกพรรคได้ส่งรายละเอียดไป ดังนั้น ไม่ว่ากฎกติกาออกมาอย่างไร พรรคการเมืองต้องปรับเปลี่ยนในการวางตัวผู้สมัคร ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ แต่ที่สำคัญประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมืองมีความพร้อมสามารถจัดให้มีการออกเสียงขั้นต้นเพื่อเห็นชอบรายชื่อ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ได้ตามกติกาของพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไรก็ดี ขอให้ กกต.ประกาศความชัดเจนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมของพรรค หรือค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

"ผมมองว่าค่าใช้จ่ายเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร ที่จะต้องมีการประชุมสมาชิกพรรคผ่านสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการของพรรคนั้น ควรเป็นค่าดำเนินกิจกรรมของพรรค ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่นำไปคำนวณเป็นค่าหาเสียงเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ค่าหาเสียงที่ กกต.กำหนดให้พรรคการเมือง จำนวน 44 ล้านบาทนั้นไม่พอ" นายนิกร กล่าว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย และอดีต กกต. กล่าวว่า ภาพรวมมองว่า กกต.ได้ทำตามกฎหมาย ซึ่งในการทำตามกฎหมายนี้ จะมีทั้งคนที่ถูกใจและไม่ถูกใจ ส่วนพรรคการเมืองที่ไม่ถูกใจนั้น เข้าใจว่าอาจจะเป็นพรรคที่ทำงานในพื้นที่มาโดยตลอด เคยไปเดินสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนแล้ว แต่วันนี้พอเปลี่ยนเขตพื้นที่ย่อมได้รับผลกระทบ และเรื่องนี้ตนไม่คิดว่าพรรคการเมืองจะไปยื่นศาลปกครองได้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่ตนแนะนำว่าถ้ามองว่ากกต.แบ่งเขตไม่เป็นธรรม และมีหลักฐานว่า กกต.ทำงานภายใต้การสั่งการของพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อให้การแบ่งเขตเอื้อประโยชน์นั้น ให้ยื่นฟ้อง กกต.ตามมาตรา 157

วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายสมชัยยังได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบกรณีการลงพื้นที่ตรวจราชการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเอื้อประโยชน์ทางการเมือง

ขณะที่อีกด้าน นายธนกรออกมาตอบโต้เรื่องนี้ว่า พรรคไม่ได้ทำผิดอะไร ทุกอย่างทำไปตามกฎหมายและกติกา

เมื่อวันศุกร์ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณียุติคำร้องยุบพรรค 61 เรื่อง เนื่องจากไม่มีมูลว่า การพิจารณาการยุบพรรคของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร  เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ถือเป็นเรื่องของกฎหมายพูด เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย ไม่ใช่นายทะเบียนคิดเอาเอง

นายแสวงระบุว่า หลายคำร้องมีการกระทำตามที่ร้องเกิดขึ้นจริง แต่การกระทำนั้นไม่ใช่เหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ก็จะไม่รับไว้พิจารณา หรือสั่งยุติเรื่อง แต่ถ้าพิจารณาแล้วการกระทำตามคำร้องนั้นอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ จะรับไว้พิจารณาว่าการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือถึงขนาดให้ต้องยุบพรรคหรือไม่ แล้วแต่กรณี แต่ที่ผ่านมาพบว่าเป็นคำร้องที่ไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเป็นส่วนมาก

"แต่อยากฝากว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องคำนึงถึงมาตรา 101 ที่กำหนดให้ความคุ้มครองพรรคการเมืองด้วยเหมือนกันคือ ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อกกต. หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นของพรรคการเมือง ต้องได้รับโทษเป็น 2 เท่า และให้ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น" นายแสวงกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ