"อรรถการ-รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา" ส่งบันทึก อธ.ศาลฯ แจงยิบ "มานะพงษ์" ขอหมายจับ "ส.ว.อุปกิต" ไม่เป็นไปตามระเบียบ สตช. ที่ต้องขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน การอนุมัติหมายจับของผู้พิพากษาก็ไม่เป็นไปตามข้อบังคับประธานศาลฎีกา ที่ต้องปรึกษารองอธิบดี-อธิบดี ด้วย โฆษกศาลยุติธรรมแจงต้องให้ กก.ตรวจสอบภายใน 30 วัน ก่อนส่งประธานศาลฎีกา ผบ.ตร.โยนจเรตำรวจเรียก พล.ต.อ."ส." มาชี้แจง
วันที่ 14 มีนาคม มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้เเจงการเพิกถอนหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรุปใจความว่า เดิมเมื่อวันที่ 9 ก.ย. พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มาดำเนินการขอหมายจับบุคคล 9 คน ในความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามที่ได้สมคบกันนั้น ฐานสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดฯ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ และประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งต่อมาในเบื้องต้นจับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คน คือ 1.นายทุน มิน ลัต (Mr. Tun Min Latt) สัญชาติเมียนมา 2.นายดีน ยัง จุลธุระ 3.น.ส.น้ำหอม เนตรตระกูล 4.นาง ปิยะดา คำต๊ะ 5.บริษัท อัลลัวร์กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด โดยนายทุน มิน ลัต
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ต.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. พ.ต.ท.มานะพงษ์ ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับ ส.ว.คนดังในข้อหาเช่นเดียวกับการขอหมายจับครั้งแรก ทั้งเพิ่มเติมให้ดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน สมคบโดยตกลงตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินฯ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ
ต่อมาเมื่อผู้พิพากษาศาลอาญาที่ทำหน้าที่พิจารณาออกหมาย ค้นหมายจับประจำวันดังกล่าวได้ทำการพิจารณาแล้วออกหมายจับนายอุปกิตให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ไปดำเนินการแล้ว เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมชำนาญงานคนดังกล่าวได้โทรศัพท์รายงานเลขานุการศาลอาญาอีกครั้ง และแจ้งว่าการออกหมายจับดังกล่าวน่าจะไม่ได้มีการปรึกษาผู้บริหารศาลอาญาก่อนออกหมายจับ เลขานุการศาลฯ จึงได้รายงานแก่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และมาสอบถามข้าพเจ้าในฐานะรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 1 ว่ามีเหตุการณ์ที่มีการออกหมายจับ ส.ว.โดยยังมิได้มีการปรึกษาท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา (ที่เพิ่งมารับตำแหน่งเป็นวันแรก) ก่อน
ซึ่งเห็นว่า การออกหมายจับดังกล่าวยังเป็นการมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา ฉบับที่ 5 พ.ศ.2565 เนื่องจากการร้องขอให้ออกหมายจับ ผู้ร้องขอต้องเสนอพยานหลักฐานตามสมควรว่าผู้จะถูกจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่า นั่นจะหลบหนี ไปยุ่งกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น
การปรึกษาคดีนอกจากคดีที่กำหนดไว้แล้ว ให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีพิเศษ ปรึกษาอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาในคดี ที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้เสียหาย เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นักการเมืองข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฯ ซึ่งเอกสารประกอบคำร้องขอหมายจับในคดีนี้ ผู้บังคับบัญชาของผู้ยื่นคำร้องขอยังไม่มีการเกษียนสั่งในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
การที่จะออกหมายจับวุฒิสมาชิก ยังมิได้มีการดำเนินการปรึกษารองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อนมีคำสั่งแต่อย่างใด ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ คำแนะนำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาฯ ระเบียบศาลอาญาฯ และคำสั่งศาลอาญาที่110/2565 ดังกล่าวข้างต้นด้วย ท่านอธิบดีผู้พิพากษาฯ และข้าพเจ้าจึงมอบหมายให้เลขานุการศาลอาญาแจ้งเจ้าหน้าที่งานหมายค้นหมายจับ ประสาน พ.ต.ท.มานะพงษ์ นำหมายจับดังกล่าวกลับมาที่ศาลอาญาก่อนเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
ข้าพเจ้าได้สอบถามจากผู้กำกับการสืบสวน 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องขอให้ออกหมายจับแล้ว ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย จึงได้โทรศัพท์สอบถาม พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ขณะนั้น เห็นว่าการออกหมายจับ ส.ว. ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของสถาบันหลักน่าที่จะต้องขอออกหมายเรียกก่อน ไม่ควรขอออกหมายจับทันที ได้โทรศัพท์สอบถาม พล.ต.ต.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวควรจะขอออกหมายเรียกก่อนเช่นกัน และมีระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย หากเป็นช่วงที่อยู่ในสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา
ข้าพเจ้าได้สอบถามผู้พิพากษาที่ทำการออกหมายจับเรื่องดังกล่าวว่า หากท่านพบโดยชัดแจ้งว่าผู้ที่ถูกร้องขอให้ออกหมายจับเป็นบุคคลสำคัญเช่นวุฒิสมาชิกเช่นนี้จะปฏิบัติอย่างไร ท่านผู้พิพากษาผู้ออกหมายจับแจ้งว่าหากตนพบเช่นนั้น ก็จะต้องนำเรื่องมาปรึกษารองอธิบดีและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อนอย่างแน่นอน
ในการประชุมนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า หากให้มีการนำหมายจับที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวไปดำเนินการจับคนซึ่งเป็น ส.ว. และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของวุฒิสภา สตช. และของศาลยุติธรรมแล้ว ย่อมจะต้องมีผลเสียหายกลับมาสู่ศาลยุติธรรมอย่างแน่นอน วุฒิสภาต้องทำการตรวจสอบเรื่องนี้ และก็จะพบว่าความบกพร่องส่วนหนึ่งก็มาจากศาลยุติธรรม ซึ่งไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนั้นได้ จึงสมควรที่ทำการแก้ไขให้ถูกต้องโดยการเพิกถอนหมายจับ จึงให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนทำการเพิกถอนหมายจับเพื่อให้ออกหมายเรียกก่อนภายใน 15 วัน
"ขอยืนยันว่า ข้าพเจ้า ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่มีผู้ใดรู้จัก หรือทำการเพื่อช่วยเหลือบุคคลซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกคนดังกล่าวแต่อย่างใด การประชุมปรึกษาหารือและมีคำสั่งเพิกถอนหมายจับดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับและคำเเนะนำทางกฎหมายทั้งสิ้น " นายอรรถการระบุ
ด้านนายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากที่นายอรรถการส่งเอกสารชี้แจงมา ทางประธานศาลฎีกามีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสดับตรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมด รวบรวมข้อมูลทั้งหมด แล้วทำรายงานส่งประธานศาลฎีกาให้รับทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งหลังจากนั้นทางประธานศาลฎีกาจะตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นมีมูลหรือไม่ หากไม่มีมูลความผิดทางกฎหมายหรือทางวินัย ก็จะสั่งยุติ แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูล ก็จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะมีใครมาชี้แจงเพิ่มหรือไม่ ตนยังไม่ได้รับรายงาน แต่การจะขอความร่วมมือให้ใครมาชี้แจงนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจคณะกรรมการทั้งสิ้น
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่าคดีดังกล่าวมีการดำเนินการทางคดีโดยไม่มีการออกหมายเรียกหรือหมายจับนานจนเกินไป จนอาจทำให้มีผลต่อรูปคดี ว่า ไม่สามารถไปวิพากษ์วิจารณ์หรือก้าวล่วงได้ว่าการทำงานของอัยการ และตำรวจที่ทำคดีช้าเกินไปหรือไม่ ซึ่้งได้สั่งการให้ชุดจเรตำรวจและคณะกรรมการตรวจสอบดูในรายละเอียดเรื่องนี้แล้ว
สำหรับกรณีที่ ส.ส.รังสิมันต์กล่าวถึงตำรวจยศระดับสูงนอกราชการ ซึ่งมีชื่อขึ้นต้นด้วย ส. เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดข้อมูลและชื่อของ ส.ว.คนดังกล่าวออกจากสำนวนคดีนี้ ผบ.ตร. กล่าวว่า รายละเอียดดังกล่าวได้ให้คณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดด้วยว่าตำรวจนายนี้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนจะเรียกตำรวจระดับสูงเข้ามาให้ข้อมูลกับทางจเรตำรวจหรือไม่ อยู่ระหว่างให้จเรตำรวจดำเนินการ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ