สศอ.ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ กระทบทางอ้อมอุตสาหกรรมไทย ทั้งพลาสติก ยางรถ เหล็กกล้า จับตาราคาสินค้าเกษตรแพงต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการปรับตัวหาประเทศคู่ค้าใหม่ พร้อมขยายช่องทางการตลาด
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยเพียงเล็กน้อย สะท้อนจากมูลค่าการค้ารวม (การส่งออกและนำเข้า) ของไทยกับรัสเซีย-ยูเครน ที่มีสัดส่วนประมาณ 0.5% เมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ในตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้างทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น และทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก อีกทั้งความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนยังชะลอ
โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานต่อต้นทุนรวมในการผลิตสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก 30.5%, เหล็กและเหล็กกล้า 20.0%, ผลิตภัณฑ์พลาสติก 10.48%, ยางรถยนต์ 7.37% และเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 5.61%
สำหรับภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี น้ำมัน และปุ๋ยเคมี โดยรัสเซียส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดในโลก ประมาณ 50 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี 2565 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย อยู่ที่ 10,141.59 ล้านบาท คิดเป็น 22.41% ของการนำเข้าจากรัสเซียทั้งหมด ทั้งนี้ หากสงครามยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการปรับราคาปุ๋ยเคมีและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของไทย ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม คือ บราซิลเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ส่งออกถั่วเหลืองอันดับ 1 ของโลก และส่งออกข้าวโพดเป็นอันดับ 2 ของโลก หากราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพด ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นไทยจึงได้รับผลกระทบด้วย จากปี 2565 ไทยนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิล 76% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 53,954 ล้านบาท ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ และสะท้อนไปสู่ราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
“สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจยังคงไม่มีข้อสรุปในเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์เพื่อหาแนวทางปรับตัว ได้แก่ การแสวงหาหุ้นส่วนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีลดต้นทุนร่วมกัน (Cost Sharing) เช่น การทำ MOU เพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้าที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยหาประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน เพื่อลดการพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ พร้อมขยายช่องทางการตลาด โดยเฉพาะในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง และการขยายช่องทางการตลาดเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แอปพลิเคชันต่างๆ รวมทั้งสื่อดิจิทัล ที่มีส่วนช่วยให้โปรโมตสินค้าได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง” นางวรวรรณระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.